ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นภัยคุกคามที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกัน โดยแต่ประเทศต่าง ๆ ก็มีบริบทการรับมือภัยเหล่านี้ที่แตกต่างกัน ตามกำลังและบริบทของประเทศนั้น ๆ
อย่างสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ที่กระทบฝั่ง 18 ประเทศ คร่าชีวิตคนจาก 15 ประเทศ (ไม่รวมนักท่องเที่ยว) สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกเกือบ 630,000 ล้านบาท และกระทบเศรษฐกิจไทยมากกว่า 12,000 ล้านบาท
ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนามาตรการการจัดการภัยพิบัติที่หลากหลายและแตกต่างกันตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และโครงสร้างของแต่ละประเทศ การศึกษาตัวอย่างการเตรียมพร้อมและรับมือภัยพิบัติที่ดีจากทั่วโลกภายใต้กรอบความร่วมมือเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 2015-2030 ซึ่งครอบคลุมทั้งการทำความเข้าใจความเสี่ยง การเสริมสร้างการกำกับดูแล การลงทุน และการเตรียมความพร้อม จะช่วยให้เข้าใจถึงความท้าทายและโอกาสในการสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น
กรอบเซนได หรือ Sendai Framework ซึ่งได้รับการยอมรับตั้งแต่ปี 2558 เป็นกรอบแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRR) ที่ครอบคลุม โดยเน้นไปที่ 4 ด้านหลักเพื่อสร้างอนาคตที่พร้อมรับมือความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ การทำความเข้าใจ การเสริมสร้างการกำกับดูแล การลงทุนลดความเสี่ยง และการเสริมสร้างความพร้อมรับมือและฟื้นฟูจากภัยพิบัติ
Policy Watch ขอพาทุกคนมาสำรวจนโยบายที่สอดคล้องกับ 4 ด้านหลักของกรอบเซนได จากประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ที่ได้รับคำชมว่าเป็นตัวอย่างที่ดีหรือ Best Practice จาก UNDRR
1. นโยบายให้ข้อมูลทำความเข้าใจความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
- ข้อมูลที่เชื่อถือได้: การรวบรวมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงอย่างทั่วถึง
- การสื่อสารระดับท้องถิ่น: การแบ่งปันข้อมูลและข่าวสารกับชุมชนเพื่อเสริมอำนาจให้สามารถดำเนินการร่วมกันได้
- การลดความเสี่ยงเป็นเรื่องของทุกคน: พิจารณาความต้องการของทุกคน เช่นผู้พิการหรือกลุ่มพื้นบ้าน
ตัวอย่างที่ดีจากญี่ปุ่น: ปรับการสื่อสาร เพิ่มความยืดหยุ่น
ญี่ปุ่นประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เนื่องจากการอพยพล่าช้าในช่วงฝนตกหนักปี 2018 และพายุไต้ฝุ่นในปี 2019 แม้จะมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ทันสมัย ปัญหาสำคัญคือชุมชนท้องถิ่นไม่เข้าใจคำแนะนำการปฏิบัติจากทางการ ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามปรับปรุงความชัดเจนของการสื่อสาร
การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบข้อมูลการอพยพเป็น 5 ระดับการเตือนภัยที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้ ยังทบทวนข้อมูลการอพยพและรวมคำแนะนำและคำสั่งการอพยพเป็นคำสั่งเดียว เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังให้เทศบาลสร้าง “แผนการอพยพส่วนบุคคล” สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ
แนวทางการสื่อสารภัยพิบัติของญี่ปุ่นมีความคิดริเริ่ม โดยเน้นข้อความที่ชัดเจนและกระชับ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของแนวทางนี้คือ ภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย การรวมคำแนะนำการอพยพ และการสร้างแผนเฉพาะกลุ่มหรือแตกต่างกันสำหรับกลุ่มเปราะบาง
2. นโยบายกำกับดูแลและจัดการกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
- ความรับผิดชอบร่วมกัน: กระจายความรับผิดชอบด้าน DRR ไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ แบบที่เชื่อมโยงกัน
- การบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ: การรวม DRR เข้ากับนโยบายและแผนการพัฒนาอื่น ๆ
- ความร่วมมือระดับภูมิภาค: ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
ตัวอย่างที่ดีจากประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน: ยืดหยุ่นระดับภูมิภาค ด้วยกลไกตอบสนองระดับภูมิภาค
ภูมิภาคหมู่เกาะแคริบเบียนเผชิญกับความท้าทายจากหลายด้าน ทั้งภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจ และวิกฤตสุขภาพ ความท้าทายเหล่านี้ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการปรับปรุงกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรจะขยายออกไป การประสานงานจะได้รับการปรับปรุง และการครอบคลุมของระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า (Multi Hazard Early Warning System) จะขยายออกไป กลไกการตอบสนองระดับภูมิภาค (Regional Response Mechanism หรือ RRM) ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เพื่อแก้ไขข้อจำกัดด้านความสามารถที่ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กในภูมิภาคแคริบเบียนเผชิญอยู่
RRM เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กในแคริบเบียน รวมถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาล ภาคประชาสังคม และพันธมิตรระหว่างประเทศ
ตั้งแต่ก่อตั้ง RRM มีผลกระทบในทางที่ดีมากต่อการรวมเงินทุน ลดการทับซ้อน และปรับปรุงการประสานงานในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัฐในแคริบเบียนสามารถเจรจาด้วยเสียงที่ดังขึ้นในระดับโลกภายใต้ชื่อ RRM ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิค เข้าถึงการเงิน และจัดเตรียมเสบียงฉุกเฉินได้ดี นี่เป็นหนึ่งในความสำเร็จของ RRM ที่ช่วยลดเวลาตอบสนองและทำให้แน่ใจว่ามีอุปกรณ์พร้อมใช้งานในยามฉุกเฉิน
RRM เพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคแคริบเบียนในการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อภัยพิบัติ ลดความซ้ำซ้อน และทำให้แน่ใจว่าการตอบสนองตรงกับความต้องการแต่ละประเทศแบบมีประสิทธิภาพ
3. นโยบายลงทุนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
- การจัดหาเงินทุนเฉพาะทาง: การจัดตั้งกลไกการเงินเฉพาะสำหรับ DRR ระดับประเทศหรือชุมชน
- ระบบการเงินโลก: การทำให้ DRR เป็นความห่วงใยหลักของสถาบันการเงินระดับโลก โดยต้องเปลี่ยนระบบบริจาคให้เข้าถึงได้มากขึ้น
- การเงินแบบนวัตกรรม: ให้กลไกการประกันภัยจากความเสี่ยงเข้าถึงง่ายมากขึ้น และสำรวจวิธีการใหม่ ๆ ในการระดมทุน
ตัวอย่างที่ดีจากฟิลิปปินส์: ความยืดหยุ่นที่มาจากฐานราก ควบคู่กับงบประมาณ
แม้ผู้เขียนนโยบายจะมองเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ การวางแผน และจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติมากขึ้นให้ระดับท้องถิ่น แต่ก็ยังคงมีความท้าทายสำคัญอยู่ นั่นคือ การขาดทรัพยากรทางการเงินและกฎหมายในพื้นที่เสี่ยงภัยและภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนการมอบหมายอำนาจหน้าที่นั้น ฉะนั้น ภาครัฐไม่เพียงแต่ควรจะมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังต้องแน่ใจว่ารัฐบาลท้องถิ่นนั้นมีทรัพยากรเพียงพอให้ดำเนินการแผนลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
ฟิลิปปินส์ เป็นตัวอย่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการมอบหมายอำนาจการวางแผนและการจัดการลดความเสี่ยงภัยพิบัติให้กับระดับท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ
รัฐบาลท้องถิ่นในฟิลิปปินส์เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักสำหรับโครงการนี้ กรอบและกฎหมายการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRRM) มีโครงสร้าง แผน เงินทุน และสำนักงาน DRRM เฉพาะทางเพื่อสนับสนุนความพยายามด้านนี้โดยเฉพาะ
หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น (LGU) แต่ละแห่งได้รับมอบหมายให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่และสำนักงาน DRRM ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาและดำเนินการโครงการ DRRM ในชุมชนของตนเอง LGU ต้องจัดสรรอย่างน้อย 5% ของรายได้เพื่อสนับสนุนโครงการและมาตรการ DRRM โดย 30% ถูกจัดสรรไว้เป็นกองทุนตอบสนองฉุกเฉินสำหรับโครงการบรรเทาทุกข์และฟื้นฟู
นวัตกรรมหลักคือ ฟิลิปปินส์ได้กำหนดให้มีการจัดสรรเงินทุนที่เพียงพอในระดับท้องถิ่น ซึ่งเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นด้วยทรัพยากรและความรับผิดชอบที่จำเป็น ในการสร้างความยืดหยุ่นและเริ่มลดความเสี่ยงแบบมีประสิทธิภาพ ตามความต้องการของแต่ละชุมชน
4. นโยบายเสริมสร้างความพร้อมรับมือและฟื้นฟูจากภัยพิบัติ
- การฟื้นฟูอย่างยั่งยืน: การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น เพื่อการฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม (Build Back Better)
- การรับมือกับความเสี่ยงใหม่ ๆ : ก้าวหน้าไปพร้อมกับภัยคุกคามใหม่ ๆ
- การขยายระบบเตือนภัยล่วงหน้า: การเตือนภัยที่ทันเวลา แม่นยำ และครอบคลุมภัยที่หลากหลายและรอบด้านขึ้น
โดยการให้ความสำคัญกับ 4 ด้านหลักนี้ กรอบเซนไดมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ ปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิต และสร้างโลกที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
ตัวอย่างที่ดีจากกัมพูชา: ดาวเทียมช่วยให้พร้อมเตือนภัย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่น การใช้ดาวเทียม เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแถมต้นทุนต่ำ ช่วยเพิ่มความครอบคลุมของการเตือนภัยหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากต้นทุนระบบตรวจสอบภาคพื้นดินแบบดั้งเดิมอาจสูงเกินไป
รัฐบาลกัมพูชา ร่วมกับโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ ได้พัฒนาแดชบอร์ด PRISM (Platform for Real-time Information for Security and Management) เพื่อขยายการเข้าถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าและลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติในประเทศ
PRISM เป็นแดชบอร์ดแบบที่ผู้เข้าชมบนเว็บไซต์มีส่วนร่วมได้ โดยผสานรวมข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลการรับรู้ระยะไกล ข้อมูลภาคสนาม และข้อมูลสังคมเศรษฐกิจจากระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อสร้างข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่พร้อมดำเนินการ แดชบอร์ด PRISM ช่วยให้ผู้ที่ต้องตัดสินใจสามารถระบุพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และดินถล่มได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเหล่านี้เสริมด้วยข้อมูลความเปราะบางด้านสุขภาพและความเปราะบางอื่น ๆ เพื่อภาพรวมที่ครอบคลุมขึ้นและเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่ซับซ้อนและรุนแรงจากภัยธรรมชาติหรือภัยคุกคามอื่น ๆ
ข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้ในการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เหล่านั้น ช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินการที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบของภัยพิบัติ นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดใหญ่ ข้อมูลนี้ได้รับการเสริมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย COVID-19 และความเปราะบางด้านสุขภาพ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลในการรับมือกับความเสี่ยงที่ซ้อนทับจากภัยธรรมชาติทางชีวภาพได้ดียิ่งขึ้น
ผ่านการใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ กัมพูชาได้เป็นแบบอย่างในการลดความเสี่ยงภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีดาวเทียมมีประโยชน์ในการเอาชนะข้อจำกัดด้านการเงินและความสามารถในท้องถิ่น
เครื่องมือเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพในการใช้งานในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติและเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต
การเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างระบบการจัดการภัยพิบัติที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างระบบดาวเทียมเข้ากับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังและเตือนภัยที่รวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างประเทศไทยที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน