เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่าที่ประชุมรับทราบถึงหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้
ที่ประชุมยังตั้งอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ หรืออีกนัยนึงก็คือศึกษาข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ ว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการนี้ได้หรือไม่
แต่หากฟังท่าทีของนายกฯ จะเห็นว่าโครงการนี้ “เริ่มไม่แน่นอนเสียแล้ว” ดีไม่ดี คณะอนุกรรมการฯอาจสรุปออกมาดื้อ ๆว่า ไม่เหมาะสม แล้วเปิดทางให้รัฐบาลหาทางลงและคิดหาโครงการใหม่มาทดแทน
นายกฯบอกว่า“ข้อมูลของ ป.ป.ช. เพิ่งมาถึงมือ หลาย ๆ ข้อมูลเป็นข้อมูลลับ ซึ่งวันนี้ได้มีการเปิดเผยข้อมูล กรรมการหลายท่านได้ขอนำข้อมูลไปศึกษา ซึ่งก็ยินดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ครบถ้วน และเป็นนโยบายสำคัญ” รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่บอกว่าเพิ่งเห็นข้อเสนอแนะ
“เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะขึ้นอยู่กับข้อสรุปว่าเป็นอย่างไร จะต้องรับฟังความคิดเห็นคณะกรรมการก่อน ว่าจะมีวิธีไหนอย่างไร ยังไม่ได้บอกว่าไทม์ไลน์จะขยับล่าช้าออกไป เพราะขณะนี้ยังอยู่ในกรอบเวลาของการศึกษา และ 30 วันยังอยู่ในเงื่อนไข ส่วนแผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ หรือไม่ก็ต้องรอฟัง”
สรุปแล้ว การประชุมบอร์ดใหญ่เงินดิจิทัล ดูเหมือนว่าจะกลับไปตั้งต้นใหม่ โดยจะพิจารณาในทุกประเด็นที่ยังเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นวงเงินมหาศาลถึง 500,000 ล้านบาท การตีความคำว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” ซึ่งจะเปิดทางให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ฯลฯ
โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาจเป็น “จุดตาย”ของโครงการเงินดิจิทัลฯ เพราะมีการเขียนขึ้นมาอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันนักการเมืองดำเนินนโยบายที่สร้างความเสียหายกับฐานการเงินการคลังของประเทศ ที่แลกมาด้วยคะแนนนิยม ซึ่งตัวอย่างที่มักจะหยิบยกมากล่าวถึง คือ โครงการจำนำข้าว ที่ยังเป็นภาระต่องบประมาณจนถึงทุกวันนี้ และอดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นก็ยังอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากเจอคดี
เหตุผลหนึ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีเจอคดีโครงการรับจำนำข้าว ก็คือ ความเห็นจากหน่วยงานของรัฐอย่างป.ป.ช. นี่แหละ ที่ทำหนังสือเตือนถึงโครงการดังกล่าว ทำให้ศาลตีความว่า อดีตนายกรัฐมนตรี “รู้อยู่แล้ว” ก็ยังดำเนินการ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผวากันไปทั่วทั้งคณะกรรมการเงินดิจิทัล จนมีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการบางคน ขอให้มีการบันทึกการประชุมไปว่า ได้แสดงความเห็น “ไม่เห็นด้วย”ไปแล้ว ซึ่งหากถูกดำเนินคดีภายหลังก็จะรอดไม่ถูกดำเนินคดี
อันที่จริง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเอง ตรงกันข้ามกับผลดีด้วยซ้ำ เพราะคนก็จะรู้ว่า “ประชาธิปไตยกินได้” แต่ในช่วงหลัง นักการเมืองไทยและนักการเมืองทั่วโลก หันมาทุ่มเท คิดค้นที่เรียกกันว่า “ประชานิยม”มากขึ้น
หากติดตามนโยบายประชานิยมของไทยจะเห็นว่าไม่เคยลดลง แม้ว่าจะเจอปัญหาอย่างกรณีรับจำนำข้าว ในทางตรงกันข้าม นักการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ต่างกันมาใช้นโยบายในลักษณะนี้มากขึ้น จนกระทั้งหลังการรัฐประหารครั้งสุดท้ายที่มีการออกกฎหมายมาคุมนโยบายในลักษณะประชานิยม คือ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือเติมเงิน 10,000 บาท ไม่ต้องถกเถียงกันว่าเป็นประชานิยมหรือไม่เป็น แต่มีลักษณะเดียวกับโครงการประชานิยมอื่น ๆ ในอดีต เพียงแต่มีหลักการและวิธีการต่างกันเท่านั้น
และหากโครงการสามารถดำเนินการได้ เราเชื่อว่าคนไทยจะได้เห็น “แจกเงินแสน”กันอีกในไม่ช้า และเมื่อนั้นก็ไม่อยากจะจินตนาการว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับฐานะการคลังของประเทศ ที่แลกมาด้วยคะแนนนิยมของนักการมืองที่เข้าสู่อำนาจโดยใช้เงินของภาครัฐ ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชน
ก่อนหน้านี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนคนสำคัญของไทย เคยตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ว่า “มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างพลังขึ้นมากำกับมือนั้น หรือสอนมือนั้นให้ล้วงให้ถูกต้อง ล้วงเอาไปใช้ในทางที่ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น”
พร้อมกับเตือนว่า “นโยบายประชานิยม เหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ นโยบายประชานิยมทุกประเภทจะมีเชื้อนำเราไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จได้ หากเราไม่เอาใจใส่ความเป็นธรรม ความชอบธรรมของอำนาจ”
นับว่าน่าสนติดตามอย่างมากว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้ (คือไม่ทำ) เพราะหากไปต่อ ก็จะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่มี “พลัง”ในการ “กำกับมือ” หรือ “สอนมือล้วงให้ถูกต้อง” แต่หากหยุดและหานโยบายใหม่ที่เหมาะสม ก็จะเกิด “กติกาทางการเมือง” เป็นเหมือนการขีดเส้นว่าทำได้แค่ไหน
เพราะประชานิยมไม่อาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดสิ้นสุด