ThaiPBS Logo

งบปี’69 คาดเศรษฐกิจโตจำกัด ตั้งงบกลางมากสุด 6.32 แสนล้าน

27 พ.ค. 256812:57 น.
งบปี’69 คาดเศรษฐกิจโตจำกัด ตั้งงบกลางมากสุด 6.32 แสนล้าน
  • งบประมาณปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากปีก่อน ขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท  คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.3 – 3.3%
  • มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตเศรษฐกิจ
สำรวจงบประมาณรายจ่ายปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท กู้เงิน 8.6 แสนล้านบาท ประเมินเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.3-3.3% แต่ยังถูกกดดันจากสงครามการค้า ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และโลกร้อน รัฐบาลยังคงตั้งงบกลางมากสุด 6.32 แสนล้านบาท คิดเป็น 24.8%

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 (พ.ร.บ.งบประมาณปี 69) ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังจะเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28-31 พ.ค.

รัฐบาลอ้างอิงจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 จะขยายตัวในช่วง 2.3 – 3.3% (ไม่รวมผลจากการดำเนินมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการลงทุนภาครัฐ การบริโภคในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว

แต่เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนและธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง และมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และความผันผวนในภาคเกษตร ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์

นอกจากนี้ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 69 จะขยายตัวในช่วง 2.3–3.3% โดยมีปัจจัยจากการขยายตัวของอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ในขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง

งบประมาณปี 69

โครงสร้างงบประมาณปี 69

ภาพรวมงบประมาณปี 69 รัฐบาลกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,780,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 68 จำนวน 27,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.7%  และงบประมาณนี้คิดเป็นสัดส่วน 18.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของขนาดเศรษฐกิจประเทศ) โดยแหล่งที่มาของงบประมาณ ได้แก่ รายได้ 2,920,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% และเงินกู้ 860,000 ล้านบาท ลดลง 0.7%

โครงสร้างงบประมาณปี 69 แบ่งออกเป็น  4 ประเภทหลัก

รายจ่ายประจำ ได้รับจัดสรรจำนวน 2,652,301.3 ล้านบาท ลดลงจากปี 68 จำนวน 28,135.3 ล้านบาท หรือลดลง 1.0% และคิดเป็นสัดส่วน 70.2% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ได้รับจัดสรรจำนวน 123,541.1 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด (งบประมาณปี 68 ไม่มีร่ายจ่ายในส่วนนี้)

รายจ่ายลงทุน ได้รับจัดสรรจำนวน 864,077.2 ล้านบาท ลดลงจากปี 68 จำนวน 68,284.9 ล้านบาท หรือลดลง 7.3% และคิดเป็นสัดส่วน 22.9% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ได้รับจัดสรรจำนวน 151,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 68 จำนวน 1,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.7% และคิดเป็นสัดส่วน 4.0% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้  10,519.6 ล้านบาท เป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่ใช้ในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

งบประมาณแบ่งตามกระทรวง งบกลางมากสุด

งบประมาณปี 69

  1. งบกลาง 632,968.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน 209,032.9 ล้านบาท หรือลดลง 24.8%
  2. สำนักนายกรัฐมนตรี 35,116.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.9% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน 630.7 ล้านบาท หรือลดลง 1.8%
  3. กระทรวงกลาโหม 4,713.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.4% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,713.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.4%
  4. กระทรวงการคลัง 397,856.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.5% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,197 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.1%
  5. กระทรวงการต่างประเทศ 9,200.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 230.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.6%
  6. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,641.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 246.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.9%
  7. กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ 26,890.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.7% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 64.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2%
  8. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 140,300.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,058.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.1%
  9. กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ 130,111 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.4% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,483.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.1%
  10. กระทรวงคมนาคม 200,756.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,403.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.8%
  11. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 10,223 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 618.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.4%
  12. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม 38,657.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.0% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,441.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.8%
  13. กระทรวงพลังงาน 2,888.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.4%
  14. กระทรวงพาณิชย์ 7,584.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 239 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3%
  15. กระทรวงมหาดไทย 301,265 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.0% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,852.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.3%
  16. กระทรวงยุติธรรม 29,599.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 612.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.1%
  17. กระทรวงเเรงงาน 68,069.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 0.03%
  18. กระทรวงวัฒนธรรม 9,680.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 856.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9.7%
  19. กระทรวงศึกษาธิการ 355,108.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14,333.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4.2%
  20. กระทรวงสาธารณสุข 177,639.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.7% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,673.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3%
  21. กระทรวงอุตสาหกรรม 5,505.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 161.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.0%

ทั้งนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่ไม่ได้สังกัดในกระทรวง ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรวมกันทั้งหมดราว 990,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 20%

 

รายงานฉบับเต็มอ่านต่อได้ที่ : งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569

อ่านเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม 

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการคลัง (Fiscal Policy)

นโยบายการคลัง เป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นหรือชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยใช้เครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาล คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล (รายจ่าย) และการเก็บภาษี (รายได้) รวมถึงการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: