สหรัฐอเมริกาจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% เพราะมองว่าไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เอาเปรียบสหรัฐฯ จากเกินดุลการค้าจำนวนมากและเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีได้สำเร็จ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะกระทบภาคส่งออกไทยอย่างหนัก เพราะไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนจีดีพี (GDP) ค่อนข้างสูงที่ 10%
รัฐบาลไทยจึงขอเจรจากับสหรัฐฯ โดยส่ง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนไปเจรจา โดยมีกำหนดเข้าเจรจากับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ วันที่ 23 เม.ย. 68 ซึ่งไทยเตรียมกรอบการเจรจาไว้ 5 แนวทาง คือ 1 การเน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 2. การเปิดตลาดสินค้าเกษตรเช่น ข้าวโพด ให้สหรัฐ โดยใช้โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น 3. การเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ เช่น ก๊าซธรรมชาติและเครื่องบินพาณิชย์ 4. การคัดกรองสินค้าส่งออกเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม และ 5. การเพิ่มการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) แสดงความเห็นถึงแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ ของไทย ว่า โดยรวมแล้ว เห็นด้วยกับกรอบแนวทางในการเจรจาดังกล่าว และเห็นว่าน่าจะพอตอบโจทย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้บ้าง เพราะจะช่วยลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้ระดับหนึ่ง และที่สำคัญกว่านั้นคือ หลายเรื่องในกรอบการเจรจาก็เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยเองในหลายด้าน ไม่ว่าจะมีการเจรจากับสหรัฐฯ หรือไม่ก็ตาม
ทว่ามีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อแนวทางในการเจรจา และการกำหนดนโยบายที่จะตามมาของรัฐบาลไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว มากกว่าการแก้ไขวิกฤติการค้าเฉพาะหน้า ดังนี้
ปรับโควตานำเข้าสินค้าเกษตร
การเปิดตลาดและลดภาษีในสินค้าเกษตร แนวทางของรัฐบาล คือ ไทยจะเปิดตลาดและลดภาษีสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดจากสหรัฐฯ โดยใช้ “โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น” เพื่อรักษาสมดุล ไม่ให้กระทบผู้ผลิตในประเทศ
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ คือ การปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทยเป็นการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และต้องอาศัยการคุ้มครองด้วยโควตานำเข้า ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีความโปร่งใส และอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจเมล็ดพืช ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งมีเกษตรกรเป็นลูกค้า
ผลของการปลูกข้าวโพดในประเทศไทย ซึ่งภายหลังขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการเผาแปลงเกษตรในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศ ธนาคารโลกเคยประเมินว่า เฉพาะความเสียหายด้านสุขภาพของไทยจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละปีก็สูงถึง 45,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) หรือ 3.9% ของจีดีพี แล้ว
ดังนั้นการยกเลิกโควตาในการนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อทั้งการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและที่สำคัญคือสุขภาพของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการอยู่แล้ว
แต่การยกเลิกโควตานำเข้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย รัฐบาลจึงควรให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์ใช้เกษตรกรเป็นข้ออ้างในการขัดขวางการยกเลิกโควตาดังกล่าว
ในระยะเปลี่ยนผ่าน นโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาลไม่ควรเป็นการใช้ “โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น” เนื่องจากโควตาเป็นระบบที่มีปัญหามากในตัวเอง เพราะต้องพิจารณาว่าใครจะได้ผลประโยชน์จากโควตา ซึ่งเปิดช่องให้เกิดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการแสวงหาประโยชน์ และ “ความยืดหยุ่น” ที่มีอาจจะมากจนกลับไปเป็นโควตาแบบเข้มงวดได้อีกในอนาคต จึงควรเปลี่ยนโควตาเป็น “ภาษีนำเข้า” ซึ่งมีความโปร่งใสมากกว่า เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์น้อยกว่า และยังสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ
คุมการลงทุนต่างประเทศที่เลี่ยงภาษี
คัดกรองสินค้าส่งออก แนวทางของรัฐบาลไทยจะคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ คือ เป็นความจริงที่การสวมสิทธิ์สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สามให้กลายเป็นสินค้าไทย เพื่อหลบเลี่ยงภาษีในระดับสูงในการส่งออกไปสหรัฐ มีส่วนทำให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก จนเป็นเป้าหมายในการถูกเก็บภาษีนำเข้า
อย่างไรก็ตาม “การคัดกรองสินค้าส่งออก” เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย และอาจทำให้การส่งออกโดยรวมประสบปัญหาล่าช้าไปด้วย นอกจากนี้หากรัฐบาลมุ่งคัดกรองเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ไม่คัดกรองสินค้าที่ส่งออกไปตลาดอื่น เช่น ยุโรป ในอนาคตสินค้าไทยก็อาจจะเป็นเป้าหมายในการกีดกันการค้าจากตลาดดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมกว่าและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางคือ “การคัดกรองการลงทุน” ที่ย้ายมาประเทศไทยเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของประเทศปลายทาง เช่น สหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจำนวนมากมาดำเนินการเล็กๆ น้อยๆ ในประเทศไทยก่อนจะส่งออกไปปลายทาง ทั้งนี้การลงทุนที่ทำให้เกิดปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นการลงทุนที่ได้รับการ “ส่งเสริม” จากรัฐบาลไทยด้วย
ดังนั้น บีโอไอควรใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้การส่งเสริมเฉพาะโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยอย่างแท้จริง เช่น สร้างงานรายได้ดีจำนวนมากแก่คนไทย คุ้มค่ากับภาษีที่ยกเว้นหรือลดหย่อนให้
การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการค้า โดยทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าต่อสหรัฐลดลง สินค้าที่ผลิตในไทยอย่างแท้จริงไม่ตกเป็นเป้าหมายที่ถูกเก็บภาษีในระดับสูง และช่วยให้ประเทศไม่สูญเสียรายได้ภาษีจากการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพียงพอ
นอกจากคัดกรองการลงทุนใหม่แล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบและเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ออกไปแล้ว หากพบว่าโรงงานถูกใช้ในการสวมสิทธิ์เพื่อส่งออก ตลอดจนเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานที่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น เหล็กที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือโรงงานที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอุบัติเหตุโรงงานบ่อยครั้ง
แทนที่จะคัดกรอง “สินค้าส่งออก” ไปสหรัฐฯ อย่างเข้มข้นเพื่อประโยชน์ด้านการค้า รัฐบาลควรคัดกรอง “สินค้านำเข้า” มาไทยจากประเทศที่มีประวัติการผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีสารตกค้างในระดับสูงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น ผักและผลไม้จำนวนมากที่ อย. เคยตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ก็ยังปล่อยให้นำเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยที่ถูกตัดราคาโดยไม่เป็นธรรม
ลดอุปสรรคการค้า-การลงทุน
รัฐบาลไทยใช้รายงานผลการประเมินการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า ประจำปี 2568 (National Trade Estimate 2025) ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เ ซึ่งประเมินอุปสรรคทางการค้าของไทย เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดกรอบการเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่ยังไม่ได้พิจารณาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนของไทยในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญมากที่ระบุในรายงานดังกล่าว โดยรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนของไทยตามที่ระบุรายงานดังกล่าว เนื่องจากนอกจากจะช่วยในการเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเอง ดังนี้
ยกเลิกการให้สินบน 30% จากเงินค่าปรับจากการทำผิดกฎหมายศุลกากร ซึ่งเป็นเหตุให้มีกรณีที่เจ้าหน้าที่บางคนแสวงหาผลประโยชน์ในทางไม่ชอบ โดยการยกเลิกสินบนดังกล่าวจะทำให้ระบบศุลกากรของไทยมีความโปร่งใสมากขึ้นและเอื้อต่อการทำธุรกิจของประชาชน
ทบทวนกฎระเบียบด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าในหมวดปศุสัตว์ ซึ่งถูกสหรัฐตั้งข้อสังเกตมาก และหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไทยเคยร้องเรียน โดยทบทวนให้กฎระเบียบเหล่านั้นอยู่บนพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนบทบัญญัติและกระบวนการออกกฎระเบียบ เช่น สหรัฐฯ ชี้ว่าไทยประกาศใช้กฎระเบียบทั้งที่การรับฟังความคิดเห็นต่อกฎระเบียบนั้นยังไม่เสร็จสิ้น
เปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะบริการโทรคมนาคมให้แก่สหรัฐและประเทศอื่น เพื่อเพิ่มการแข่งขันในสาขาดังกล่าว ซึ่งมีการควบรวมกิจการ ทำให้ค่าบริการแพงขึ้นจากการแข่งขันที่ลดลง และควรปฏิรูปกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ใช้มานาน โดยเปลี่ยนจากแนวทางที่ให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจบริการได้เฉพาะที่ระบุไว้ (positive-list approach) มาเป็นการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจบริการได้ทั้งหมด เว้นแต่ที่ระบุห้ามไว้ (negative-list approach)
ขยายขอบเขตของการลดภาษีและเลิกโควตานำเข้ากับสินค้าอีกหลายรายการ เช่น กาแฟ ซึ่งทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมคั่วเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีสำหรับธุรกิจ Specialty Coffee ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วจากประเทศในอาเซียนที่สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี
หากรัฐบาลดำเนินนโยบายได้อย่างเหมาะสมตามข้อเสนอข้างต้น ประเทศไทยจะไม่เพียงแก้ไขปัญหาวิกฤติการส่งออกเฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่ แต่จะยังสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในบางด้าน ซึ่งทำได้ยากในสถานการณ์ปกติ แต่สามารถทำได้ในสถานการณ์พิเศษเช่นในปัจจุบัน
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง