โลกกำลังเผชิญสภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เนื่องจากมาจารกิจกรรมของมนุษย์เป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิโลกร้อนมากขึ้น ทำให้หลายประเทศได้ร่วมกันดำเนินนโยบาย ด้วยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อหวังชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากภาครัฐแล้ว ฝั่งภาคเอกชนก็เป็นผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน และลดผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนได้ ภายใต้การกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในรูปแบบธุรกิจ Net Zero เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ใช้พลังงานสะอาด การปลูกป่าหรือพัฒนาเทคโนโลยีดูดซับ/กักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
คาร์บอนเครดิตคืออะไร?
คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงาน นำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
สำหรับคาร์บอนเครดิตมีหลายประเภท
- คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่มีการลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Reduction/Avoidance Projects) เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงกว่ากรณีปกติ
- คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากักเก็บไว้ (Carbon Removal Projects) เช่น การปลูก ดูแลรักษา หรือฟื้นฟูป่าไม้, BioEnergy with Carbon Capture and Storage (BECCS), Direct Air Carbon Capture (DAC), Direct Ocean Capture (DOC) เป็นต้น
ทำคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการ T-VER
ปัจจุบันการได้มาซึ่ง คาร์บอนเครดิต ของประเทศไทยจะดำเนินผ่านการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือโครงการ T-VER ที่พัฒนาโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ TGO มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า
ทั้งนี้คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการ T-VER สามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง หรือขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง
ประโยชน์ของโครงการ T-VER
- ลดประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
- เพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จากการปลูกต้นไม้ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า
- สามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรได้
- สามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยการปล่อนก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ผลิตภัณฑ์ งานอีเว้นท์ และบุคคลได้
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร
6 หลักการสร้างความน่าเชื่อถือคาร์บอนเครดิต
หลักการพื้นฐานสำคัญที่ใช้วางแผนและดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการคำนวณ ติดตามผล และทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ประกอบด้วย
1. ความตรงประเด็น หมายถึงมีการเลือกแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก แหล่งเก็บกักก๊าซเรือนกระจก ข้อมูล รวมถึงวิธีการวัด และการคำนวณที่เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่รวบรวมหรือประเมินได้นั้น ควรจะสะท้อนถึงปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในขอบเขตของโครงการ หรือที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
2. ความสมบูรณ์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทำการเก็บรวบรวม หรือประเมินข้อมูลได้ เป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตของโครงการ หรือ เกี่ยวข้องกับโครงการมีการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาสนับสนุนหลักเกณฑ์และกระบวนการอย่างครบถ้วน
3. ความสอดคล้อง หมายถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวม หรือคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก จะต้องมาจากการดำเนินการตามหลักการเดียวกัน คือ การเลือกใช้ข้อมูลในการคำนวณ การรายงานในเอกสารข้อเสนอโครงการ และรายงานการติดตามประเมินผลต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือใช้วิธีที่สอดคล้องกันตลอดของช่วงระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิต
4. ความถูกต้อง หมายถึง การใช้วิธีการรวบรวม หรือคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับ กล่าวคือ ข้อมูลในเอกสารข้อเสนอโครงการ และรายงานการติดตามประเมินผล ต้องมีการรายงาน และมีการเลือกใช้ข้อมูลในการคำนวณที่ถูกต้อง สอดคล้องกับการดำเนินการจริง และมีการเลือกใช้สมการตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง สามารถคำนวณผลซ้ำได้
5. ความโปร่งใส หมายถึง มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการ การรวบรวม หรือคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เพียงพอ และเหมาะสม สามารถตรวจสอบได้ กล่าวคือ ข้อมูลในเอกสารข้อเสนอโครงการ และรายงานการติดตามประเมินผล มีที่มา แหล่งอ้างอิง หรือหลักฐานรองรับที่น่าเชื่อถืออย่างเพียงพอ และเหมาะสม สามารถคำนวณผลซ้ำได้
6. ความอนุรักษ์ หมายถึง มีการใช้สมมติฐาน ตัวเลข และกระบวนการที่ทำให้การประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากโครงการไม่มากเกินไปกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ มีการใช้สมมติฐานการคำนวณ หรือการประมาณการข้อมูลกิจกรรมที่ใช้ในการคำนวณต้องมีการพิจารณาเปรียบเทียบวิธีต่าง ๆ และพิจารณาเลือกใช้ข้อมูลที่ส่งผลให้ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับไม่เกินจริง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกมากเกินกว่าความเป็นจริง
การประกันความน่าเชื่อถือของคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER
- กรอบการดำเนินโครงการ T-VER สอดคล้องตามาตรฐาน ISO 14064-2
- กรอบการตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ และการทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO 14064-3
- ผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัตรใจ (VVB) เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกำหนด และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อบก.
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ TGO