เป้าหมายของ “ยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคนสาธารณสุข” มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดอัตราการตายในโรคที่สำคัญ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง อุบัติเหตุฉุกเฉิน 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ กระจายตัวอย่างเหมาะสม และ 3.การรองรับสู่ Medical and Wellness Hub
Thai PBS Policy Watch ชวนลงรายละเอียดสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคน และภารกิจด้านบริการสาธารณสุข ฉบับนี้ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา
กำลังคนไม่พอในสาธารณสุขไทย
หากย้อนดูประเด็นปัญหากำลังคนในระบบสาธารณสุข ที่ผ่านมา Thai PBS Policy Watch พบว่ามีหลายมิติ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการและความยั่งยืนของระบบสุขภาพโดยขอสรุปสั้นๆ 6 ประเด็นดังนี้
- การขาดแคลนบุคลากร: จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและชนบท ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยาก
- การกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ: บุคลากรทางการแพทย์มักจะกระจุกตัวในเมืองใหญ่และพื้นที่ที่มีความเจริญ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ
- ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน: บุคลากรทางการแพทย์มักต้องทำงานในสภาวะที่มีภาระงานหนัก ไม่มีวันหยุดพักผ่อนเพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเครียดและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- การรักษาความรู้และทักษะ: การพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ต้องการการฝึกอบรมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่บางครั้งการเข้าถึงการฝึกอบรมเหล่านี้ยังไม่ทั่วถึง
- ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการผลิตและการใช้บุคลากร: ระบบการศึกษาทางการแพทย์ไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงาน
- อัตราการลาออกสูง: บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนลาออกจากระบบสุขภาพเพื่อไปทำงานในภาคเอกชนหรือไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อเสนองานที่ดีกว่า
แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ต้องมีการปฏิรูปเชิงนโยบายทั้งในระยะกลาง และระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ต่าง ๆ กระทรวงกลาโหม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ก.พ. สภาวิชาชีพ เป็นต้น
โดยยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนฯ มี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- เร่งพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคสำคัญ ครอบคลุมทั้งการผลิต พัฒนา ส่งเสริม และกำกับดูแล
- การพัฒนาระบบริการสาธารณสุขเชิงพื้นที่เป็นหนึ่งเดียว จัดระบบความร่วมมือภาครัฐเอกชนในพื้นที่
- การสนับสนุนส่งเสริมบริการสุขภาพที่มีศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
- การสร้างเสริมระบบกลไกการอภิบาลกำลังคนด้านสุขภาพให้เข้มแข็ง
แผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 วิชาชีพใน 10 ปี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนด้วยตัวเองหลายจังหวัด ทราบถึงปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ต้องทำงานหนัก ทำงานได้เงินไม่พอค่าใช้จ่าย จึงเห็นชอบยุทธศาสตร์ฯ ตามที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แผน 10 ปีเพื่อเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการดูแลด้านสาธารณสุข ทั้งหลักสูตรพยาบาล การเพิ่มผู้ช่วยพยาบาล การเพิ่มค่าตอบแทน โดยจะเป็นการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการในอัตราที่เหมาะสม
ในระยะเวลา 10 ปี การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจด้านบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขจะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.8 แสนล้านบาท ผลิตกำลังคนสาธารณสุขเพิ่ม 10 ปีใน 9 วิชาชีพ ประกอบด้วย
- แพทย์ อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:922 ตั้งเป้าหมาย 1:650 ผลิตเพิ่ม 33,074 คน
- ทันตแพทย์ อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:3,650 ตั้งเป้าหมาย 1:3,000 ผลิตเพิ่ม 4,106 คน
- เภสัชกร อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:2,735 ตั้งเป้าหมาย 1:1,966 ผลิตเพิ่ม 9,800 คน
- พยาบาล อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:316 ตั้งเป้าหมาย 1:200 ผลิตเพิ่ม 124,558 คน
- นักกายภาพบำบัด อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:4,792 ตั้งเป้าหมาย 1:2,000 ผลิตเพิ่ม 19,590 คน
- แพทย์แผนไทย อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1: 11,339 ตั้งเป้าหมาย 1:2,782 ผลิตเพิ่ม 18,169 คน
- นักรังสีเทคนิค อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:9,954 ตั้งเป้าหมาย 1:5,000 ผลิตเพิ่ม 7,364 คน
- นักสาธารณสุข อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:2,220 ตั้งเป้าหมาย 1:1,000 ผลิตเพิ่ม 36,993 คน
- นักเทคนิคการแพทย์ อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:4,793 ตั้งเป้าหมาย 1:2,804 ผลิตเพิ่ม 10,000 คน
หากเฉลี่ยเป็นรายปี ก็หมายความว่าจะต้อง ผลิตแพทย์ 4,000 คนต่อปี, ผลิตพยาบาล 15,000 คนต่อปี, ผลิตกายภาพบำบัด 2,000 คนต่อปี, ผลิตแพทย์แผนไทย 1,500 คนต่อปี เป็นต้น
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารงานบุคคลากรด้านสาธารณสุข จึงได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ข้าราชการ สธ.ออกจากก.พ. เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและความคล่องตัวมารองรับ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรไปพร้อมกัน
ไทยตั้งเป้า “ศูนย์การดูแลสุขภาพของโลก”
นอกจากการผลิตบุคคลากรเพิ่มแล้ว นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า ยุทธศาสตร์กำลังคนสาธารณสุขฯ จะต้องสนับสนุนการก้าวไปสู่ Medical and Wellness Hub ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 เรื่องหลักของวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เป็นประเทศไทยเป็นศูนย์การดูแลสุขภาพของโลก ควบคู่กับการยกระดับการให้บริการสาธารณสุขผ่านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
กรณีจังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับ Top 3 ของเมืองที่มีการให้บริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก ซึ่ง Numbeo จัดอันดับผลสำรวจความเห็นประชาชนกว่า 45,000 คนจาก 4,302 เมืองทั่วโลก เรื่องการรักษาพยาบาล มีทั้งคำถามที่เกี่ยวกับทักษะและความสามารถ และการให้บริการของของบุคลากรการแพทย์ ความสะดวกรวดเร็วในการได้รับการรักษา ความทันสมัยของเครื่องไม้เครื่องมือ
สำหรับเป้าหมายการเป็น ศูนย์การดูแลสุขภาพของโลก จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี จาก 1.33% หรือ 2.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 เป็น 1.7% หรือ 3.8 แสนล้านบาท ในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่ามี 9 สาขาวิชาชีพที่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ได้แก่
- เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
- การป้องกันและดูแลเส้นเลือดหัวใจ
- การรักษากระดูกข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ
- ทันตกรรม
- การรักษาผู้มีบุตรยาก
- การรักษาโรคมะเร็ง
- การปลูกถ่ายอวัยวะ
- การผ่าตัดหัวใจและการผ่าตัดทำบอลลูน
- ศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ
ทว่าการเป็น “ศูนย์การดูแลสุขภาพของโลก” ยังมีข้อกังวลว่า จะดึงบุคลากรสาธารณสุขซึ่งมีจำนวนจำกัดอยู่แล้วออกจากระบบ ไปอยู่กับเอกชนหรือไม่ จนอาจนำไปสู่ความเหลื่อล้ำในระบบสุขภาพ
เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกับ Thai PBS Policy Watch ว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว โดยการส่งเสริม Medical and Wellness Hub ไม่ใช่การเอาข้าราชการไปทำ แต่คือการส่งเสริม ออกกฎระเบียบ อำนวยความสะดวกออกใบอนุญาติ ส่งเสริมการลงทุน
อะไรที่ใช้คนของราชการ เราไม่ทำ แต่จะเราเปิดโอกาสให้เขาลงทุนกันได้ คือการออกระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ดึงคนออกจากภาครัฐ ไม่ต้องกลัว เอาเท่านี้แหละ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สธ. ออกจากระบบ ก.พ. แก้ปัญหาแพทย์-พยาบาล ขาดแคลน
- 30บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรใบเดียว เพิ่มเป็น 42 จังหวัด
- บัตรทองยุคหลังโควิด บริการได้วันละล้านทรานแซกชัน
- เช็ก 6 อาการป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP เข้ารพ.ได้ทุกแห่ง