การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินรวมจากงบประมาณ 10,727.78 ล้านบาท
ต่อในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม) วงเงินสูงถึง 56,321.07 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในอัตราไร่ละ 10,000 บาท มีรายละเอียดดังนี้
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2556/67 สำหรับกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดของกรอบวงเงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/27 จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
- กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2556/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
- วิธีการ กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2566/67 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท
- วงเงินงบประมาณ จำนวน 56,321.07 ล้านบาท จำแนกเป็น (1) งบประมาณ จ่ายขาดให้เกษตรกร แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และ (2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท (ชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.61 (ต้นทุนเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก + ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน) และค่าบริหารจัดการ (รายละ 5 บาท)
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,601.96 ล้านบาท ดังนี้
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงินจ่ายขาดรวมทั้งสิ้น 10,120.71 ล้านบาท จำแนกเป็น (1) ค่าฝากเก็บ 4,500.00 ล้านบาท (2) วงเงินชดเชย 2,177.01 ล้านบาท และ (3) กรณีมีการระบายข้าวโครงการฯ รัฐบาลจ่ายคืนและชดเชยให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 3,443.70 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินจ่ายขาดรวมทั้งสิ้น 481.25 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณจ่ายประจำปีต่อไป
สาระสำคัญ
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 55,038.96 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 44,437.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท ดังนี้
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (โดย ธ.ก.ส.)
- วิธีการ ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อตามโครงการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท
- ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก
- การระบายข้าวเปลือก กรณีที่มีการระบายข้าวเปลือกให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายค่าขนย้ายข้าวเปลือกที่ ธ.ก.ส. ตามวงเงินที่สำรองจ่ายและชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส.
- วงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 44,557.71 ล้านบาท จำแนกเป็นวงเงินสินเชื่อ 34,437.00 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,120.71 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าฝากเก็บ 4,500.00 ล้านบาท วงเงินชดเชย 2,177.01 ล้านบาท และกรณีมีการระบายข้าวโครงการฯ รัฐบาลจ่ายคืนและชดเชยให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 3,443.70 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณต่อไป
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 (โดย ธ.ก.ส.)
วิธีการ สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท คิดเป็นข้าวเปลือก 1 ล้านตันข้าวเปลือกและจำนวนสินเชื่อคงเหลือภายในระยะเวลาโครงการฯ ไม่เกินวงเงินสินเชื่อเป้าหมาย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 4.85 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5.875 ต่อปี) โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.85 ต่อปี
วงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 10,481.25 ล้านบาท จำแนกเป็นวงเงินสินเชื่อ 10,000.00 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาดเพื่อชดเชยดอกเบี้ย 481.25 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณต่อไป
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง ปี 2566/67 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และพิจารณาอนุมัติในหลักการ ดังนี้
- มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังของ ธ.ก.ส. จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 ภายในวงเงิน 19,250,000 บาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 ภายในวงเงิน 41,400,000 บาท รวมกรอบวงเงิน 60,650,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงิน 300,000,000 บาท เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการโดยใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งสถานะเงินกองทุนรวมฯ ณ วันต้นงวดปีงบประมาณ 2567 มีเงินปลอดภาระผูกพัน จำนวน 2,816,082,502.28 บาท จึงเห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กระทรวงพาณิชย์เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
- โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ) เห็นควรให้กรมการค้าภายในพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่และภารกิจของหน่วยดำเนินการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจหลักให้เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิต ดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายและความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำระบบหรือกลไกในการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนไม่ซ้ำซ้อน และทันต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของข้อมูลด้านการลงทะเบียนเกษตรกร จำนวนเกษตรกร ปริมาณผลผลิตต่อไร่ จำนวนพื้นที่เพาะปลูก จำนวนสถาบันเกษตรกร ตลอดจนพิจารณาดำเนินการในพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายอื่น
รวมทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อทำการเกษตร ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 และกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของมันสำปะหลังในพื้นที่ผิดกฎหมายหรือการลักลอบนำเข้ามาสวมสิทธิ์จากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตล่อดจนจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการดำเนินการเพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารงานอย่างถูกต้องครบถ้วนสำหรับประกอบการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เหมาะสมและยั่งยืน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีความเห็นว่าสำหรับโครงการในส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และรัฐบาลได้มีการชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นควรให้ พณ. และ ธ.ก.ส. ร่วมกันพิจารณาอัตราการชดเชยให้สอดคล้องกับภาระต้นทุนของ ธ.ก.ส. ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างแท้จริง โดยอยู่ในอัตราที่เท่ากันกับอัตราการชดเชยของมาตรการที่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันในสินค้าเกษตรอื่นและไม่ควรมากกว่าอัตราการชดเชยในอดีตที่ผ่านมาของโครงการในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และ ธ.ก.ส. ยังควรมีการติดตามและตรวจสอบการใช้สินเชื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างแท้จริง
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 และอนุมัติในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 จำนวน 2 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ประกอบด้วย โครงการสินเชี่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 ภายในวงเงิน 38,500,000 บาท
โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป
สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 26,670,000 บาท เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการโดยใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งสถานะเงินกองทุนรวมฯ ณ วันต้นงวดปีงบประมาณ 2567 มีเงินปลอดภาระผูกพัน จำนวน 2,816,082,502.28 บาท
จึงเห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กระทรวงพาณิชย์เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำระบบหรือกลไกในการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนไม่ซ้ำซ้อน และทันต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของข้อมูลด้านการลงทะเบียนเกษตรกร จำนวนเกษตรกร ปริมาณผลผลิตต่อไร่ จำนวนพื้นที่เพาะปลูก จำนวนสถาบันเกษตรกร ตลอดจนพิจารณาดำเนินการในพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายอื่น
รวมทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อทำการเกษตร ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 และกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ผิดกฎหมายหรือการลักลอบนำเข้ามาสวมสิทธิ์จากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการดำเนินการต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีความเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีความเห็นว่าสำหรับโครงการในส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และรัฐบาลได้มีการชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์และ ธ.ก.ส. ร่วมกันพิจารณาอัตราการชดเชยให้สอดคล้องกับภาระต้นทุนของ ธ.ก.ส. ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างแท้จริง โดยอยู่ในอัตราที่เท่ากันกับอัตราการชดเชยของมาตรการที่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันในสินค้าเกษตรอื่นและไม่ควรมากกว่าอัตราการชดเชยในอดีตที่ผ่านมาของโครงการในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และ ธ.ก.ส. ยังควรมีการติดตามและตรวจสอบการใช้สินเชื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างแท้จริง