ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ต่อเนื่องมาจาก มติ ครม. (ชุดที่ผ่านมา) เมื่อ 15 ส.ค.2566 ที่ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ และเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พ.ย. 2566
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ตรวจพิจารณา และแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ให้เป็น ร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. …. ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ภายหลังได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว เสนอต่อ ครม.ชุดใหม่ให้รับทราบ
สำหรับร่างกฎกระทรวงฯนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ต้องการจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดิน และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ มีดังนี้
กำหนดบทนิยาม เช่น “ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กำหนดกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิฯ ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้สิทธิในที่ดินตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก (ผู้สืบสันดาน, พี่น้องร่วมบิดามารดา, พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา, ปู่ย่าตายาย, ลุงป้าน้าอา) รวมทั้งได้กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม กรณีไม่มีทายาทโดยธรรมหรือไม่ประสงค์จะรับสิทธิในที่ดิน ให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของ ส.ป.ก.
- ทายาทโดยธรรมหรือผู้จัดการมรดก ต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์ให้ ส.ป.ก. จังหวัดท้องที่ตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อออกหนังสือรับรองการโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาทโดยธรรมไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบการแบ่งแยกหรือโอน
- ทายาทโดยธรรมที่ได้รับที่ดินดังกล่าว หากใช้ที่ดินโดยฝ่าฝืน ส.ป.ก. จะแจ้งเตือนเป็นหนังสือ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ส.ป.ก.จะสั่งโอนสิทธิในที่ดินกลับคืน
การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ สามารถโอนสิทธิในที่ดินแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อชำระหนี้ทั้งหมด หรือบางส่วนได้ เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิฯ ยังคงเหลือที่ดินบางส่วนใช้ประกอบเกษตรกรรม และหลังจากที่ได้รับโอนสิทธิในที่ดิน จะต้องใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม และจะแบ่งแยกหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือนำไปให้บุคคลอื่นเช่าไม่ได้
- ผู้ได้รับสิทธิต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์ให้ ส.ป.ก. จังหวัดท้องที่ทราบว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเพื่อชำระหนี้กันจริง เพื่อให้มีหนังสือรับรองการโอนสิทธินำมาใช้ประกอบการแบ่งแยกหรือโอน
การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้ได้รับสิทธิฯ อาจแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินบางส่วน หรือทั้งหมดคืนให้ ส.ป.ก. โดยขอรับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น โดยต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยัง ส.ป.ก.จังหวัดท้องที่ พร้อมสำเนาหนังสือแสดงสิทธิหรือแผนที่แสดงที่ตั้งที่ดินโดยสังเขป
ทั้งนี้กรณีขอรับค่าตอบแทน จะต้องให้ ส.ป.ก. จังหวัดท้องที่จัดทำความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบเกี่ยวกับสภาพความเหมาะสมทางการเกษตรของที่ดิน และลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันเหนือที่ดิน รวมตลอดทั้งหนี้ที่เกิดกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. และราคาประเมินที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ
- ค่าตอบแทนจะจ่ายเฉพาะ “ค่าที่ดิน” เท่านั้น ไม่รวมค่าสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินอื่นที่ติดอยู่กับที่ดิน และสามารถหักค่าภาระผูกพันเหนือที่ดินหรือหนี้ที่เกิดกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก รวมทั้งหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ แต่ ส.ป.ก. จะรับผิดชอบแต่เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าที่ดินเท่านั้น
- ผู้ได้รับสิทธิจะต้องรื้อถอนทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่รื้อถอน ส.ป.ก. มีอำนาจเข้ารื้อถอนหรือขายทอดตลาด โดยให้เงินที่ได้มาตกเป็นของ ส.ป.ก.
- กรณีที่ที่ดินมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรม จากการกระทำความผิดของผู้ได้รับสิทธิดังกล่าว และไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ส.ป.ก.จะไม่รับคืนที่ดินก็ได้ หรือรับโอนคืนเฉพาะที่ดินที่มีสภาพที่เหมาะสม เพื่อนำไปจัดให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไป
- เมื่อผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวใช้ที่ดินโดยฝ่าฝืนและกำหนดค่าตอบแทนกรณีที่มีการใช้ที่ดินโดยฝ่าฝืน ให้จ่ายในราคา “ค่าเช่าซื้อ” ที่ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก.
สำหรับที่ดิน ส.ป.ก เป็นที่ดินในกรรมสิทธิของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่จัดสรรให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวเพื่อทำการเกษตรได้ โดยจะได้รับเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินชื่อ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งไม่สามารถซื้อขาย หรือโอนให้กับบุคคลอื่น แต่สามารถโอนสิทธิให้กับเฉพาะทายาทได้