ผมได้รับคำถามจากหลายคน รวมถึงนักศึกษาที่สอนอยู่ว่า เหตุการณ์เช่นนี้มัน “Amazing” หรือไม่ อย่างไร และมีนัยมากน้อยเพียงไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ประเด็นแรก คงต้องบอกว่าคำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่พูดถึงนั้น มีระยะเวลาค่อนข้างสั้น เพียงตั้งแต่ ไตรมาส 1 ปี 2537 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2568 จริงอยู่ที่ GDPรายไตรมาสของไทยระหว่างไตรมาส 3 ปี 2567 ถึงไตรมาส 1 ปี 2568 เป็น “ช่วงเวลา” ที่ GDP รายไตรมาสของไทยโตสูงกว่า 3% ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ไตรมาส
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา “ประวัติศาสตร์” ที่ถูกอ้างถึงนั้น เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงขาลงหรือไม่ได้มีความร้อนแรงมากนัก สะท้อนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เทียบไม่ได้เลยกับช่วงปี 2532-2534 (รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ที่เศรษฐกิจไทยโตทั้งปีสูงกว่า 10% ยังไม่นับรวมช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ที่เศรษฐกิจทั้งปีโต 5-7%
ดังนั้น หากพิจารณาช่วงเวลา “ประวัติศาสตร์” ให้ยาวขึ้นอีก จะพบว่าการที่ GDP รายไตรมาสโตเกิน 3% แม้จะเป็นเรื่องดี แต่คงไม่ได้เป็นเรื่อง “พิเศษ” จนน่าตระหนกตกใจ
จีดีพีของไทยรายไตรมาสที่มีอัตราการขยายตัวเกิน 3%
ประเด็นสอง ตัวเลขเติบโต 3% นั้น เป็นการเติบโตแบบ year-on-year หมายถึงมูลค่าที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาส 1 ปี 2568(2.99 ล้านล้านบาท) สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาส 1 ปี 2567 (2.90 ล้านล้านบาท) ประมาณ 3% ซึ่งหากทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ ไม่มีวิกฤตทางเศรษฐกิจ (เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ น้ำท่วมใหญ่ และการระบาดของโรคโควิด-19) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ (year-on-year GDP growth) มักจะมีตัวเลขเป็นบวกอยู่แล้ว
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ระหว่าง ไตรมาส 1 ปี 2537 ถึงไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวนครั้งที่ GDP รายไตรมาสของไทยโตมากกว่า 3% จึงมีมากถึง 75 ไตรมาส จากทั้งหมด 125 ไตรมาส แต่หากเรามี“มาตรฐาน” ของตัวชี้วัดที่สูงขึ้นอีกนิด เป็น การเติบโตของ GDP รายไตรมาสแบบ year-on-year ที่ 5% จะพบว่า มีเพียง 37 ไตรมาสที่โตเกิน 5% และมีเพียง 2 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 1 ปี 2561 และไตรมาส 2 ปี 2564) และเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับผมนั้น แม้ตัวเลขพวกนี้จะมี “ความหมาย” ต่อความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล แต่เราในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ถูกสอนไม่ให้ “เชื่อ” ในตัวเลขมากจนเกินควร กล่าวคือ GDP ไม่ควรถูกให้ความสำคัญมากเสียจนยกเป็นเป้าหมาย (Target) สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะมันเป็นแค่ “ตัวชี้วัด” ที่สะท้อนการทำงานของระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายใช้ GDPเพื่อมอนิเตอร์ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจใดบ้างที่ขยายตัว หดตัวหรือใช้ดูว่าการดำเนินนโยบายนั้นตรงจุดมาน้อยเพียงใด
สุดท้ายแล้ว ultimate goal ของ GDP ก็เพื่อเป็นแผนที่นำทางให้เรารู้ว่า “คน” ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น ๆ จะมี “ชีวิตความเป็นอยู่” (Living standard) เป็นอย่างไร ปัจจัยที่กำหนดชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ได้มีแค่รายได้ ไม่ได้มีแค่การผลิต การใช้ GDP จึงไม่ตอบทุกเรื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ sector ใดจะขยายตัวเยอะ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำงานใน sector นั้น ๆ จะได้ประโยชน์เหมือนกันหมดทุกคน โครงสร้างการผลิตและชนชั้นทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรมและพื้นที่ต่างหากที่เป็นตัวกำหนด นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า GDP เป็นคนละเรื่องกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน
ผมยังจำคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งสมัยที่เรียนวิชาวิจัยที่ Australian National University ได้ มีนักศึกษาคนหนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ตัวชี้วัดอันหนึ่งที่อาจจะไม่ได้วัดสิ่งที่อยากวัดมากนัก อาจารย์ท่านก็บอกว่า “It’s a measure. What the hell GDP is measuring?” ซึ่ง key takeaway ของสิ่งที่อาจารย์พูดก็คือ สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างมันก็คือมาตรวัด มีข้อดีข้อเสีย เรารู้ว่ามันวัดอะไรไม่พอ ต้องรู้ว่ามันไม่ได้วัดอะไรด้วย GDP รายไตรมาสก็เช่นกัน
สิ่งที่ผมกังวลมากกว่าจากการแถลงข่าวของสภาพัฒน์คือภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Engine of growth) ซึ่งทำงานไม่ดีนัก ชะลอตัวและมีสัดส่วนใน GDP ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี สัดส่วนของมูลค่าของผลผลิตที่แท้จริงของภาคการผลิต (Manufacturing) ใน GDP ของไทย ในไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 24.43% ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนดังกล่าวเคยสูงถึง 32% ในไตรมาส 1 ปี 2553 และลดเหลือ 26.38% ในไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโรคโควิด-19
การลดลงอย่างต่อเนื่องของสัดส่วนนี้ ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ภาคการผลิตกำลังอ่อนกำลังลง ในปี 2567 มูลค่าผลผลิตที่แท้จริงของภาคการผลิตอยู่ที่ 2.803 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.816 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งการลดลงของการผลิตทั้งปี เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ 1993 เป็นต้นมา
โดยช่วงเวลาก่อนหน้า “มักสัมพันธ์” กับวิกฤตเศรษฐกิจ นั่นคือช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอเกอร น้ำท่วมปี 2554 และโควิด-19 แต่ในช่วงปี 2565 ถึงปัจจุบันนั้น ไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ ๆ และเราควรคาดหวังที่จะเห็นการเติบโตของภาคการผลิตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญมากกว่าคือเกิดอะไรขึ้นกับกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจจไทยอย่างภาคการผลิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่แทนที่จะขยายตัวเพราะเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจแต่กลับชะลอตัว
การชะลอตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีด้วยกันหลายสาเหตุ ทั้งเรื่อง demand side และ supply side สำหรับฝั่ง Demand side นั้น ความต้องการสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (ไม่ใช่สินค้าจำเป็น) ที่ลดลงและความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในภูมิทัศน์การค้าโลก น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในระดับต่ำและระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงน่าจะเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ลดต่ำลง เรื่องที่น่ากังวลคงหนีไม่พ้นหนี้ครัวเรือน
ข้อมูลจาก IMF เปิดเผยว่า ในปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนใน GDP ของไทยอยู่ที่ 86.88% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย (69.41%) จีน (63.67%) และอินโดนีเซีย (16.3%) และจากการวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า 2 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ผลเสียประการหนึ่งของการมีหนี้ครัวเรือนสูง คือ Debt overhang ซึ่งเป็นกรณีของการมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่
สำหรับประเด็นความไม่แน่นอนนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นการผลิตและการส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก (Global manufacturing value chains) ซึ่งเป็นรูปแบบของเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ (International network of production) ที่การผลิตชิ้นส่วนของสินค้าอุตสาหกรรม (Manufactured goods) 1 ชิ้นถูกกระจายในหลาย ๆ ประเทศ ขึ้นอยู่กับความถนัดและความได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต
สงครามการค้าที่เข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2568 ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากดัชนี Economic Policy Uncertainty Index (EPU) ซึ่งวัดความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และสามารถสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง
ดัชนีดังกล่าวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีนี้เมื่อปี 2540 ความไม่แน่นอนนี้กระทบต่อการตัดสินใจที่ของบริษัทชั้นนำที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องของการขยาย/ชะลอการผลิตในประเทศอื่น ไทยจึงได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลง
สำหรับฝั่ง Supply side นั้น เป็นเรื่องของความสามารถของผู้ผลิตในการขยายกำลังการผลิต ซึ่งมีทั้งปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้มีเฉพาะในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน (ที่มีสัดส่วนที่น้อย โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้น) แต่รวมถึงการนำเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง แต่รวมถึงศักยภาพของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถยกระดับการผลิตหรือเพิ่มผลิตภาพการผลิตได้ อาจเป็นเพราะปริมาณ/คุณภาพของแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการและกฎระเบียบและขั้นตอนทางราชการ (Red tape) ที่ไม่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ การรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนที่อยู่เบื้องหลังการผลิตจึงควรเป็นโจทย์ต้น ๆ ของรัฐบาลเพื่อร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม
แน่นอนว่า การรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดี แต่การรู้ “ความหมาย” เบื้องหลังตัวเลข เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจช่วยให้การกินดีอยู่ดีของประชาชนดีขึ้น แต่ประชาชนอยู่ดีกินดีได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการเติบโตของ GDP รายไตรมาส เกิน 3% เสมอไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
เศรษฐกิจไทยดิ่งไตรมาส 4 “ของแพง คนรายได้ไม่พอ”