ประเทศไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุด (Super-Aged Society) ซึ่งผู้สูงวัยเหล่านี้จำเป็นต้องมีเงินเพื่อยังชีพในช่วงบั้นปลายของชีวิต ดังนั้นการจัดสวัสดิการด้าน “บำนาญ” จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ
จุดเริ่มต้น “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ในประเทศไทย
ปัจจุบัน ไทยยังคงใช้ระบบแบบ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในช่วงแรกมีรูปแบบเป็นสวัสดิการสงเคราะห์เฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน โดยผู้สูงอายุจะได้เบี้ยยังชีพคนละ 200 บาทต่อเดือน และมีเงื่อนไขด้วยว่าต้องเป็นผู้สูงอายุที่ยากจนจริง ๆ
ต่อมาปี 2540 มีการปรับขึ้นเบี้ยยังชีพเป็น 300 บาทต่อเดือน แลเพิ่มเงื่อนไข คือ ต้องมีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ถูกทอดทิ้ง ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู
หลังปี 2549 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 500 บาท จนกระทั่งในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับเบี้ยยังชีพ จากอัตราคงที่เป็นแบบขั้นบันได 600-1,000 บาทตามช่วงอายุ และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือ ผู้ได้รับสิทธิต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และการปรับขึ้นอัตราเบี้ยยังชีพจะเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้เบี้ยยังชีพ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี ได้เบี้ยยังชีพ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี ได้เบี้ยยังชีพ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปี ขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ขึ้นนาน 10 ปี สวนทางค่าครองชีพพุ่งสูง
ความจำเป็นในการใช้จ่ายของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน เมื่อผลการศึกษาของกระทรวงการคลังร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า รายได้หลังเกษียณของผู้สูงอายุควรไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ถึงจะเพียงพอต่อการใช้จ่าย ดังนั้นหากในช่วงวัยทำงานมีรายได้ 50,000 บาท ก็ควรมีเงินเก็บที่เพียงพอประมาณ 25,000 บาท เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตให้ได้ใกล้เคียงกับช่วงวัยทำงาน
ผลวิจัยยังอีกพบว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นขั้นต่ำของผู้สูงอายุทั่วประเทศ อยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงสุดในปัจจุบันที่ได้เพียง 1,000 บาทต่อเดือน ถือว่าไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายขั้นต่ำ ท่ามกลางค่าครองชีพที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการปรับขึ้นเบี้ยยังชีพมานานกว่า 10 ปี และเส้นความยากจนก็เพิ่มสูงขึ้นในทุกปี
ความเหลื่อมล้ำ “งบสวัสดิการ” ข้าราชการสูงกว่าประชาชนหลายเท่า
งบประมาณของรัฐบาลที่จ่ายให้กับประชน ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เมื่อดูการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีงบประมาณสวัสดิการสังคมของประชาชน 4.49 แสนล้านบาท ที่ให้ประชาชน 66.2 ล้านคน ขณะที่งบประมาณสวัสดิการข้าราชการมี 4.89 แสนล้านบาท ให้ข้าราชการ 5.2 ล้านคน
และเมื่อเทียบงบประมาณในด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ พบว่างบประมาณสวัสดิการบำนาญข้าราชการอยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท มีผู้ได้รับ 8.1 แสนคน ขณะที่งบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีเพียง 8.2 หมื่นล้านบาท แต่มีผู้ได้รับมากถึง 11.3 ล้านคน
ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม อาจส่งผลให้งบประมาณสวัสดิการผู้สูงอายุถูกปรับลดลง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อง ๆ และอาจจะส่งผลต่องบประมาณสวัสดิการในด้านอื่น ๆ ด้วย
เปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเบี้ยบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณา หาเท็จจริง หรือศึกษา เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมไม่น้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน
ต่อมา กมธ.สวัสดิการสังคม มีการรายงานผลพิจารณาศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎร
โดยมองว่า สวัสดิการด้านบำนาญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ จึงควรเปลี่ยนสิทธิบำนาญขั้นพื้นฐานให้เป็นลักษณะถ้วนหน้า ให้ผู้สูงอายุถึงเกณฑ์เกษียณตามกำหนดของรัฐมีสิทธิได้รับทุกคน โดยเปลี่ยนจากการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ให้เป็น “การจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน” รวมถึงต้องให้สอดคล้องกับเส้นความยากจน
แนวคิดปรับการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐานประชาชน จะเริ่มต้นในงบประมาณ 2568-2570 ดังนี้
- ปีงบประมาณ 2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 1,200 บาท เป้าหมาย 12,274,889 คน รวมวงเงิน 1.76 แสนล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 2,000 บาท เป้าหมาย 12,721,695 คน รวมวงเงิน 3.05 แสนล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท เป้าหมาย 13,178,403 คน รวมวงเงิน 4.74 แสน ล้านบาท
เสนอช่องทางหางบประมาณจ่ายบำนาญคนชรา
ด้านการหางบประมาณ ภาครัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการและใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานประชาชนให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่มีสิทธิ ซึ่งการทำให้การจ่ายบำนาญพื้นฐานเป็นไปตามเป้าหมายนั้น จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการหาแหล่งงบประมาณ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และอาจเป็นภาระงบประมาณผูกพันในระยะยาว
กมธ.สวัสดิการสังคม จึงเสนอให้ใช้กลไกของกองทุนผู้สูงอายุในปัจจุบัน ช่วยแก้ปัญหาด้านงบประมาณ ประกอบกับหาแนวทางที่เป็นไปได้ในหลาย ๆ ด้านเพิ่มเติมด้วย เช่น
- ภาษีสรรพสามิตรเกี่ยวกับสินค้า สุรา ยาสูบ น้ำมันเชื่อเพลิง หรือยานพาหนะ
- เงินนำส่งจากการออกสลาก รางวัลค้างจ่ายพร้อมดอกผล
- ส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ และคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
- เงินนำส่งที่คลังได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน
- เงินบำรุงกองทุนที่ได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าที่ไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษตามกฎมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน
- ภาษีมรดก
นอกจากนี้ต้องมีการพิจารณาศึกษาที่มาของแหล่งรายได้ในอนาคตเพิ่มเติมด้วย เช่น
- รายได้จากการเก็บภาษีทางอ้อม
- การจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีบาป) จากธุรกิจกัญชา กระท่อม เป็นต้น
- ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเฉพาะการกำหนดให้มีการจำหน่ายสลากการกุศล เพื่อนำงบประมาณมาใช้เรื่องของบำนาญพื้นฐานประชาชน
- เงินบำรุงกองทุนที่ได้จากภาษีความมั่นคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีการได้ประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย)
- เงินบำรุงกองทุนจากการจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ภาษีคาร์บอนเครดิต ภาษีสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการอนุญาต ค่าธรรมเนียมการใช้ ค่าปรับ ค่าภาษีมลพิษ ใบอนุญาตปล่อยมลพิษ ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์
- เงินบำรุงกองทุนที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาตสถานบันเทิงครบวงจร (ผลสำรวจปี 2563 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าไทยมีประมาณเงินสะพัดในอุตสาหกรรมการพนันทั้งปีสูงถึง 357,275 ล้านบาท)
- เงินบำรุงกองทุนที่ได้จากภาษีการท่องเที่ยว ค่าธรรมเนียมวีซ่า
- เงินบำรุงกองทุนที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากการยึดทรัพย์สินที่มาจากการกระทำความผิดในอาญา โดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
- เงินบำรุงอื่น ๆ ที่กำหนดเป็นไปตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกำหนด
- การศึกษาข้อเสนอจากธนาคารโลก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ให้ปรับขึ้นเป็นอัตรา 10%
- ข้อเสนอของ กมธ.ที่ให้เรียกคืนที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์จากหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช้ประโยชน์ โดยให้นำที่ดินไปจัดหาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มจาก 9% ของที่ดินทั้งหมด รวมถึงการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ราชพัสดุที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมธนารักษ และการแก้ไขระเบียบการใช้งบกลางให้มีความเหมาะสม เฉพาะในบางรายการที่ไม่ฉุกเฉินหรือจำเป็น
แก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 2546 เร็วกว่าร่างกฎหมายใหม่
กฎหมายในการกำกับดูแลระบบการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐานประชาชน กมธ.มองว่าควรแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เพราะเป็นแนวทางที่ไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ง่าย และรวดเร็วกว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่ อีกทั้งเป็นกฎหมายแม่บทในการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุในเรื่องต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น
อีกทั้งเดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานดูแลใหม่ หรือจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีกองทุนผู้สูงอายุที่เป็นแหล่งเงินงบประมาณที่มีกฎหมายและระเบียบรองรับอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อรองรับระบบบำนาญพื้นฐานได้ในทันที
โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มาตรา 11 (11) ให้เป็นการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานเป็นรายเดือน (เดิมกำหนดว่าให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม) เพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ และกำหนดให้จ่ายในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กรณีที่ผู้สูงอายุได้รับสิทธิสวัสดิการอื่นจากรัฐที่มีการจ่ายคล้ายกับเงินบำนาญพื้นฐานนี้ ให้บุคคลนั้นสามารถเลือกรับสิทธิได้เพียงทางเดียว (เลือกรับระหว่างสวัสดิการอื่น หรือเงินบำนาญ) ยกเว้นผู้สูงอายุที่ได้สิทธิเบี้ยความพิการ, บำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และบำนาญจากกองทุนการออมแห่งชาติ
นอกจากนี้กำหนดให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงอัตราการจ่ายบำนาญทุก 3 ปี ซึ่งในระยะเริ่มแรกให้ ครม.พิจารณาปรับขึ้นบำนาญ โดยงมีอัตราต่ำกว่า หรือใกล้เคียงกับเส้นความยากจนตามที่ สศช.กำหนด ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายใน 3 ปี นับจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้
เป้าหมายสร้างความมั่นคงผู้สูงอายุ-ลดภาระคนวัยทำงาน
หากมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่..) พ.ศ. .. ฉบับนี้แล้ว กมธ.เชื่อว่าประชาชนผู้สูงอายุจะมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนวัยทำงาน สำหรับการส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้กับบุพการีที่สูงอายุด้วย รวมถึงยังเป็นการพัฒนาความคุ้มครองความยากจนของผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงแข็งแรกสำหรับสังคมที่ปรองดอง เป็นธรรม และยั่งยืน
ปัจจุบันรัฐบาลมีขั้นตอนและแนวทางการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้ว ดังนั้นการปฏิบัติให้เป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่..) พ.ศ. .. จึงไม่มีส่วนใดที่ยุ่งยาก หรือเกินภาระหน้าที่ ยกเว้นการหาแนวทางจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางให้สามารถจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่มากมาย
ที่มา: คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร