ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ประเมินว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง โดยสถาบันการเงิน (สง.) ทั้งธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (specialized financial institution: SFIs) ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank retail lenders: NBRLs) และสหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) โดยรวมยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งแม้คุณภาพหนี้ด้อยลง
นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) ปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงการลดหนี้ (deleverage) ที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ นโยบายการค้าและนโยบายภาษีของประเทศต่าง ๆ ปัญหาเชิงโครงสร้างของบางภาคธุรกิจ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า ได้แก่
(1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงบางภาคธุรกิจที่ยังฟื้นตัวช้า มีปัญหาเชิงโครงสร้างและเผชิญกับการแข่งขันจากจีน ขณะที่ความเชื่อมั่นที่เปราะบางของนักลงทุนอาจนำไปสู่การขายสินทรัพย์ที่ทำให้ราคาปรับลดลง กระทบต่อฐานะของนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อย รวมถึงทำให้ต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดทุนและความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดอายุ(rollover risk) ปรับเพิ่มขึ้น
หากมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่การปรับตัวลงอย่างมากของราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศ (global asset price correction) จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและอาจนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์จากความตื่นตระหนก (panic asset selling) อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างมากได้
(2) ภาวะการเงินที่อาจตึงตัวมากขึ้นและส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยในปี 2567 ภาวะการเงินมีความตึงตัวขึ้น สะท้อนจากสินเชื่อที่ขยายตัวในระดับต่ำ และการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่หดตัว โดยมีสาเหตุทั้งจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลง การชำระคืนหนี้ และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ยืมบางกลุ่มที่สูงขึ้นทำให้ สง.ระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่ผู้กู้กลุ่มนี้
การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกา จะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการลงทุน การค้าและการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาในไทยมากขึ้น (import flooding) โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงและหาตลาดทดแทนได้ยาก รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises: SMEs) ที่มีปัญหาด้านการเข้าถึงสินเชื่อและความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานของธุรกิจเหล่านี้และรายได้ครัวเรือน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนลดลง
ขณะที่ สถาบันการเงินและนักลงทุนมีความระมัดระวังในการให้กู้แก่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งสภาพคล่องที่ลดลงของธุรกิจและครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าได้
(3) บริษัทขนาดใหญ่บางรายมีการก่อหนี้ในระดับสูง (highly leveraged large corporations: HLLCs) และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ แม้บริษัทขนาดใหญ่โดยรวมจะมีฐานะการเงินดีซึ่งระดับหนี้ที่สูงโดยเปรียบเทียบของ HLLCs เกิดจากสถาบันการเงินและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการชำระหนี้ของ HLLCs ที่ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานดี จึงยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นการสะสมความเปราะบาง ทำให้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยง(negative shocks) ของบริษัทลดลง โดยเฉพาะ HLLCs ที่มีระดับหนี้สูง มีรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
หากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการชำระหนี้ของHLLCs บางรายแก่เจ้าหนี้ที่มีทั้ง สถาบันการเงินและผู้ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีทั้งนักลงทุนสถาบันและบุคคลธรรมดา และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ฝากเงิน รวมถึงอาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้หากความเชื่อมั่นลดลงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทมีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและการเงินสูง
(4) ฐานะการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (developer) บางรายที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด หลังจากที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการชะลอตัวต่อเนื่องและฟื้นตัวช้า โดยในปี 2567 ภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบกับอุปสงค์ที่ลดลงตามกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะผู้กู้ที่มีฐานะการเงินเปราะบาง สะท้อนจากอุปทานคงค้างที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท อีกทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและอุปสงค์ของอาคารชุดในระยะสั้น ทำให้ developer บางรายที่เน้นพัฒนาอาคารชุดเป็นหลักอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (reputation risk) และการระบายอุปทานคงค้างของอาคารชุดที่อาจทำได้ยากขึ้น
หากอาคารได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้โดย developer บางรายที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้วในช่วงก่อนหน้า อาจมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ทำให้ความเสี่ยงในระบบการเงินปรับเพิ่มขึ้นได้
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้มีการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจการเงินที่จะมีต่อลูกหนี้ ทั้งมาตรการชั่วคราวเพื่อดูแลความเสี่ยงระยะสั้น ได้แก่
(1) มาตรการที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องเพื่อบรรเทาภาวะการเงินตึงตัวของลูกหนี้ ทั้งการคงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิตให้อยู่ที่ร้อยละ 81 มาตรการจ่ายตรงคงทรัพย์ ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งช่วยลดค่างวดและยกเว้นดอกเบี้ย หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ขอความร่วมมือ สถาบันการเงินในการพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผ่านการพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิตปรับเงื่อนไขวงเงินฉุกเฉินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลให้เกินกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด และพิจารณาช่วยเหลือสภาพคล่องและปรับเงื่อนไขสำหรับวงเงินทุกประเภท
(2) มาตรการเพื่อประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย ธปท. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ loan to value: LTV) เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูงได้บ้าง สอดคล้องกับที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 โดยมีผลถึง 30 มิ.ย. 69
(3) มาตรการเพื่อดูแลความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ได้แก่ การปรับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ceiling & floor) การปรับกรอบการเคลื่อนไหวของราคาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ระหว่างวัน (dynamic price band)
การห้ามการยืมหลักทรัพย์มาเพื่อขาย (short sell) และ การปรับขอบเขตสูงสุดของการเคลื่อนไหวของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสัญญาสิทธิล่วงหน้าที่อนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ (daily price limit) อีกทั้ง มีมาตรการระยะยาว เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่
(1) มาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งการเตรียมความพร้อมโครงการ Your Data ซึ่งเป็นกลไกในการรับส่งข้อมูลภายในและภายนอกภาคการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ ด้วยราคาที่เหมาะสม รวมถึงการเตรียมการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยง
ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นยังช่วยสนับสนุนให้ สง. ประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
(2) มาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการยกระดับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มความสามารถในการชำระหนี้และฐานะการเงินของผู้ออกตราสารหนี้ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดตราสารหนี้ อาทิ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (bondholder representative: BHR) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency: CRA) และที่ปรึกษาทางการเงิน (financial advisor: FA)
(3) มาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งการแก้หนี้เดิมที่มีปัญหาและการวางกรอบแก้หนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับความไม่แน่นอนด้านรายได้ในอนาคตมากขึ้น โดยมีการปรับเงื่อนไขมาตรการช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ให้สามารถช่วยลูกหนี้ได้มากขึ้น และออกมาตรการ จ่าย ปิด จบ ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย เพื่อให้ลูกหนี้ปิดบัญชีหากชำระหนี้บางส่วน สำหรับหนี้เสียที่ยอดคงค้างไม่เกิน 5,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงินผ่านการกระตุกพฤติกรรม ตลอดวงจรหนี้
ที่มา: รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ปี 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
แค่เจรจาไม่พอ! ธปท.จี้รัฐบาลรับมือระยะยาวภาษีทรัมป์
นโยบายภาษีทรัมป์: คว่ำภูมิทัศน์การค้าโลก ทำเศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย