ThaiPBS Logo

เด็กในคำขวัญ = เด็กในผัน เมื่อระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์

12 ม.ค. 256711:47 น.
เด็กในคำขวัญ = เด็กในผัน เมื่อระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์
  • ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังไม่น่าสร้างเด็กที่ “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”
“มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เป็นคำขวัญวันเด็กปีนี้ ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มอบไว้เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 แต่จะเป็นจริงได้หรือไม่ เมื่อคำขวัญไม่ตอบโจทย์

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)  เสนอบทความ “ถอดโจทย์ระบบการศึกษาไทยจากคำขวัญวันเด็ก” เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 โดยสะท้อนจาก “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เป็นคำขวัญวันเด็กปีนี้ ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มอบไว้เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567

พงศ์ทัศ วนิชานันท์

“พงศ์ทัศ วนิชานันท์” เชิญชวนมาร่วม “ถอดโจทย์” จะทำอย่างไรให้ “เด็กในคำขวัญ” ไม่เป็นเพียง “เด็กในความฝัน” ที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็นเท่านั้น ซึ่งระบบการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมคุณสมบัติเด็กไทย

มองโลกกว้าง-คิดสร้างสรรค์

“มองโลกกว้าง-คิดสร้างสรรค์” สะท้อนถึงการเรียนในยุคปัจจุบัน เด็กต้องไม่มัวขวนขวายหาความรู้เพียงในตำรา แต่เด็กต้องเงยหน้าขึ้นมามองโลกกว้างแล้วนำความรู้ที่ได้ไปใช้จริง ที่สำคัญเด็กต้องสามารถคิดได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น

การนำความรู้มาใช้ในชีวิตจริง เด็กต้องมีสมรรถนะที่ครอบคลุมความรู้ ทักษะ และทัศนคติ นอกจากนี้ ในด้านความรู้จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในการคิดให้ไปไกลกว่าระดับพื้นฐาน (จำ-เข้าใจ-ประยุกต์ใช้) แต่ต้องทำให้เด็กสามารถคิดขั้นสูงได้ (วิเคราะห์-ประเมินค่า-สร้างสรรค์สิ่งใหม่)

ระบบการศึกษาจะตอบโจทย์ได้จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายในหลักสูตรให้เด็กมีสมรรถนะและสามารถคิดขั้นสูงได้ โดยระบบต้องเอื้ออำนวยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบบูรณาการได้อย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้นำความรู้ที่ได้จากวิชาต่าง ๆ มาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริง รวมทั้งเชื่อมโยงผลลัพธ์ของการศึกษากับความก้าวหน้าทางอาชีพของครู

การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ระบบการศึกษาต้องเปิดโลกเด็กให้กว้าง กล่าวคือนอกจากทำให้เด็กได้เรียนรู้จากเกิดขึ้นรอบตัวในชุมชน จังหวัด หรือภายในประเทศ แต่ต้องให้น้ำหนักกับความเคลื่อนไหวในต่างประเทศด้วยเพื่อให้เท่าทันโลก โดยเฉพาะประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นต้น
อีกประเด็นที่ระบบการศึกษาต้องให้ความสำคัญคือ “ความรู้มีวันหมดอายุและความรู้หมดอายุเร็วกว่าที่เราคิด”

ดังนั้น เงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้เด็กสามารถ “มองโลกกว้าง-คิดสร้างสรรค์” ได้อย่างเท่าทันโลกอยู่เสมอคือ ระบบการศึกษาต้องสร้างเด็กให้มีจิตใจแห่งการเติบโต (Growth Mindset) โดยเด็กจะต้องมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ ทำให้กล้าลงมือทำ พร้อมรับมือกับความล้มเหลว ลุกขึ้นได้เร็ว และเริ่มทำใหม่โดยนำความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน

การสอนที่จะช่วยให้เด็กมีจิตใจแห่งการเติบโต ครูต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่นักเรียน โดยไม่เน้นเรื่องผิด-ถูกเป็นสำคัญแต่เน้นให้เด็กกล้าแสดงออก ยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และมีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ เช่น โจทย์คณิตศาสตร์ ครูควรเปิดให้เด็กอธิบายวิธีการคิดมากกว่ามุ่งหาคำตอบ ประเมินความเข้าใจของเด็ก และเติมเต็มในจุดที่ควรพัฒนา เป็นต้น

เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย

“เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ในหน้าที่ พร้อมรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม คุณสมบัตินี้สามารถสร้างได้ผ่านกิจกรรมจัดประสบการณ์เรียนรู้ในห้องเรียน และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโรงเรียน

ห้องเรียนสามารถทำให้เด็กที่มาจากพื้นเพที่ต่างกันสามารถเรียนรู้และเคารพซึ่งกันและกันได้ หากเป้าหมายของระบบการศึกษามุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration Skills) และครูสามารถจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบการทำงานเป็นทีมได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แบ่งบทบาทหน้าที่ สร้างข้อตกลง แลกเปลี่ยนความรู้ รับผิดชอบต่อหน้าที่ และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน

ครูอาจเสริมประสบการณ์เพิ่มเติม โดยเปิดให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างกฎกติกาในห้องเรียนหรือโรงเรียน เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน แทนที่ครูจะห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์ แต่ชวนให้นักเรียนมาสร้างกฎว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้รบกวนในการเรียน หรือ เรื่องทรงผมนักเรียน แทนที่ครูจะเป็นคนกำหนดกติกาการไว้ทรงผม แต่ใช้วิธีการสื่อสาร ให้เด็กทราบถึงข้อดีข้อเสียหากไว้ผมยาว และเชิญชวนให้เด็ก ผู้ปกครอง และโรงเรียนร่วมกันกำหนด เป็นต้น

การรักษาสิทธิของนักเรียนโดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโรงเรียน โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิทางร่างกายก็เป็นการวางรากฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้ โดยโรงเรียนควรมีมาตรการปกป้องสิทธิของนักเรียน เช่น เรื่องทรงผม หรือระบบการศึกษาควรมีมาตรการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดการลงโทษที่รุนแรง หรือการคุกคามเด็ก

ความปลอดภัยในโรงเรียนไม่เพียงแต่ทำให้เด็กเคารพความแตกต่างและวางรากฐานประชาธิปไตย แต่ผลการทดสอบ PISA 2022 ยังชี้ว่า เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมีแนวโน้มที่จะคะแนนสอบหรือผลการเรียนดีขึ้นอีกด้วย

ระบบการศึกษาไทยตอบโจทย์แล้วหรือยัง?

จากการวิจัยของทีดีอาร์ไอ ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังไม่น่าสร้างเด็กที่ “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เนื่องจากสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง เป้าหมายไม่ตรงโจทย์ หลักสูตรแกนกลางยังเน้นความรู้เป็นหลัก ไม่เน้นทักษะและทัศนคติเพียงพอให้เด็กมีสมรรถนะในการ “มองโลกกว้าง” นอกจากนี้ ในด้านความรู้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการคิดระดับพื้นฐานยังไม่ไปถึงการคิดขั้นสูงมากนัก จึงไม่น่าจะสร้างเด็กที่ “คิดสร้างสรรค์” ได้

ประการที่สอง ระบบไม่เอื้อให้ครูจัดประสบการณ์เรียนรู้ได้เต็มที่ เนื่องจากครูมีภาระงานอื่นนอกเหนือการสอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการรายงานผลตามนโยบายหรือโครงการของส่วนกลาง ทำให้ไม่สามารถสอนได้เต็มที่ นอกจากนี้ เกณฑ์การประเมินครูให้น้ำหนักกับผลลัพธ์ของตัวเด็กไม่มากนัก จึงไม่น่าสร้างแรงจูงใจให้ครูพัฒนาทักษะที่จำเป็น

ประการที่สาม การป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กยังไม่เป็นระบบ ที่ผ่านมาถือว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความพยายาม แก้ปัญหา แต่มีลักษณะเป็นการแก้แบบเป็นครั้ง ๆ ไป ทำให้ยังพบเห็นข่าวการละเมิดสิทธิหรือคุกคามอยู่ต่อเนื่อง

ทำอย่างไรให้ “เด็กในคำขวัญ” ไม่เป็นเพียง “เด็กในความฝัน”

“เด็กในคำขวัญ” จะไม่เป็นเพียง “เด็กในความฝัน” ระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ว่า ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา และมีการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน

ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง เร่งปรับหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 2 ปี โดยให้อิงสมรรถนะ และส่งเสริมการคิดขั้นสูง จากการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร โดยอาจนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการพัฒนามาก่อนเป็นจุดเริ่มต้น หรือพัฒนาในรายวิชาที่พร้อมทำได้ทันที

ข้อที่สอง กำหนดกฎกติกาให้หลักสูตรแกนกลางมีการทบทวนและปรับอย่างสม่ำเสมอ โดยผลักดันให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ กำหนดให้มีวงรอบการปรับที่ชัดเจน โดยไม่นานเกินไปจนความรู้หมดอายุ หรือไม่สั้นจนเกิดไปโรงเรียนปรับตัวไม่ทัน เช่น ทุก 6 ปี เป็นต้น

ข้อที่สาม ลดภาระงานอื่นครูเพื่อให้สอนได้เต็มที่ โดยในปีแรก กระทรวงศึกษาธิการควรทบทวนโครงการที่โรงเรียนต้องรายงานผลเพื่อบูรณาการการให้มากที่สุด และสำหรับปีต่อ ๆ ไปตั้งตัวชี้วัดจากงานปกติที่โรงเรียนทำ เช่น การประกันคุณภาพ และคะแนนสอบในห้องเรียน เป็นต้น โดยไม่สร้างตัวชี้วัดใหม่ ๆ ให้โรงเรียนต้องรายงาน

ข้อที่สี่ ปรับเกณฑ์การประเมินครูโดยเน้นผลลัพธ์ของตัวเด็ก โดยให้น้ำหนักกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นสำคัญ ส่วนด้านที่เหลืออาจประเมินจากภาระงานหรือกิจกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิชาชีพหรือพัฒนาคุณภาพโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) และผลการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เป็นต้น

ข้อที่ห้า มีมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กยังอย่างเป็นระบบ โดยนำมาตรการที่มีอยู่แล้ว อาทิ ศูนย์บริการประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการ มาเสริมกลไกเพิ่มเติม เช่น ระบบการร้องเรียนที่ไม่เปิดเผยตัวตนผู้ร้องเรียน ระบบการตรวจสอบเหตุ ระบบการส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นกรณีไม่สามารถแก้ปัญหาภายในโรงเรียนได้ และกำหนดให้ความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินภายนอกของสถานศึกษา เป็นต้น

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

เรียนดีมีความสุข (ลดภาระครู-นร.)

‘เรียนดี มีความสุข’ นโยบายการศึกษา โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งผู้ปกครอง หวังยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษา 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

นโยบาย ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะมาแทนที่ฉบับเก่าปี พ.ศ. 2542 มุ่งสร้างระบบการศึกษาที่ครอบคลุมทุกช่วงวัยและหลักสูตรที่เท่าทันโลก รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างองค์กรทางการศึกษาให้สอดรับกับ “การปฏิรูปการศึกษา” ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: