ในโอกาส 1 พ.ค 68 เป็นวันคล้ายวันสถาปนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครบรอบ 56 ปี ประกาศเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสีเขียว ชูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขาดเล็ก หรือ SMR โดยมองว่าตอบโจทย์ความมั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ. ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้านับตั้งแต่กำลังผลิตเริ่มต้นเพียง 908 เมกะวัตต์ เมื่อครั้งก่อตั้งเมื่อ 1 พ.ค. 12 จนปัจจุบัน ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 52,017 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็น 31.26% และมีสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศความยาวรวมถึง 40,041 วงจร-กิโลเมตร
ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กฟผ. ให้ความสำคัญของการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน โดยหาจุดสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานที่มีความผันผวน ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) อยู่ที่ประมาณ 17-20%
จากสถิติการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กฟผ. จึงต้องพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่น (Grid Modernization) รองรับการบริหารจัดการความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- ปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเร่งหรือลดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอตามความต้องการในทุกช่วงเวลา
- ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Grid Flexible) โดยติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ควบคู่กับการบริหารจัดการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อลดความผันผวนและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า
- เพิ่มศักยภาพการวางแผนผลิตไฟฟ้าด้วยศูนยพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) เพื่อนำไปใช้สำหรับวางแผนผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าหลัก
- พัฒนาแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant : VPP) ทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ และระบบกักเก็บพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำความได้เปรียบของพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทมาเติมเต็มเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน ร่วมกับการบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM)
กฟผ.สร้างความเข้าใจ SMR
กฟผ. ยังสานต่อภารกิจแห่งความยั่งยืนด้านผลิตไฟฟ้า เร่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสีเขียวผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 3 โครงการ ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2569
ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าสะอาดแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงและความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเดินเครื่องร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้และไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง
อีกทั้งระบบความปลอดภัยยังลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้อยู่ในรูปแบบโมดูลซึ่งผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานจึงสามารถควบคุมคุณภาพได้ดี รวมถึงสามารถหยุดทำงานได้อัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าสำรอง
นอกจากนี้ ขนาดของโรงไฟฟ้าที่เล็กลงยังทำให้ระยะรัศมีการกำหนดพื้นที่ควบคุมการปล่อยสารกัมมันตรังสีลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีระยะรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีระยะรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร
ย้อนแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ไทยมีแนวคิดพัฒนาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานาน แม้ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มีการกล่าวถึงและศึกษาแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่องในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศ
แผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีแนวคิดแรกเริ่มในปี 2504 จากพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อการวิจัยและพัฒนา
ต่อมาปี 2509 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และในปี 2516 มีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ที่อำเภออ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากกระแสต่อต้านจากประชาชน
ในแผน PDP 2007-2564 กำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (โรงละ 1,000 เมกะวัตต์) ในปี 2563-2564 แต่ถูกถอดออกในแผน PDP 2018 ที่หันไปเน้นก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนแทน
สำหรับ แผน PDP 2024 (พ.ศ. 2567-2580) กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และมีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ในช่วงปลายแผน
ทำไมยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
กระแสต่อต้านจากประชาชน โดยกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังเหตุการณ์เชอร์โนบิล (2529) และฟุกุชิมะ (2554) ทำให้โครงการต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไป และมี
การคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่ที่เคยถูกเสนอให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้า เช่น ชลบุรี อุบลราชธานี และนครสวรรค์
ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจและพลังงาน โดยไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการอยู่ 34% (ข้อมูลปี 2565) จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์สูงกว่าพลังงานหมุนเวียน 2-3 เท่า (180 USD/MWh เทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ ~60 USD/MWh)
อย่างไรก็ตาม การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในอดีต ทำให้รัฐบาลสมัยนั้น ชะลอแนวทางมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนนิวเคลียร์
แนวโน้มในอนาคต
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ตามแผน PDP 2024 กำลังพิจารณา SMR ขนาด 70-350 เมกะวัตต์ เนื่องจากลงทุนน้อยกว่า ปลอดภัยกว่า และติดตั้งง่าย ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการศึกษาร่วมกับบริษัท Seaborg จากเดนมาร์ก
นอกจากนี้ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) ภายในปี 2608 ทำให้พลังงานนิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สถานที่ตั้งที่เคยถูกเสนอ
จากการศึกษาของ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา พื้นที่ที่เคยถูกพิจารณาให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนี้
- อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
- อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
- อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
- อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
ที่ผ่านมา การเสนอสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ล่าสุดตามแผนเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน หรือว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นไปได่ยากในสังคมไทย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
จับตาครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงรวด 9 ฉบับ เกี่ยวกับนิวเคลียร์