ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหนังสือถึงประธานกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เรื่อง ประเด็นที่อาจเป็นประโยชน์ในการประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 ซึ่งเป็นความเห็นของธปท.ต่อคณะกรรมการฯเป็นครั้งที่ 2
หนังสือของธปท.ที่ส่งถึงประธานกรรมการฯ ซึ่ง หมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้าน แต่เป็นการแสดงความกังวลในหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นเรื่องงบประมาณเพิ่มเติมที่รัฐบาลนำมาใช้ในโครงการฯ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. เป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าว โดยเริ่มต้นเป็นการชี้แจงว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ได้ส่งตัวแทนมาประชุมแทน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านายเศรษฐพุฒิ ชี้แจงในประเด็น เนื่องจากก่อนหน้านั้น การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการฯหรือไม่นั้น กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับธปท. แต่ในครั้งนี้ ธปท.ชี้แจงว่า
“ตามที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะกรรมการนโยบายฯ) ครั้งที่ 4/2567 ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. 2567 นี้ กระผมติดภารกิจในการเป็นผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมระดับผู้ว่าการของธนาคารกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Excuives’ Meetings of East Asia Pacific Central Banks) ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ค. พ.ศ. 2567 ที่ประเทศมาเลเซีย และได้มอบหมายให้นายรณดล นุ่นนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม โดยได้แจ้งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯทราบแล้ว”
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ นายเศรษฐพุฒิได้เสนอประเด็นข้อคิดเห็นต่อประธานกรรมการฯ ในหลายประเด็น และในบางประเด็นยังไม่มีความชัดเจนนักจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ดังนี้
ประเด็นเกี่ยวกับระบบเติมเงิน Digital Wallet
ตามที่ครม.มอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) ทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ระบบการเติมเงิน ถือเป็นระบบการชำระเงินที่พัฒนาและดำเนินการโดยหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งได้รับการยกเว้นจากการขออนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน 2560 แต่อย่างไรก็ตาม ระบบเติมเงินฯจะต้องรองรับการใช้งานของประชาชน และร้านค้าจำนวนมาก รวมถึงมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องเชื่อมโยงกับธนาคารและสถานบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Bank) เป็นวงกว้าง
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีหน้าที่นี้ตามกฎหมาย แต่ระบบเติมเงินเชื่อมโยงกับแบงก์และนอนแบงก์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะมีลักษณะเป็นระบบ Open Loop ที่เชื่อมโยงกับธนาคารและ Non-bank เป็นวงกว้าง
จึงขอแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ระบบการเติมเงินจะสามารถใช้บริการได้ตามเป้าหมาย คณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรติดตามการพัฒนาระบบเติมเงิน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน คือมาตรการด้านความปลอดภัย (security) ต้องรักษาความลับได้ (confidenity) ความถูกต้องเชื่อถือ (integrity) และมีเสถียรภาพให้พร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง (availability) และมีการบริหารจัดการด้านไอทีตามมาตรฐานสากล (IT Governance) มีประเด็นตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งาน
อ่านเพิ่มเติม: ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ใช้ได้ไตรมาส 4 ปี 67 เผยเงื่อนไข-วิธีลงทะเบียน
ที่กังวลคือระบบการตรวจสอบสิทธิประชาชนและผู้ประกอบการ พิสูจน์ยืนยันตัวตน การตรวจสอบเงื่อนไข การพิสูจน์ตัวตนของระบบ ต้องได้มาตรฐานเทียบเคียงกับบริการภาคการเงิน ต้องสามารถป้องกันความเสี่ยงถูกสวมรอย ต้องไม่มีการเอาไปใช้ในทางทุจริต หรือธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งต้องมีศักยภาพสามารถรองรับการลงทะเบียนพร้อมกันของผู้ใช้งานจำนวนมาก
การทดสอบระบบก่อนใช้จริงต้องทำอย่างครบถ้วน ต้องมีมาตรฐานระบบการชำระเงินตั้งแต่ตัวระบบ การทำงานเชื่อมหรือเชื่อมโยงร่วมกับระบบอื่น ไปจนถึงการทำงานของประชาชนและร้านค้า เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดำเนินการถูกต้อง ปลอดภัย รองรับใช้งานจำนวนมาก (Load Capacity) ควรจะมี Call Center รับแจ้งปัญหาอย่างรวดเร็ว สามารถรับคำร้อง ข้อร้องเรียนอย่างรวดเร็ว สอบถามจากประชาชนจำนวนมากพร้อมกันด้วยและสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้อง มีมาตรฐาน
ระบบตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติการชำระเงิน
การบันทึกบัญชีและอัพเดทยอดเงินเมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกจากดิจิทัลวอลเล็ต (Payment Platform) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งพิมพ์เขียวให้กับแบงก์และนอนแบงก์โดยเร็วที่สุด สำหรับการเตรียมความพร้อม พัฒนาและทดสอบสำหรับการเชื่อมต่อระบบ Payment Platform ให้ทันตามกำหนด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงการลดความเสี่ยงของการลดความรั่วไหลให้เป็นรูปธรรม รวมถึงมาตรการการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุม เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขโครงการ negative list และการขายลดสิทธิ (list discount) จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร
ข้อมูลที่ได้รับทราบจาการแถลงข่าวต่าง ๆ จากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดำเนินการชี้แจงแนวโน้มที่ชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณนั้น ไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำถัดไปได้
อ่านเพิ่มเติม: กู้ชนเพดาน ปรับงบปี 67 หนุนแจกดิจิทัลวอลเล็ต
การดำเนินการระบบ open loop
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งพิมพ์เขียวที่แสดง Architecture ของ Payment latform ให้ธนาคารและ Non-bank โดยเร็ว เพื่อสามารถพัฒนาและเชื่อมต่อได้ตามกำหนด
การพัฒนาต้องระบบ Open loop ต้องให้เวลากับแบงก์และนอนแบงก์อย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาและตรวจสอบระบบ เพื่อประเมินความเสี่ยงและปิดความเสี่ยงได้ เช่น ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ความเสี่ยงด้านความถูกต้องเชื่อถือได้ ความพร้อมของระบบ รวมถึงการทดสอบการเจาะระบบ เพื่อให้สามารถแก้ไขและป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นก่อนเริ่มใช้งาน และต้องแจ้งให้ธปท.ทราบล่วงหน้าก่อน 15 วันก่อนเริ่มให้บริการ เพราะการเชื่อมต่อ Payment Platform กับ Mobile App เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบไอทีอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการบริการเป็นวงกว้าง ธปท.จะสอบทานผลการประเมิน ผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และอาจจะขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะระบบ Open loop อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินโดยรวมด้วย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงการติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการ (Negative Lists) และการขายลดสิทธิ์ ( List Discount)
อ่านเพิ่มเติม: รายละเอียดความเห็นธปท. ดิจิทัลวอลเล็ต5แสนล้าน