ประเทศไทยได้ปรับปรุงการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution – NDC) เพื่อเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 (เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐาน) ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608
แต่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า เป้าหมายดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่กำหนด เช่น กัมพูชา ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593, อินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2603, สปป.ลาว ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593, มาเลเซีย ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593, สิงคโปร์ ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593 และ เวียดนาม ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593
โดยแผนพลังงานชาติสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้และกำหนดแนวทางในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน แผนสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของไทย ได้แก่ แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และแผนอนุรักษ์พลังงาน แผนเหล่านี้กำหนดเป้าหมายเฉพาะสำหรับการผลิตพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานหมุนเวียน และการลดความเข้มข้นของพลังงาน
กำหนดราคาคาร์บอนเครื่องมือเชิงนโยบายลดโลกร้อน
การกำหนดราคาคาร์บอนนั้น เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้กำหนดนโยบายที่กำหนดราคาคาร์บอนจะต้องพิจารณาทางเลือกระหว่างภาษีคาร์บอนและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems – ETS)
ซึ่ง ETS คือ การที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ในรูปของ “สิทธิ” โดย 1 สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq) และอายุของสิทธิ์จะมีอายุ 1 ปี หรือขึ้นกับภาครัฐเป็นผู้กำหนด หากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซฯ ต่ำกว่าจำนวนสิทธิที่ได้รับการจัดสรร ก็สามารถขายสิทธิที่เหลือแก่โรงงานอุตสาหกรรมอื่นได้ ในทางกลับกันหากปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินสิทธิที่ได้รับ ก็ต้องซื้อสิทธิจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ถือเป็นระบบที่จำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน
การออกแบบนโยบายทั้ง 2 แบบนี้ มีความซับซ้อนเนื่องจากต้องพิจารณาหลายประการ ได้แก่ ความครอบคลุมของภาคส่วนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับราคา ความสัมพันธ์กับเครื่องมือบรรเทา ผลกระทบต่าง ๆ ความยาก-ง่ายในการบริหารจัดการ การใช้รายได้เพื่อจัดการกับประสิทธิภาพและวัตถุประสงค์ในการกระจาย ข้อกังวล ด้านความสามารถในการแข่งขัน และความเสี่ยงทางการเมือง
ไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้เริ่มขั้นตอนแรกในการดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่โดดเด่นในประเทศไทย ได้แก่ แผนระบบการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการคิดอัตราภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะ และโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะ และความพร้อมด้านการอนุรักษ์ป่า REDD+
การบูรณาการนโยบายเหล่านี้เข้ากับแผนการพัฒนาที่มีอยู่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แม้ว่าปัจจุบัน ไทยจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการค้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ หรือตลาดการกำหนดราคาคาร์บอน แต่การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ของไทยก็เปิดกว้างต่อกลไกดังกล่าว โดยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในความร่วมมือระดับสากล ซึ่งแผนการกำหนดราคาคาร์บอนทั้งในประเทศและต่างประเทศของไทยสามารถพัฒนาขึ้นจากตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในปัจจุบันที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558
สำหรับการกำหนดราคาคาร์บอนสองรูปแบบหลัก ทั้งภาษีคาร์บอน และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETSs) แต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ภาษีคาร์บอนนั้นดำเนินการได้ง่ายและไม่ต้องมีการพัฒนาเชิงสถาบันมากนัก อย่างไรก็ตาม ETS มีความเป็นไปได้ทางการเมืองมากกว่าในบางประเทศ และไทยสามารถต่อยอดจาก ETS ภาคสมัครใจที่มีการดำเนินการอยู่แล้วได้ หรือนโยบายแบบผสมผสานก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งทางเลือกใดจะเหมาะสมกับไทยมากที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความครอบคลุมรายสาขาของนโยบายและศักยภาพในการใช้รายได้ที่สร้างขึ้น
ภาษีคาร์บอนสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล ขณะเดียวกัน ETS ก็อาจสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลมีการประมูลส่วนลดทางการค้าในขั้นต้น รายได้จากเครื่องมือเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นทุนสำหรับนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ได้ หรืออาจใช้เพื่อชดเชยผลกระทบเชิงลบบางประการของการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น ครัวเรือนเปราะบางหรืออุตสาหกรรมที่เปิดกว้างทางการค้า เพื่อนำไปลดภาษีประเภทอื่น ๆ สนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐ หรือเพื่อลดระดับหนี้สาธารณะของประเทศ
อุปสรรคกำหนดราคาคาร์บอนของไทย
แบบจำลองของธนาคารโลก พบว่าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการกำหนดราคาคาร์บอนได้มากขึ้น แต่จำเป็นต้องมีนโยบายเพิ่มเติมสำหรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บรรลุได้ยาก เนื่องจากราคาคาร์บอนอาจจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระยะยาวนั้น จากแบบจำลอง ชี้ให้เห็นว่าราคาคาร์บอนเล็กน้อยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี พ.ศ. 2573 นั้น จะไม่เพียงพอสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากได้ ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มเติม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ EV หรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จึงจำเป็นเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้การรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้คงที่โดยใช้เครื่องมือกำหนดราคาคาร์บอน ไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง
โดยในแบบจำลอง ใช้รายได้จากการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อลดการจัดเก็บภาษีจากการจ้างงานและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนที่จะนำไปสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลนรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกรณีฐาน
ในขณะที่การเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าจะช่วยลดต้นทุนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าเทคโนโลยีการผลิตพลังงานอื่น ๆ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยเพิ่มการลงทุน ซึ่งเป็น การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และในที่สุดการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศอาจช่วยปรับดุลการค้าของไทย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม เครดิตการลดการปล่อยก๊าซในระดับโครงการอาจเป็นแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศที่สำคัญของไทยในอนาคต แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่เครื่องมือการกำหนดราคาคาร์บอนในระดับมหภาคและสาขาต่าง ๆ แต่เครดิตการลดการปล่อยก๊าซ (ERC) ในระดับโครงการก็สามารถนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยกับตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศได้ โดยค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการจัดตั้งโครงการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสูงนัก และเครดิตการลดการปล่อยก๊าซ (ERC) สามารถสร้างแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศที่สำคัญที่เอื้อต่อการลงทุนระดับโครงการในประเทศไทยรวมถึงการปลูกป่าด้วย ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าในอนาคตจะนำเครดิตการลดการปล่อยก๊าซ (ERC) มาใช้ในประเทศไทยอย่างไร
ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องพิจารณาบทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รายงานฉบับนี้พบว่าประเทศไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ยากที่สุดในการจัดทำเครื่องมือนโยบายการกำหนดราคาคาร์บอนที่ครอบคลุมแล้ว แต่ยังเผชิญกับความซับซ้อนบางประการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอน โดยคำถามสำคัญยังคงต้องได้รับการพิจารณาได้แก่
- ประเทศไทยควรจะมีการกำหนดราคาคาร์บอนในรูปแบบใด
- สาขาเศรษฐกิจใดที่ควรรวมอยู่ในโครงการกำหนดราคาคาร์บอน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการกำหนดราคาคาร์บอนอาจมีอยู่อย่างมาก เนื่องจากการกำหนดราคาคาร์บอนมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ลดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ขณะเดียวกันก็ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
นโยบายมหภาคและนโยบายสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่อาจทำให้ความเป็นไปได้และประสิทธิผลของภาษีคาร์บอนและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETSs) ลดลง เช่น หากยังคงมีการอุดหนุนราคาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบัน (ดีเซล และก๊าซหุงต้ม) จะทำให้การกำหนดราคาในตลาดมีความสับสน และลดประสิทธิภาพของการกำหนดราคาคาร์บอน ดังนั้นการยกเลิกการกำหนดเพดานราคาและการอุดหนุนราคาพลังงานในปัจจุบันจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดราคาคาร์บอนในสาขาเดียวกัน
เวิลด์แบงก์เสนอตั้ง CME ส่งออกคาร์บอนเครดิตไทย
นอกจากนี้การกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วขึ้น อาจทำได้อีกทางหนึ่งก็ คือ การทำโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งหากองค์กรใดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ต่ำกว่ากรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปกติ หรือมีการดำเนินการที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จากกรณีการดูดซับปกติ ปริมาณที่ปล่อยได้ลดลงหรือปริมาณที่ดูดซับได้เพิ่มขึ้นนั้น จะเรียกว่า คาร์บอนเครดิต โดยสามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประกอบการหรือองค์กรด้วยความสมัครใจ ผ่านตลาดซื้อขายกลางได้
ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลก ผู้รับผิดชอบประเทศไทย ระบุว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการลดคาร์บอนนั้น ธนาคารโลกพยายามจะส่งเสริมให้คนที่มีต้นทุนต่ำเป็นผู้ลด ถ้าหากมีการปลูกป่าที่ไม่ได้ใช้ต้นทุนมาก แต่ป่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้ ซึ่งคาร์บอนที่ลดได้ดังกล่าวจะถูกนำมาคิดเป็นเครดิตคาร์บอน โดย 1 ตันของคาร์บอน จะเท่ากับ 1 คาร์บอนเครดิต
หากเราใช้ต้นทุนไป 5 บาท ก็อาจจะนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนต่ำ ซึ่งอาจต้นทุนสูงถึง 50 บาท ดังนั้นหากโรงงานเหล่านี้ใช้เงินแค่ 30 บาท เพื่อมาซื้อคาร์บอนเครดิตของเราที่ลงทุนไปแค่ 5 บาท ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า เพราะการลดคาร์บอนใช้ต้นทุนทางการเงินสูง หากอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม วิธีนี้จะใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ากว่า
ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป รัฐบาลจะใช้มาตรการทางภาษีกระตุ้นเกิดแรงจูงใจให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมลดก๊าซเรือนกระจก แต่ประเทศไทยไม่ได้มีเงินจำนวนมากที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเหมือนสหรัฐฯและยุโรป
ธนาคารโลกได้มีการพูดคุยกับรัฐบาลไทย เตรียมเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน CME (Coordinationg & Managing Entity) เพื่อรวบรวมคาร์บอนเครดิตในประเทศ และส่งออกไปขายในต่างประเทศ โดยธนาคารโลกจะเข้ามาช่วยดูคุณภาพของคาร์บอนเครดิตให้ปราศจาก Green Washing (การฟอกเขียวธุรกิจ) และได้ระดับมาตรฐานระดับสากล International Registry เช่น Verra และ Gold standard จากนั้นช่วยประสานหาผู้ซื้อให้ในตลาดต่างประเทศ
ซึ่งเงินที่ได้จากการส่งออกคาร์บอนเครดิตดังกล่าวก็จะเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยให้ลดก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้มาตรการทางภาษีบังคับมากจนเกินไป อีกทั้งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน กรีนคาร์บอน (Green Carbon) อีกด้วย
เมื่อต้นปี 2567 ธนาคารโลกเพิ่งได้ช่วยประเทศเวียดนาม นำคาร์บอนเครดิตป่าไม้ส่งไปขายในตลาดต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าที่ขายได้จำนวน 51.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง