การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 ม.ค. 68 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะมีการขยายวัตุประสงค์และการดำเนินการของการท่อเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)อย่างมาก
ร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว จะมีการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของกทท. ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ปรับปรุงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการ กทท. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับกิจการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งผู้บริหารองค์กรจากผู้อำนวยการเป็นผู้ว่าการ กทท.
ร่างพระราชบัญญัติมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม (ร่างมาตรา 3)
คำว่า “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจอื่น (เดิม “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของการท่าเรือ แห่งประเทศไทย)
ยกเลิกคำว่า “ผู้อำนวยการ” ในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และแก้ไขเป็นคำว่า “ผู้ว่าการ” ทุกแห่งเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง
แก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 7)
กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (เดิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) เนื่องจากการดำเนินกิจการของ กทท. อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ส่วนกระทรวงการคลังได้เปลี่ยนไปกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวมผ่านทางกลไกสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกทท.
ขยายวัตถุประสงค์ (ร่างมาตรา 8 (3) จากเดิม “ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ” เป็นให้ “ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการประกอบกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แก่ กทท.” (เป็นการปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับบริบทและตรงตามอำนาจของ กทท. เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจของ กทท. ซึ่งจะทำให้สามารถประกอบกิจการท่าเรือ ธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ อู่เรือ และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นส่วนประกอบกับท่าเรือ รองรับการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. ได้)
ให้ กทท. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของ กทท.
แก้ไขเพิ่มเติมให้รวมถึงอำนาจกระทำกิจการดังต่อไปนี้ (ร่างมาตรา 9) เช่น
- เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีทรัพยสิทธิ หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้
- กำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ (เดิม ให้ กทท. มีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และออกระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าภาระดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการฯ จะเป็นผู้มีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาระดังกล่าวภายในอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 29 (5) แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือฯ มีใช่ กทท.)
- กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้ง การจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ (เพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงการจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เดิม กำหนดเพียงการจัดระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย การใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ)
- เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถออกพันธบัตรหรือตราสารเพื่อใช้ในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของ กทท. ได้ เนื่องจากเห็นว่าการทำกิจการในบางกรณีอาจมิใช่การลงทุน (ได้ปรับถ้อยคำเพิ่มเติม จาก เดิม ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใด เพื่อการลงทุนเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินกิจการของการทำเรือฯ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สามารถรองรับการประกอบธุรกิจตามกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ และรองรับการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community)
- เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งในราชอาณาจักรจะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้ (เพิ่มเติมถ้อยคำ “ทั้งในและนอกราชอาณาจักร” เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้ไม่ต้องมีการตีความ จากเดิม ให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด)
- เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (เดิม กทท. สามารถเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเพิ่มเติมถ้อยคำ “ทั้งในและนอกราชอาณาจักร” เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้ไม่ต้องมีการตีความ)
- เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถเช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ มีการกำหนด กลยุทธ์ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ที่ต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ (เดิม ไม่กำหนด)
- เพิ่มเติมให้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ของ กทท. ให้ กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการ โดยแสดงถึงเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ร่างมาตรา 27)
- เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถกระทำการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กทท. ที่อาจมีเพิ่มเติมได้ในอนาคต (เดิม ไม่ได้กำหนด)
แก้ไขเพิ่มเติมให้การกำหนดเงินสำรอง
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการดำเนินการ และให้การจะนำเงินสำรองดังกล่าวออกมาใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 10) (เป็นการกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการบัญชี และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2548 ในการตั้งสำรองและเงินสำรองที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยคณะกรรมการการท่าเรือฯ เช่น เงินสำรองเพื่อขยายงานและลงทุน)
คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 12-มาตรา 15)
- ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 6 คนแต่ไม่เกิน 9 คน ให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่น (เดิม คุณสมบัติของคณะกรรมอย่างน้อยจะต้องเป็นผู้มีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการท่าเรือ 1 คน และเกี่ยวกับการเศรษฐกิจหรือการคลัง 1 คน)
- แก้ไขเพิ่มเติมให้ประธานกรรมการและกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการคลัง การบริหาร วิศวกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกฎหมายด้วย ตามแนวทางของกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) (เดิม ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการท่าเรือ การขนส่ง การเดินเรือ พาณิชยกรรม การเศรษฐกิจ หรือการเงิน)
- แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการและกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามแนวทางของรัฐวิสาหกิจอื่น โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ยังต้องไม่เป็นหนักงานหรือถูกจ้างของ กทท. ตัวย
ปรับปรุงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการ และกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี (เดิม กำหนดไว้ 4 ปี)
แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ
มีหน้าที่และอำนาจออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และออกข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของการท่าเรือแห่งประเทศ (ร่างมาตรา 17) (เดิม ไม่ได้กำหนด)
ผู้ว่าการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 19-มาตรา 20)
- กำหนดให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ว่าการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และให้ผู้ว่าการได้รับเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (เดิม ไม่ได้กำหนด)
- กำหนดให้ผู้ว่าการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน (เดิม ไม่ได้กำหนด)
- กำหนดให้เมื่อผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานในระดับรองผู้ว่าการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการโดยในระหว่างที่คณะกรรมการยังไม่ได้แต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทน ให้รองผู้ว่าการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการไปพลางก่อน (เดิม ไม่ได้กำหนด)
- แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ว่าการมีอำนาจในการบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้างของ กทท. เว้นแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน (ร่างมาตรา 23) (เดิม เป็นอำนาจของคณะกรรมการ)
แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ
ที่ กทท. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ในกรณีดังต่อไปนี้ (ร่างมาตรา 26) เช่น
- การกู้หรือยืมเงินเป็นจำนวนเกินคราวละ 100 ล้านบาท
- การออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใด
- การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ราคาเกิน 10 ล้านบาท
- การเช่าหรือให้สิทธิใด ๆ ไม่อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสัญญาเกิน 1,000 ล้านบาท หรือที่มีกำหนดเวลาการให้เช่าหรือให้สิทธิใด ๆ เกิน 10 ปีและมีมูลค่าสัญญาเกิน 300 ล้านบาท เว้นแต่การให้เช่าหรือให้สิทธินั้นเป็นการให้แก่หน่วยงานของรัฐ
กำหนดบทเฉพาะกาล
เช่น ให้กฎหมายเดิมยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะมีกฎที่ออกตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับ (ร่างมาตรา 33) และให้คณะกรรมการ กทท. ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ กทท. ตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กทท. ตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม (ร่างมาตรา 34)
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาด้วยแล้ว จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างข้อบังคับ จำนวน 3 ฉบับ และร่างระเบียบ จำนวน 3 ฉบับ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ส่องร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร เปิด”บ่อนเสรี”