สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ได้เผยแพร่มติการขับเคลื่อน “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” หรือ Mental well-being system for non-violent Thai society โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตความรุนแรงและปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบและมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
โดยหยิบยกข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่รวบรวมเกี่ยวกับการรับแจ้งและจับกุมกลุ่มคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเพศ ปี 2564 พบว่า สังคมไทยมีอัตราผู้กระทำความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นต่อปีถึง 1,342 คน และความรุนแรงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจนกลายมาเป็นการระบาดความรุนแรงในสังคมไทย
ความรุนแรงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์
ปัญหาการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กำลังแพร่หลายและมีอิทธิพลอย่างมาก เช่น การสร้างความเกลียดชังด้วยคำพูด (Hate Speech) การระรานและข่มขู่ในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ซึ่งส่งผลให้เกิดการแบ่งแยก กีดกัน คุกคาม อับอาย และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งกความรุนแรงเหล่านี้ถูกส่งผ่านและผลิตซ้ำผ่านโซเซียลมีเดียอย่างรวดเร็ว
โดยมีผลสำรวจดัชนีตัวชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก กลุ่มตัวอย่าง 44,000 คน จาก 450 โรงเรียนในประเทศ พบว่า
- เคยเกี่ยวข้องกับการรังแกบนโลกออนไลน์ถึงร้อยละ 48 (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอยู่ร้อยละ 33)
- เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์ถึงร้อยละ 41
- ในกลุ่มเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป เพศหญิงเคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์ร้อยละ 43 ขณะที่เพศชายอยู่ที่ร้อยละ 37
ความรุนแรงสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตาย
ความรุนแรงในสังคมไทยสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น ปี 2565 ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เผยข้อมูลว่า ไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 13 โดยอัตราสูงสุดอยู่ในวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 73.5 เป็นเพศชาย) ส่วนอัตราการพยายามฆ่าตัวตายพบสูงสุดในวัยเรียน อายุ 15 – 19 ปี จำนวน 224 ต่อแสนประชากร (ร้อยละ 73.2 เป็นเพศหญิง) เมื่อปรับใช้ฐานข้อมูลระบบใหม่ 3 ฐาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ โดยไม่ได้อ้างอิงแค่จากใบมรณบัตรเท่านั้น พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 8.1, 8.95 และ 10.08 ต่อแสนประชากรต่อปีตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
ดังนั้นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงเห็นว่า วิกฤตความรุนแรงและปัญหาสุขภาพจิต คือโจทย์ที่สังคมไทยต้องร่วมกันจัดการผ่านการมี “นโยบายสาธารณะ” เพื่อสร้างระบบสุขภาพจิตอันจะเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทยไร้ความรุนแรง
สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของผู้คน 4 กลุ่ม
1. สถานการณ์สุขภาพจิตเด็กและเยาวชน
เด็กและเยาวชนคือกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสุขภาพจิตมากที่สุด โดยมีข้อมูลสำคัญ คือ
- กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์การประเมินสุขภาพจิตคนไทยโดยกรมสุขภาพจิต ปี 2564 พบว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า มีความเครียดสูง เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยพบว่า ปี 2565 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยเรียนและวัยรุ่นเท่ากับร้อยละ 0.32 แม้จะต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ แต่อัตราการพยายามฆ่าตัวตายในวัยเรียนและวัยรุ่นเท่ากับ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศราว 5 เท่า และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับ 3 ของการ เสียชีวิตของวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปีอีกด้วย
- ยูนิเซฟร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำรวจผลกระทบวิกฤต โควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชน อายุ 15 – 19 ปี จำนวน 6,771 คน เมื่อเดือน มี.ค. – เม.ย. 2564 พบเด็กและเยาวชนถึงร้อยละ 70 มีความเครียด วิตกกังวล เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
- การสำรวจสุขภาวะนักเรียนจากงาน Global School-based Student Health Survey พบว่า ปี 2564 เด็กอายุ 13-15 ปี ร้อยละ 16.3 มีความกังวลในระดับที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับเพิ่มขึ้นจากกว่าทศวรรษก่อนเกือบ 3 เท่าตัว นอกจากนี้ยังประมาณการว่าวัยรุ่นอายุ 10 – 19 ปี 1 ใน 7 คน และเด็กอายุ 5 – 9 ปี 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิต รวมถึงการมีพัฒนาการผิดปกติ
- ฐานข้อมูลสุขภาพจิตโรงเรียนของ สพฐ. พบ เยาวชนที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์หรือสังคม ร้อยละ 31 เคยถูกรังแกออนไลน์ และร้อยละ 40 ไม่ได้บอกใครเกี่ยวกับการถูกรังแก
- ความรุนแรงในครอบครัว จากสถิติการให้บริการสายด่วน 1300 พบว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2565) เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งการทำร้ายร่างกาย การถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นการได้รับความรุนแรงจากที่อยู่อาศัยที่สัมพันธ์กับความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อตัวเอง
- สถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อความรุนแรง ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. พบว่า หลังประกาศล็อกดาวน์ สถิติความรุนแรงในครอบครัวระหว่างเดือน ต.ค. 2563 – ก.ค. 2564 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงสูงถึง 1,837 ราย
2. สถานการณ์สุขภาพจิตผู้ใหญ่และวัยทำงาน
- ในระดับโลกมีการจัดอันดับการศึกษาภาระโรคจิตเวชที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญของปีที่สูญเสียสุขภาวะจากความทุพพลภาพ พบว่า วัยทำงานเพศหญิง โรคซึมเศร้า อันดันที่ 1 และโรควิตกกังวล อันดับที่ 6 วัยทำงานเพศชาย โรคซึมเศร้าอันดับที่ 2 ความผิดปกติพฤติกรรมการใช้สารเสพติด อันดับที่ 7 ดื่มสุราจัด อันดับที่ 8 และโรควิตกกังวล อันดับที่ 11
- ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่และทำงานส่งผลกระทบต่อ ครอบครัว ชุมชน สังคม การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยวัยทำงานยังพบเจอปัญหาความรุนแรงจากการทำงาน การคุกคามทางเพศ ความเครียด และภาวะหมดไฟ (Burn out)
- ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยผลสำรวจ ปี 2565 พบว่า ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ 7 คนต่อวัน ในการเข้ารับบริการบำบัดรักษาทั้งสิ้น 30,000 คน พบว่าเป็นเด็กและเยาวชน ร้อยละ 60.6 วัยทำงาน ร้อยละ 30.9
- ความเครียดจากการทำงานส่งผลต่อสุขภาพจิต รายงานสุขภาพของคนไทย ปี 2566 พบว่า คนไทยใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันไปกับการทำงาน โดยลักษณะงานและสภาพแวดล้อมมีผลต่อสุขภาพจิต และจากการประเมินความสุขของคนทำงานในองค์กร ปี 2564 พบว่า กลุ่มคนทำงานมีระดับความสุขต่ำกว่ากลุ่มคนวัยอื่น
3. สถานการณ์สุขภาพจิตผู้สูงอายุ
- แนวโน้มผู้สูงอายุ มีความโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยสังคมผู้สูงอายุ และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบปี 2558 และ 2560 เพื่อดูอัตราความชุก อัตราอุบัติการณ์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความโดดเดี่ยว ในคนที่มีอายุมากกว่า 45 ปี พบว่า ในปี 2558 ร้อยละ 21.7 บอกว่ารู้สึกโดดเดี่ยว ขณะที่คนที่บอกว่าไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในปี 2558 ร้อยละ 22.2 บอกว่ารู้สึกโดดเดี่ยวในปี 2560 โดยมีผลมาจาก สถานะทางเศรษฐกิจ อาการซึมเศร้า การรับรู้สุขภาพของตนเอง
- ข้อมูลในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่าป่วยโรคสมองเสื่อม 10.2 คนต่อแสนประชากร และพบว่า 800,000 คน ใช้ชีวิตอยู่กับอาการคสามจำเสื่อม โดยร้อยละ 90 มีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย และพบว่าคนที่มีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน เสี่ยงต่อความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
- กลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.42 ต่อแสนประชากร แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่การฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าช่วงวัยอื่น
- งานวิจัยเรื่องการปรับตัวเข้าสู่สังคม ปี 2561 พบว่าผู้สูงอายุไทยมีความสุขทางกายและใจดี แต่มีความสุขทางเศรษฐกิจต่ำ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องรายได้ และความมั่นคงทางการเงิน
4. สถานการณ์สุขภาพจิตกลุ่มคนเปราะบาง
โดยในแต่ละกลุ่มที่ทำการศึกษาเผชิญปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน ดังนี้
- กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ พบข้อมูลที่ศึกษาโดย คิด for คิดส์ กลุ่มคนที่นิยามเพศสภาพตัวเองว่าเป็น LGBTQIAN+ เจอปัญหาจากการไม่ยอมรับ การต่อต้านอย่างรุนแรง การถูกทำร้าย กดขี่ด้วยความรุนแรง การกลั่นแกล้ง การเลือกปฏิบัติ ทั้งจากครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง
- ผู้หญิง จากอิทธิพลชายเป็นใหญ่ ข้อมูลศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 – 2565 พบว่ามีคนที่ถูกใช้ความรุนแรงและเข้ามารับการรักษาถึง 80,272 ราย โดยร้อยละ 90 เป็นเพศหญิง แบ่งเป็น ความรุนแรงด้านร้างกาย ทางเพศ และทางจิตใจ ตามลำดับ ซึ่งเป็นความรุนแรงที่เกิดจากคนใกล้ตัว และครอบครัว นอกจากนี้ผู้หญิงยังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตที่ทับซ้อนทางเพศกับความพิการ โดยรายงานปัญหาต่อเด็กและผู้หญิงพิการปี 2564 โดยสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และ สสส. พบว่า การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการร่วมกับทัศนคติเรื่องชายเป็นใหญ่ทำให้สตรีพิการรวมถึงเด็กพิการมีความเสี่ยงที่จะประสบกับความรุนแรงที่มีต่อเพศและที่มีต่อสภาพจิตใจและอารมณ์มากกว่าสตรีและเด็กที่ไม่พิการอย่างมีนัยสำคัญ
- กลุ่มคนไร้บ้าน จากรายงานผลการนับแจงคนไร้บ้านทั้งประเทศไทย เมื่อ 23 พ.ค. 2566 พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาติดสุรา เป็นปัญหาหรือลักษณะที่เด่นชัดที่สุด ขณะที่รายงานวิจัยการสำรวจข้อมูลประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้าน ในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เกี่ยวข้อง ปี 2559 พบว่าจุดร่วมของการกลายมาเป็นคนไร้บ้าน คือ 1. การมีปัญหากับคนในครอบครัว 2.มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 3. ปัญหาเรื่องงาน นอกจากนี้คนไร้บ้านยังถูกมองว่าเป็นภาระสังคม และเป็นปัญหาสังคมซึ่งสัมพันธ์กับความรุนแรงในสังคม
นโยบาย-แผนยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้อง
- ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
- พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562)
- แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2580)
- แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของกรมสุขภาพจิต
กรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ที่สมัชชาสุขภาพเสนอ
ความรุนแรงในสังคมไทยนับวันจะมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะในมิติหรือประเภทใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์และส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างซับซ้อน ในการสร้าง “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่คนสามารถมีสุขภาวะและทำให้สังคมโดยรวมมีความยั่งยืนทางสุขภาพจิต จำเป็นต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต” ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคล พฤติกรรม วิถีชีวิต การเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เป็นไปตามหลักสากล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีสำหรับทุกคนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ตามแนวทางการสร้างเสริม ป้องกันและคัดกรอง รักษา และฟื้นฟู รวมถึงปัจจัยสังคมและเศรษฐกิจกำหนดสุขภาพจิต ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงรุก กระจายทั่วถึง ไม่ตีตรา เข้าถึงตามขั้นการดูแลของกลไกในระบบสุขภาวะทางจิต สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม บริบทชุมชนพื้นที่ โดยคำนึงถึงกติกา พันธสัญญาและข้อตกลงทั้งในและระหว่างประเทศ
สาระสำคัญประกอบกรอบทิศทางนโยบาย
1. ระบบสุขภาวะทางจิต ประกอบด้วยกลไกในระดับต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่
-
- กลไกบ้านที่ขับเคลื่อนด้วยครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ด้วยความรู้และทักษะตามแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) และการเสริมพลัง (empowerment) เพื่อให้เป็นหน่วยของการสร้างเสริมและ ดูแลสุขภาวะทางจิตในบ้านที่ใกล้ตัวคนมากที่สุด
- กลไกชุมชนและสังคม รวมถึงสถานศึกษาและสถานประกอบการ ที่ขับเคลื่อนด้วยผู้มีความรู้และประสบการณ์สาขาต่าง ๆ ทั้ง นักจิตวิทยา นักดูแลสุขภาพใจ นักพัฒนาสังคม ผู้นำ ชุมชน อาสาสมัคร ผู้แทนทางศาสนา ครูและอาจารย์ อินฟลูเอนเซอร์ สื่อมวลชน ธุรกิจเอกชน เจ้าหน้าที่ ด้านความมั่นคง ผู้ที่มีประสบการณ์ความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตและข้ามผ่านความเจ็บป่วยมาได้แล้ว และกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันมีความรู้ ทักษะ เครื่องมือ งบประมาณ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ โครงสร้างโอกาสและเงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อต่อการทำงาน เพื่อให้เป็นหน่วยการสร้างเสริมและดูแล สุขภาพจิตของสังคมที่เข้าถึงประชากรทุกกลุ่มได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว บนวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และพื้นที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสม ตลอดจนมีบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจนในการสนับสนุนกลไกนโยบายและการบริการ ในระบบสุขภาวะทางจิตของประเทศ
- กลไกนโยบายและกฎหมายทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ที่มีลักษณะเชื่อมโยง สอดประสาน เน้นการมีส่วนร่วม และเอื้อการทำงานร่วมกับกลไกอื่น ๆ ทั้งที่เป็นกลไกของรัฐและที่ไม่ใช่ของรัฐ ตามหลักการทำงานแบบ เครือข่ายและการร่วมสร้างสรรค์ที่จะกระตุ้นการร่วมลงทุนทรัพยากรและรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของงานด้านสุข ภาวะทางจิต กลไกนี้คือหน่วยสำคัญของการบริการสุขภาพที่ดี โดยที่กลไกนโยบายควรดำเนินการตาม แนวทางจิตเวชและสุขภาวะทางจิตอย่างครอบคลุมและรอบด้าน
- กลไกการบริการสุขภาพจิตทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่ขับเคลื่อนด้วยบุคลากร องค์กร บริการ และนวัตกรรมตามแนวทางจิตเวช ที่มีกำลังคนที่มีคุณภาพ งบประมาณ ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีที่ เพียงพอ เหมาะสม ต่อเนื่อง และทั่วถึง
2. พัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร สร้างเสริมสุขภาพจิตที่เข้าถึงประชากรทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสในการมีส่วนร่วม เน้นความเห็นอกเห็นใจ ไม่ผลิตซ้ำและไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง ตลอดจนมุ่งลดอคติและการตีตรา
3. พัฒนาวิธีคิดและวิธีการในการค้นหา ทำความเข้าใจ และจัดทำข้อมูลพื้นฐานหรือลักษณะสำคัญทางสุขภาวะ ทางจิตของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน ตลอดจนปัจจัยและระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพื่อนำมาสู่การออกแบบระบบ มาตรการ แนวปฏิบัติ และวัฒนธรรมการส่งเสริมและดูแลสุขภาพจิตเชิงรุกบนพื้นฐาน ความแตกต่างและปัจจัยเหล่านั้นในองค์กรและสถานที่ต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
4. มีมาตรการเฉพาะ กับกลุ่มประชากรที่มีโอกาสและแนวโน้มใกล้ชิดกับความรุนแรงและความเสี่ยงทางสุขภาพจิต หรือประชากรที่มีสภาวะเปราะบาง โดย
- ลงทุนและให้คุณค่ากับโครงสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมสำหรับกลุ่มประชากรเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเติบโต มีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดี และป้องกันวัฏจักรของความรุนแรงอย่างมีส่วนร่วม
- สร้างเสริมสุขภาพจิตและการเยียวยาบาดแผลทางใจในกลุ่มประชากรเปราะบาง อาทิ เด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ ผู้เข้าถึงอาวุธร้ายแรง และผู้ต้องขัง เป็นต้น เนื่องจากกลุ่มประชากรเปราะบางเหล่านี้มีโอกาสและแนวโน้มใกล้ชิดกับความรุนแรงและความเสี่ยงทางสุขภาพจิตมากเป็นพิเศษ ซึ่งต้องการมาตรการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพจิตบนความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกันเป็นการเฉพาะ อาจมีการพัฒนากลไกเฉพาะทางในการดูแลแผลทางใจและคืนขวัญ
5. ยกระดับและเสริมพลังกลไกประสานและขับเคลื่อนในระดับชาติและระดับพื้นที่ที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2511 ระดับจังหวัด และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เป็นต้น อย่างเป็นระบบบนฐานวิชาการ มีกองทุนสนับสนุนที่ต่อเนื่องตามหลักการสานพลัง-สานเสวนา และการร่วมสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิตในระยะยาว
6. ส่งเสริมและพัฒนาการฝึกทักษะและความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตในชีวิตประจำวัน ผ่านหลักสูตรการศึกษา ระบบการทำงาน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ระบบสุขภาวะทางจิตทำหน้าที่เสมือน “ตาข่าย” รองรับและดูแล จิตใจของคนไม่ให้ร่วงหล่นจนถึงจุดที่เกินเยียวยา พร้อมกับคุ้มครอง ผลักดันและเสริมหนุนความแข็งแรงให้กับ สุขภาพจิตของคนไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ระบบสุขภาวะทางจิตต้องเป็นส่วนเสริมหนุนการบริการสุขภาพจิตของประเทศ ที่มีอยู่ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและสอดรับกับนโยบายด้านสุขภาพจิตของประเทศ ดังนั้น การมีระบบสุขภาวะ ทางจิตเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญนโยบายหนึ่งเพื่อการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง
แหล่งอ้างอิง