PISA หนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาไทย
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เป็นการประเมินเพื่อวัดคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
โดยทำการประเมินในนักเรียนอายุ 15 ปี ที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย โดย PISA จะเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือ ความฉลาดรู้ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ในการประเมินจะมีทั้ง 3 ด้านนั้นในแต่ละปีจะเน้นหนักที่ด้านใดด้านหนึ่งแล้วแต่รอบการประเมิน สำหรับ PISA 2022 เน้นการประเมินด้านคณิตศาสตร์ มีนักเรียนเข้าร่วม 690,000 คน จากนักเรียนอายุ 15 ปีราว 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ มีเด็กไทยเข้าร่วม 279 โรงเรียน รวม 8,495 คน
ผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน เมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ
สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวน จากผล PISA 2022
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Athapol Anunthavorasakul เสนอสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเรียนรู้และดำเนินการตอบสนองต่อผลคะแนน PISA ของ นักเรียนไทย ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังนี้
- ควรเน้นการพัฒนาสมรรถนะ โดยมองว่า การให้ความสำคัญกับการฝึกทำข้อสอบออกข้อสอบ PISA-like ไม่ควรเป็นแนวทางเดียวที่ได้รับความสำคัญ ต่อให้มีการฝึกทำข้อสอบหน้าตาคล้าย PISA Test มากแค่ไหน ถ้าสมรรถนะติดตัวของนักเรียนผู้เข้าสอบไม่ได้รับการติดตามและพัฒนาอย่างเป็นระบบคะแนนก็จะไม่มีทางขยับ
- การพัฒนาสมรรถนะด้านการอ่าน ต้องทำผ่านทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่การกิจกรรมรักการอ่านแบบผิวเผิน การอ่านในระดับมัธยมศึกษาเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศในการส่งเสริมการอ่าน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
- ดังนั้นควรสนับสนุนให้ครูคัดสรรบทอ่านหลากหลายรูปแบบ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน และ ส่งเสริมการอ่านเชิงวิพากษ์ที่เน้นการจับประเด็น วิเคราะห์ ตั้งคำถาม ถกเถียง มากกว่าการอ่านเพื่อรับรู้ความงามภาษา หรือแค่หาข้อมูลเฉพาะเรื่องไปตอบใบงานส่งครู และมีเวลาที่จะสนทนาแลกเปลี่ยนจากสิ่งที่อ่านให้มากขึ้น ในประเด็นนี้เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทบทวนหลักสูตรและตัวชี้วัดที่มีอยู่ว่ามากเกินไปหรือไม่ มีอะไรที่สามารถปรับลดได้เลยโดยไม่ต้องรอหลักสูตรฉบับใหม่
- การสนับสนุนการเข้าถึงการอ่าน โดยการอ่านนอกชั้นเรียนเกี่ยวข้องกับความหลากหลายของหนังสือและสารสนเทศที่นักเรียนจะเข้าถึงได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ คำถามที่สังคมไทยต้องช่วยกันตอบและชวนตั้งคำถามต่อ คือ เด็กไทยในวัย 12-15 ปี อ่านหนังสืออะไร? มีหนังสือแบบไหนที่เหมาะกับความสนใจพวกเขา? และมีราคาเหมาะสมที่พวกเขาจะหาซื้อได้และครอบครัวของพวกเขาสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้หรือไม่? และ รัฐต้องมีนโยบายใดบ้างเพื่อเอื้อให้พวกเขาเข้าถึงหนังสือ? สร้างนิสัยการอ่านและวัฒนธรรมการอ่าน แนวทางนี่ต้องใช้เวลา ความใส่ใจ เอาจริงเอาจัง ใช้กิจกรรม หรือนโยบายระยะสั้นอย่างเดียวไม่พอ
- คุณภาพของผู้เรียนสะท้อนคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพครู สุขภาวะครู และการที่ครูได้มีเวลาทุ่มเทเต็มที่ในการเตรียมการสอน ทำความเข้าใจผู้เรียน พัฒนาบทเรียน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและชั้นเรียน การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการมีชุมชนเรียนรู้เชิงวิชาชีพครูที่เข้มแข็งภายในโรงเรียน
- กระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนนโยบายทั้งหมดที่มีอยู่ปัจจุบันนี้อย่างตรงไปตรงมา และให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมพิจารณา ว่านโยบายใดที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง บั่นทอนเวลาการทำงานด้านการสอนของครู นโยบายใดที่เพิ่มภาระงานให้ครูและโรงเรียน จนทำให้เวลาที่ควรใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู
- จำนวนนักเรียนต่อห้อง จำนวนห้องเรียนต่อโรงเรียน สัดส่วนครูต่อนักเรียน สัมพันธ์กับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และโอกาสที่ครูที่จะทำความเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล ในช่วงเวลาที่จำนวนเด็กในวัยเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาทบทวนเพื่อวางแผนระยะยาว โดยขนาดห้องเรียนระดับชั้นมัธยมที่ดีที่สุดนักเรียนไม่ควรมีเกิน 25-30 คนต่อห้อง ครูจึงจะสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ดี
- การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นเรื่องสำคัญและต้องดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบ คุณภาพของหลักสูตรเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการศึกษา ขณะเดียวกันกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องออกแบบและมีระบบกำกับติดตามอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การพัฒนา ‘ความสามารถในการตีความและพัฒนาหลักสูตรของครู’ ซึ่งเป็นปัจจัยเงื่อนไขสำคัญ และเป็นสิ่งที่เราสามารถดำเนินการได้เลย โดยใช้หลักสูตรที่มีอยู่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมหลักสูตรฉบับใหม่
พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ ระบุในงานแถลงข่าวเรื่อง ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน วิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด เผยสาเหตุหลักของปัญหาที่ทำให้ผลการประเมิน PISA ของไทยลดลงต่อเนื่องมาจากหลักสูตรเก่า 15 ปี และ ครูมีภาระเยอะ ดังนี้
- การระบบศึกษาของไทยอ่อนแอ แม้ว่าผลสอบครั้งนี้อาจมีส่วนจากการปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ผลการเรียนของไทยตกต่ำลงมากกว่า ดังนั้นปัญหาหลักจึงอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่เข้มแข็ง
- หลักสูตรของไทยล้าสมัย ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือ 15 ปีมาแล้ว และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับหลักสูตรอยู่บ้าง แต่เป็นการปรับเล็กน้อยในบางวิชาเท่านั้น ซึ่งในภาพรวมหลักสูตรไทยยังไม่มุ่งให้เด็กนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ เพราะการที่เด็กจะมีสมรรถนะในการประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสม ไปพร้อม ๆ กัน เช่น การจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะต้องรู้คำศัพท์ โครงสร้างประโยค ทักษะการออกเสียง และมีทัศนคติในการกล้าสื่อสาร โดยได้รับการฝึกฝนในสถานการณ์ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง แต่หลักสูตรของไทย “มุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ผ่านการจดจำ” ในขณะที่การทดสอบของ PISA เน้นนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
- การใช้หลักสูตรของไทยไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่ควร แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะให้โรงเรียนสามารถนำหลักสูตรแกนกลางไปปรับเพื่อให้เข้ากับบริบทได้ แต่ในทางปฏิบัติครูยังไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ยังทำตามสิ่งที่เคยทำมา อีกทั้งยังมีการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน ทำให้โรงเรียนต้องทำหลักสูตรตามที่สาระวิชาได้กำหนด
- การบริหารทรัพยากรคือจุดอ่อนที่สำคัญ ทั้งด้านคนโดยเฉพาะครูและงบประมาณ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ถือว่าไทยลงทุนทรัพยากรด้านการศึกษาค่อนข้างสูง แต่ผลลัพธ์ยังไม่ดี ซ้ำยังลดลงเรื่อย ๆ สะท้อนว่าการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพต่ำ อีกทั้งโรงเรียนยังไม่มีอิสระในการจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง ในส่วนเรื่องของคนหรือครูนั้น พบว่าโรงเรียนยังขาดแคลนครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งสอดรับกับผลคะแนนของ PISA ที่บ่งชี้ว่าโรงเรียนที่มีครูเพียงพอจะมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ในปัจจุบันครูต้องแบกรับงานธุรการที่นอกเหนือไปจากการสอนมาก ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการสอนได้ ซึ่งจากการที่ทีดีอาร์ไอได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นครูใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ครูต้องทำงานนอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก โดยภาระงานที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือการรายงานผลที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือ หน่วยงานต่าง ๆ มอบหมายให้โรงเรียนทำส่งผลให้ครูสอนนักเรียนได้ไม่เต็มที่
- ไทยควรเรียนรู้ระบบการศึกษาที่ดีจากประเทศที่ผลประเมิน PISA อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ โดยสิงคโปร์มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาครู ให้ความสำคัญกับการผลิตครูอย่างมาก มีเกณฑ์การคัดเลือกค่อนข้างสูง ครูได้รับค่าตอบแทนที่สูงและได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จึงทำให้ครูของสิงคโปร์มีคุณภาพ ส่วนฟินแลนด์ มีความน่าสนใจด้านหลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นสร้างสมรรถนะ โดยพยายามให้นักเรียนได้เรียนจากสถานการณ์จริงและเกิดการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ และให้ความสนใจโลกใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี ทำให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ทันโลกทันเหตุการณ์
- เสนอไทยควรยกเครื่องการศึกษาใหม่ ปรับใหญ่ทั้งระบบ ทั้งหลักสูตร การใช้ทรัพยากร และการผลิตครู โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก คือ การลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครูให้เหลือน้อยที่สุด ระยะที่สอง รัฐบาลควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หรือภายในวาระของรัฐบาล โดยเมื่อปรับหลักสูตรแล้ว ก็จำเป็นต้องออกแบบให้องค์ประกอบอื่นของระบบการศึกษามีความสอดคล้องกันด้วย ทั้งการผลิตและพัฒนาครู ตลอดจนการสอบและประเมินผล ระยะที่สาม อาจจะเริ่มต้นจากข้อเสนอของธนาคารโลก ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและการเรียนการสอน ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถที่จะควบรวมหรือพัฒนาเป็นเครือข่ายได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล จำเป็นต้องคงอยู่และมีการจัดสรรงบเพิ่มเพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการจัดการศึกษา
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นผ่านเพจ พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu ว่า คะแนน PISA การศึกษาไทย ลดลงทั้งกระดาน ถึงเวลาจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่ฐานสมรรถนะ เชื่อว่า ผลลัพธ์นี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้เนื่องจากคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยมองว่านี้จะเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นชัดว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้น “วิกฤต” โดยสรุปความเห็น และข้อเสนอ ดังนี้
- เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่กลับมีทักษะที่ตามหลังหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นชัดว่าปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ขยัน แต่เป็นเพราะระบบการศึกษา ไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนและความขยันของนักเรียนให้ออกมาเป็นทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับระบบการศึกษาของประเทศอื่น
- การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยจำเป็นต้องอาศัยหลายมาตรการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าขาดไม่ได้ คือการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้มีการเขียนใหม่หรือปรับปรุงขนานใหญ่มาหลายปี
- ชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการพัฒนา เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มาร่วมออกแบบหลักสูตรให้เสร็จภายใน 1 ปี เนื่องจากหลายภาคส่วนมีการพัฒนาข้อเสนอเรื่องหลักสูตรใหม่มาสักพักแล้วเพื่อเริ่มทยอยนำมาใช้ในแต่ละระดับชั้นให้ครบทั้งหมดภายในวาระของรัฐบาล
- เป้าหมายหลักของหลักสูตรใหม่ ควรเป็นการเน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงานและในชีวิต โดยเสนอกรอบเบื้องต้นสำหรับการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม ดังนี้
-
- ปรับวิชาหรือเป้าหมายของวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักเรื่องทักษะ – สมรรถนะ – ทบทวนวิชาที่ควรมีหรือไม่มี รวมถึงการปรับเป้าหมายของแต่ละวิชาให้เน้นทักษะที่สำคัญ มากกว่าแค่การอัดฉีดเนื้อหาหรือข้อมูลให้กับผู้เรียนเป็นหลัก เช่น ภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน
- ปรับวิธีการสอน เสริมทักษะให้ครูสามารถพลิกบทบาทจาก “ครูหน้าห้อง” ที่เน้นถ่ายทอดความรู้หรือข้อมูลผ่านการบรรยายทางเดียว มาเป็น “ครูหลังห้อง” ที่เน้นสร้างบรรยากาศและจัดสรรเวลาในห้องเรียนให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น
- ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน ปรับจาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือประมาณ 800-1,000 ชั่วโมงต่อปีตามมาตรฐานสากล โดยลดเนื้อหาการเรียนหรือกิจกรรมในส่วนที่จำเป็นลง เพื่อเน้นที่คุณภาพของชั่วโมงเรียน และให้นักเรียนเหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
- ลดภาระการบ้านและการสอบแข่งขันที่หนักเกินไป ปรับใช้วิธีประเมินผลรูปแบบอื่น (เช่น การบูรณาการการบ้านหลายวิชา การทำกิจกรรมในเวลาเรียน การทำโครงการกลุ่ม) เพื่อลดภาระและความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเยาวชนไทย
- เพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ ลดวิชาบังคับ และเพิ่มวิชาทางเลือก ให้นักเรียนได้มีอิสรภาพและส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อโอบรับความหลากหลายของผู้เรียนที่มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน
- เพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน เพิ่มกลไกในการทำให้หนังสือเรียนและข้อสอบปรับตามและสอดรับกับหลักสูตรใหม่ ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน และการเปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลย
- กระจายอำนาจด้านการออกแบบหลักสูตร วางระบบให้มีหลักสูตร 3 ระดับ (แกนกลาง-จังหวัด-สถานศึกษา) ควบคู่กับการลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนในแต่ละโรงเรียน
- วางกลไกสำหรับการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง กำหนดให้ทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและทักษะที่จำเป็นในแต่ละยุคสมัย
- ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ออกแบบสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เอื้อต่อการ “เติมไฟ” ให้นักเรียนมีความพร้อมในการตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยความตระหนักดีว่าการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดอยู่ที่โรงเรียนหรือแค่ในช่วงวัยเรียน
ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระด้านการศึกษา ให้ความเห็นเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Nicha Pittayapongsakorn ว่า ในรอบการประเมินปีล่าสุด อันดับคะแนนของทั่วโลกตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ คาดการณ์ว่าเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบในทุกประเทศ สำหรับไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นทุนเดิม ทำให้อันดับตกลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงพฤติกรรมเสพสื่อของเด็กที่เปลี่ยนไปดูวิดีโอขนาดสั้น อาจมีผลให้สมาธิและการจับใจความในการอ่านมีประสิทธิภาพต่ำลง
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ปรากฏการณ์ “เด็กเก่งกระจุก อ่อนกระจาย” ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาจากปีก่อน ๆ แต่เป็นตัวเลขที่น่ากัวล โดยพบข้อมูลว่า ประเทศไทยมีเด็กที่นับได้ว่าเป็น High-performers (ทำคะแนนได้ดี) แค่ 1.3% และเด็กส่วนใหญ่ 46.3% เป็น Low-performers (ทำคะแนนได้น้อย) เมื่อเทียบกับประเทศท็อปอย่างสิงคโปร์ พบว่ามีเด็ก 44.5 % เป็น High-performers และมีเด็กเพียง 4% ที่เป็น Low-performers และพบว่าสิ่งที่ PISA สำรวจคือ Resilient students (นักเรียนที่ยากจนแต่มีผลการเรียนรู้อยู่ในระดับสูงปกติ) พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนที่เป็น Resilient studentถึง 15% หรือคิดเป็นอันดับ 9 จากทั่วโลก
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในเวทีเสวนา Exclusive Talk PISA 2022 และอนาคตทิศทางการศึกษาไทย Beyond 2025 ดังนี้
- เสนอผลการวิเคราะห์ผลการประเมิน PISA 2022 นัยต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย ของสถาบันวิจัยความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) พบว่า นักเรียนที่ยากจน มีแนวโน้มที่จะมีผลคะแนนที่ต่ำกว่านักเรียนที่มีฐานะดีกว่าในทุก ๆ วิชา โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ยากจนที่สุดมีสัดส่วนนักเรียนที่สอบทักษะคณิตศาสตร์ไม่ผ่านระดับพื้นฐานสูงถึง 77.43% เมื่อเทียบกับกลุ่มนักเรียนฐานะร่ำรวยที่สุดที่มีนักเรียนสอบไม่ผ่าน 47.35%
- ในบรรดาเด็กนักเรียนที่ยากจนมีกลุ่ม ‘นักเรียนช้างเผือก’ หรือนักเรียนที่มีฐานะยากจนที่สุด (Bottom 25%) แต่กลับทำคะแนนได้สูงติดอันดับ Top 25% จากทั้งประเทศ PISA Thailand นิยามเด็กกลุ่มนี้ไว้ว่า “นักเรียนที่ไม่ย่อท้อทางการศึกษา” แต่เด็กกลุ่มนี้อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะข้อจำกัดด้านโอกาสและเงินทุน ซึ่งนี่คือโจทย์สำคัญที่การศึกษาไทยต้องพาพวกเขากลับมาผลักดันต่อ และเชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนล้วนเป็น ‘ช้างเผือก’ ได้เช่นกัน
- จากการประมวลผลข้อมูลรายงานของ OECD โดย วสศ. พบว่า เด็กช้างเผือก ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในโรงเรียนมากกว่าเด็กยากจนคนอื่น อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า นอกเหนือจากหลักสูตรการสอนแล้ว ครอบครัวและโรงเรียนเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เด็กมีใจใฝ่เรียน และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก
- เด็กช้างเผือกมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ระดับสูงกว่านักเรียนที่มีฐานะดี ซึ่งแสดงถึงความไม่ย่อท้อทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ได้ดีรวมถึงทักษะด้านอารมณ์ที่แข็งแรง ที่ได้รับการเสริมสร้างผ่านครอบครัวและสังคมภายในโรงเรียน
- ผลสำรวจจากโครงการ PISA for Schools Thailand ระยะที่ 1 พบว่า ทักษะทางอารมณ์สังคมทั้ง 5 ด้าน (Big 5 personality traits) สัมพันธ์กับระดับฐานะของเด็ก กล่าวคือ ยิ่งเด็กรวย ยิ่งมีทักษะทางอารมณ์ที่แข็งแรงมากเท่านั้น แต่นักเรียนช้างเผือกที่มีฐานะยากจนกลับมีทักษะทางอารมณ์ที่สูงกว่าเด็กยากจนคนอื่น และในบางทักษะสูงกว่าเด็กที่มีฐานะร่ำรวยด้วยซ้ำ เช่น การควบคุมตนเอง (Self-control) โดยทักษะทั้ง 5 ด้านมีดังนี้
-
- ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)
- ความสนใจใฝ่รู้ (Curiosity)
- การควบคุมตนเอง (Self-control)
- การมองในแง่ดี (Optimism)
- การกล้าแสดงออก (Assertiveness)
- PISA ไม่ใช่เส้นชัยของระบบการศึกษาไทย สิ่งที่ควรทำไม่ใช่เพิ่มเฉพาะระดับคะแนน แต่ต้องเริ่มต้นจากพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียน PISA เป็นเหมือนการตรวจสุขภาพการศึกษาไทย อย่าใส่ใจจะพัฒนากันแค่ตอนวัดผล แต่ควรให้ความสำคัญอยู่ตลอด
- แนะภาครัฐ ผลักดันนโนบายสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้ เป็นวงจรเริ่มต้นจากที่บ้านมาจนถึงโรงเรียน เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้แค่ในห้องเรียน โดยการเรียนรู้เพื่อทักษะแห่งอนาคต จะต้องพึ่งพาการพัฒนาทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน ด้านการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ และด้านสุขภาวะ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้
- อีกข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การสร้างระบบการประเมินการเรียนการสอนให้เป็นประโยชน์ต่อครูและผู้เรียนมากขึ้น ที่ผ่านมาการประเมินเป็นลักษณะ Summative Assessment หรือ เป็นการวัดผลโดยสรุปและไม่ได้มีการนำไปต่อยอด เชื่อว่า ไม่มีทางที่การศึกษาไทยจะพัฒนาได้ โดยการเฝ้ารอการประเมินทุก ๆ 3 ปี จำเป็นต้องมีเครื่องมือการประเมินเชิง Formative Assessment (กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างครูและผู้เรียน) เพื่อประเมินสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และสนับสนุนให้ครูใช้เครื่องมือดังกล่าวไปพัฒนาการสอนต่อไป เชื่อว่าการประเมินระหว่างการเรียนรู้ จะช่วยให้สร้างความพร้อมให้เด็กได้ทันท่วงที มากกว่าไปประเมินทีเดียวตอนจบภาคเรียนแล้วไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
- การกระจายอำนาจการศึกษาเป็นอีกกุญแจที่สำคัญ เพื่อให้ครูได้มีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอน ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และเอาเวลาไปพัฒนาเด็กได้มากขึ้น เพื่อให้การศึกษาเป็นของทุกคนได้อย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง