ปัญหาของรัฐบาลคือการกู้เงินมหาศาลเพื่อนำมาใช้จ่าย มีกฎหมายบังคับใช้ว่ารัฐบาลสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องเงินเงินทอง ๆ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ออกพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาสกัดพรรคการเมืองที่ชอบออกนโยบายประชานิยมมาหาเสียง เพราะเข็ดขยาดกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินรัฐบาลเพื่อสร้างความนิยม
หากไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็เชื่อว่ารัฐบาลคงจะผลักดันออกมาได้ไม่ยาก แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามการกู้เงินมาใช้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นต้น
การถกเถียงว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้วิกฤติหรือไม่นั้น ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนเกิดการถกเถียงกันอย่างหนัก หลังจากมีรายงานหลุดมาจากการประชุมคณะอนุกรรมการฯของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ระบุว่า “ไม่วิกฤติ” โดยหยิบยกคำอธิบายทางหลักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกมาอ้างอิง
จากคำนิยามของธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤติด้วยประการทั้งปวง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ม.ค 2567 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย (Article IV Consultation) ประจำปี 2566 โดย IMF มีมุมมองที่สอดคล้องกับทางการไทยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้าง จากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ประมาณ 2.5% และคาดว่าในปี 2567 จะเร่งขึ้นเป็นะ 4.4% (เมื่อรวมผลมาตรการ ดิจิทัลวอลเลต) จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% และ 1.7% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นอกจากนี้ IMF ยังเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของกนง. ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ
จากความเห็นของ IMF ซึ่งมีแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์คล้ายกันกับธนาคารโลก รวมทั้งธปท. รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ๆ ในปัจจุบัน ที่มีคำนิยามปัจจัย “มาตรฐาน” เช่นคำว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” คล้าย ๆ กัน เพียงแต่ใครจะให้น้ำหนักไปด้านใดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเรื่อง “เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่” เป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้เกิดการตอบโต้และโต้แย้งกันรุนแรงเป็นพิเศษ แต่ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เราจำเป็นต้องหาเกณฑ์ในการตัดสินว่าจะใช้เกณฑ์อะไร ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เป็นมาตรฐานทั่วไป
หากใช้เกณฑ์มาตรฐานทั่วไป ก็จะได้คำตอบที่ชัดว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการนี้ได้หรือไม่ แต่หากยังยึดมาตรฐานตัวเองที่มองเศรษฐกิจวิกฤติให้ได้ ก็อาจจะมีประเด็นความขัดแย้งไม่สิ้นสุด เพราะอาจจะเป็นว่ารัฐบาล “อำนาจลากไป” แต่หากรัฐบาลกลับมาเริ่มต้นใหม่ ยอมรับความผิดพลาดบางประเด็น ก็อาจจะทำให้สถานการณ์รัฐบาลดีขึ้น
หากรัฐบาลเริ่มต้นทำเรื่องใหม่ ๆ เพราะนโยบายหรือมาตรการที่ดีมีอีกมากมาย รัฐบาลไม่จำเป็นต้องแจกเงินแจกทองเพื่อสร้างความนิยมระยะสั้น ๆ เสมอไป