ระบบสาธารณสุขไทยกำลังส่งเสียงเตือนภัยอย่างหนักหน่วง เมื่อปรากฏการณ์ “แพทย์ลาออกเป็นขบวน” กลับมาเขย่าวงการอีกครั้ง จากกรณีโรงพยาบาลบึงกาฬเผชิญสถานการณ์สุดวิกฤต เมื่อแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) ปี 1 ถึง 10 คน จากทั้งหมด 16 คน ประกาศลาออกพร้อมกัน
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแพทย์จบใหม่เท่านั้น แม้แต่แพทย์อาวุโสและอาจารย์แพทย์ผู้มีประสบการณ์ก็กำลังทยอยเดินออกจากระบบเช่นกัน สะท้อนให้เห็นรอยร้าวลึกในโครงสร้างสาธารณสุขของประเทศ
แม้หลายคนจะอ้างเหตุผลว่าต้องการกลับไปทำงานในภูมิลำเนา แต่เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งใหญ่นี้คือความท้อแท้จากภาระงานมหาศาล ค่าตอบแทนที่ไม่สมดุลกับความรับผิดชอบ และระบบสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ
น่าวิตกยิ่งกว่าคือ วิกฤตนี้กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่งกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน ส่งผลให้การให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เริ่มสั่นคลอนอย่างน่าเป็นห่วง
หากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ เสียงกระซิบที่ว่า “ระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะล่มสลาย” อาจกลายเป็นความจริงที่ทุกคนต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ Thai PBS Policy Watch ชวนดูข้อมูลล่าสุดค้นหาต้นตอของปัญหา พร้อมหาทางออกว่า นอกจากการผลิตแพทย์เพิ่ม แล้วเราจะรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบต่อไปได้อย่างไร
จากข้อมูลล่าสุดของแพทยสภา ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2567 ประเทศไทยมีแพทย์รวมทั้งสิ้น 62,418 คน (นับเฉพาะผู้ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ) หรือคิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 922 คน ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นจำนวนที่เพียงพอ แต่เมื่อพิจารณาเชิงลึกจะพบถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
หากแบ่งแพทย์ตามสังกัด พบว่า แพทย์เกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 43.26% ทำงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ประมาณ 27,000 คน) ขณะที่อีก 28.07% หรือราว 17,518 คน อยู่ในภาคเอกชน และที่เหลือกระจายอยู่ในสังกัดอื่น ๆ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (19.23%), กระทรวงกลาโหม (4.49%) และทุนอิสระหรือภาครัฐอื่น ๆ อีกเล็กน้อย
สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาคเอกชนซึ่งมีแพทย์เพียง 28% ของทั้งประเทศ กลับสามารถดึงดูดแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีรายได้เริ่มต้นสูงถึง 70,000 – 150,000 บาทต่อเดือน ขณะที่แพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 40,000 – 60,000 บาทเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างด้านค่าตอบแทนนี้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้แพทย์จำนวนไม่น้อยตัดสินใจลาออกจากระบบราชการไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน ขณะที่ก็มีแพทย์โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขบางส่วนที่รับงานโรงพยาบาลเอกชนนอกเวลาราชการแบบพาร์ตไทม์ซ้อนกันอยู่
แต่หากอิงตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอต่อกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนแพทย์จำแนกตามสังกัดจะสวนทางกับข้อมูลของแพทยสภา เนื่องจากพบว่าแพทย์ส่วนใหญ่ถึง 42.3% ทำงานอยู่ในภาคเอกชน รวมถึงคลินิกส่วนตัวหรือหน่วยบริการอื่น ๆ ขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีอยู่ 35.5% รองลงมาคือแพทย์ในหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ 11.2% และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ อีก 11%
พลอากาศเอกนายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา บอกว่าข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอาจจะแตกต่างกันมีฐานข้อมูลคนละแบบ เนื่องจากไม่ได้มีการหักตัวเลขของแพทย์ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วและไม่ได้ทำการตรวจคนไข้ภาครัฐออกไป ในขณะเดียวกันการจะวัดสัดส่วนของแพทย์รัฐกับเอกชนก็ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากทำงานซ้อนทับกัน อยู่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า มีแพทย์รัฐบางส่วนที่ทำงานพาร์ทไทม์ในโรงพยาบาลเอกชน
อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการหลักที่ดูแลประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ รับรองนโยบาย 30 บาทรักษาโรค กลับยังต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทั้งจากอัตราเงินเดือนที่ต่ำกว่า ภาระงานที่หนัก และความกดดันจากการทำงานในพื้นที่ขาดโอกาส อาจนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังเรื่องการกระจายแพทย์ไม่ทั่วถึง
สัดส่วนจำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คน เปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในกลุ่ม OECD และเอเชีย ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมี “ภาระงานของแพทย์” สูงกว่าหลายประเทศอย่างชัดเจน
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ มีจำนวนประชากรต่อแพทย์ 1 คนอยู่ที่ราว 180-280 คน ขณะที่ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ก็มีสัดส่วนที่ต่ำกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยญี่ปุ่นมีประชากรต่อแพทย์เพียง 383.1 คน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 922.3 คนต่อแพทย์ 1 คน ยกเว้นประเทศเวียดนามที่สัดส่วนประชากรต่อแพทย์สูงถึง 1,204.8 คน
วิกฤตแพทย์ลาออกปีละพันคน
เมื่อเชื่อมโยงกับข้อมูลก่อนหน้าเกี่ยวกับการกระจายตัวของแพทย์ตามสังกัด ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ “จำนวนแพทย์โดยรวม” เพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่ “ระบบ” ที่ไม่สามารถดึงดูดให้แพทย์อยู่ในระบบรัฐ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลระดับจังหวัดได้
หนึ่งในปัญหาหนักของระบบสาธารณสุขไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คืออัตราการลาออกของแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยปีละกว่า 1,000 คน ตัวเลขนี้สะท้อนภาพลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถ “รักษาแพทย์” ไว้ในระบบได้ ไม่ว่าจะแพทย์จบใหม่หรือแพทย์เฉพาะทางระดับสูง
เมื่อพิจารณาเชิงลึกสามารถแบ่งปัญหาออกได้เป็น 3 ช่วงชีวิตของแพทย์ หรือ ”หมอ 3 ยุค“ ที่สะท้อนปัญหาและแรงกดดันในแต่ละระดับอาชีพอย่างชัดเจน
ยุคที่ 1: หมอจบใหม่ (Intern ปี 1–3)
ต้องยอมรับว่า การที่หมอจบใหม่ ลาออกก่อนใช้ทุนหมด ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก ซึ่งหลักสูตรผลิตแพทย์ เขียนล็อคไว้ ให้แพทย์จบใหม่ต้องใช้ทุน 3 ปี เป็นกำลังหลักในการดูแลผู้ป่วยนอกโรคทั่วไป และผู้ในห้องฉุกเฉิน รวมถึงการอยู่เวรเพื่อดูแลคนไข้นอกเวลาราชการ ตามโรงพยาบาลชุมชน ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นระเบียบมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหมอขาดแคลนมาอย่างยาวนาน
หมอจบใหม่ในระบบราชการ จึงต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักเกินขีดจำกัด และไม่ใช่เรื่องแปลกที่หมอคนหนึ่ง ต้องดูแลผู้ป่วยหลายสิบคนต่อวัน และเข้าเวรต่อเนื่องโดยไม่มีเวลาพักเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นยังขาดระบบพี่เลี้ยงหรือทีมสนับสนุนที่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะ burn-out ได้ง่าย
ระบบโอนย้ายก็ไม่ยืดหยุ่น ทำให้หลายคนรู้สึก “ติดกับ” โดยเฉพาะหากถูกส่งไปในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่สามารถเลือกได้
งานวิจัยของ สวรส. (2563) พบว่า 1 ใน 4 ของหมออินเทิร์นเคยคิดลาออกในปีแรกที่ปฏิบัติงาน ขณะที่การศึกษาใน Journal of Health Systems Research ปี 2564 ก็ชี้ชัดว่าปัจจัยสำคัญคือภาระงานที่เกินตัว และขาดพี่เลี้ยงทางวิชาชีพ
ยุคที่ 2: หมอเฉพาะทาง (Specialty)
เมื่อหมอกลุ่มนี้ผ่านช่วงฝึกงานและเข้าสู่ระบบอย่างเต็มตัว หลายคนเลือกศึกษาต่อเฉพาะทาง เช่น อายุรกรรม ศัลยกรรม หรือสูติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แทนที่ระบบจะรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ได้ กลับกลายเป็นว่า แรงจูงใจภายในระบบราชการต่ำกว่าภาคเอกชนอย่างมาก
รายได้ในระบบราชการมักต่ำกว่าเอกชนถึง 3–5 เท่า ขณะที่ภาระงานในโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัด กลับหนักกว่า ต้องดูแลผู้ป่วย ควบคู่กับการสอนแพทย์ฝึกหัด และทำงานบริหาร
เพียงปีเดียว หมอเฉพาะทางลาออกจากระบบกว่า 800 คน โดย 60% ไปทำงานเอกชน รายงานของ สวรส. ปี 2565 ยังชี้ให้เห็นว่าไม่มี Career Path หรือเส้นทางความก้าวหน้าในระบบราชการ ทำให้หมอหลายคนหมดความหวัง
ยุคที่ 3: หมอเฉพาะทางระดับสูง (Subspecialty และสาขาขาดแคลน)
แม้จะเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางสูง แต่หมอ subspecialty หรือหมอสาขาขาดแคลนก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในระบบราชการไทย
หลายคนต้องทำงานในโรงพยาบาลที่ไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์รองรับ เช่น MRI หรือ Cath Lab ทั้งที่ความสามารถของหมอพร้อมแล้ว แต่กลับไม่มีระบบสนับสนุนให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพ
อีกทั้งระบบราชการยังไม่เปิดโอกาสให้หมอทำวิจัยหรือพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญที่ใช้เวลาเรียนรู้หลายปี ต่างจากภาคเอกชนที่ยินดีจ่ายแพงเพื่อดึงบุคลากรกลุ่มนี้ไป
Journal of HRH Research ปี 2565 ระบุว่า Subspecialist ส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการพัฒนา และไม่มีเครื่องมือในการทำงานในภูมิภาค
ผลิตแพทย์เพิ่มแก้ปัญหาขาดแคลน
หนึ่งในทางออกระยะยาวแก้ปัญหาหมอลาออก ขาดแคลน ที่กระทรวงสาธารณสุขวางแผนเอาไว้คือการ “ผลิตแพทย์เพิ่ม” ขณะนี้ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตแพทย์ตามมาตรฐานของแพทยสภา โดยมีจำนวนแพทย์ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันรับรองมาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา (Institute for Medical Education Accreditation: IMEAC) ตามเกณฑ์ของ World Federation for Medical Education รวมทั้งสิ้น 3,465 คน จาก 28 คณะแพทยศาสตร์
นอกจากคณะแพทยศาสตร์หลักสูตร 6 ปี ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 50 แห่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์คลินิก ซึ่งในอนาคตสามารถขยายการรองรับการผลิตแพทย์เพิ่มได้อีกกว่า 20 แห่ง
ข้อมูลจากแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในช่วงปี 2567–2589 ประเทศไทยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าให้ได้อัตราแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 650 คนภายในปี 2575 ซึ่งถือเป็นอัตราที่เหมาะสมตามมาตรฐานระดับสากล เทียบกับปัจจุบันที่แพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชนถึง 922 คน
แผนนี้จะดำเนินการผ่านการเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์จากทุกสถาบันทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแพทย์ใหม่ได้เฉลี่ยปีละ 3,000 คน และเมื่อรวมกับแพทย์ที่ยังไม่เกษียณอายุ จะทำให้ประเทศไทยมีแพทย์เพิ่มจาก 62,418 คนในปี 2567 เป็น 84,499 คนในปี 2577 และแตะระดับ 100,163 คนภายในปี 2589
แม้แผนนี้จะสะท้อนความตั้งใจของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่การผลิตแพทย์เพิ่มเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากไม่สามารถรักษาแพทย์ไว้ในระบบได้ โดยเฉพาะในระบบราชการที่แพทย์ต้องทำงานหนักแต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าภาคเอกชนมาก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านสวัสดิการและโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพ
แค่ผลิตแพทย์เพิ่มอย่างเดียวไม่พอ
การผลิตแพทย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เมื่อมองรอบด้านพบปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์ในพื้นที่เมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนแพทย์เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ต่างจังหวัดประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระดับที่รุนแรง
ข้อมูลจากแพทยสภา ปี 2566 สะท้อนภาพปัญหานี้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า จากจำนวนแพทย์ที่สามารถติดต่อได้ทั้งหมด 66,685 คน (รวมแพทย์เกษียณ) พบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 48.28% (ประมาณ 32,198 คน) กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว
อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในกรุงเทพฯ จึงอยู่ที่ประมาณ 1 คนต่อประชากร 500–600 คน ซึ่งถือว่าเพียงพอหรืออาจจะเกินความต้องการด้วยซ้ำ ในขณะที่แพทย์อีก 51.72% ของทั้งหมดต้องกระจายไปอยู่ต่างจังหวัด (ประมาณ 34,487 คน) เพื่อดูแลประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เช่น อ.แม่สอด จังหวัดตาก (รวมประชากรแฝง) จ.แม่ฮ่องสอน จ.บึงกาฬ มีอัตราส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากรมากถึง 5,000–6,000 คน สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการทางสุขภาพอย่างรุนแรง
แล้วรัฐบาลแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ลาออกอย่างไร? รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปกำลังคนและภารกิจด้านสาธารณสุข โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 417/2567 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งคณะกรรมการนี้มีหน้าที่พิจารณาแนวทางในการปฏิรูปการบริหารงานในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการปรับปรุงผลตอบแทนและเงื่อนไขการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการรับมือกับปัญหาการลาออกของแพทย์
การจัดตั้งคณะกรรมการนี้ มีข้อสังเกตุ จาก พญ. กัลยพัชร รจิตโรจน์ กมธ.สธ. สส.พรรคประชาชน ที่มองว่าขาดตัวแทนจากประชาชนและนักวิชาการในการประชุม และยังเน้นที่การผลิตแพทย์ที่สอดรับนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ มองผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่าการจัดการภาระงานของแพทย์ที่มีมากเกินไป ซึ่งอาจยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ขณะที่ ร่างพระราชบัญญัติการระเบียบข้าราชการสาธารณสุข หรือ พ.ร.บ. ก.สธ. ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เดิมตั้งเป้าหมายที่จะให้กระทรวงสาธารณสุขแยกออกจากการกำกับของ ก.พ. ในปี 2568 โดยหวังว่าร่างกฎหมายนี้จะช่วยในการปรับฐานเงินเดือนและการบรรจุข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ต้องอิงกับระบบราชการ
แต่ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)บอกว่า การผลักดัน พ.ร.บ. ก.สธ. ยังติดขัดที่ขั้นตอนการกลั่นกรองของคณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากผ่านขั้นตอนนี้แล้วจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินการยังไม่ได้รับความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะสามารถผลักดันให้ พ.ร.บ. ก.สธ. มีผลบังคับใช้ในปี 2568 อย่างที่เคยตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่
รมว.สธ. บอกด้วยว่า ไม่มีแผนสำรอง หากไม่สามารถผลักดัน พ.ร.บ. ก.สธ. ได้ เพราะเชื่อว่าการผลักดันในครั้งนี้เป็นความหวังเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยระยะยาว
หมอลาออกรัฐบาลแก้อย่างไร
ขณะที่การแถลงข่าวประเด็นการแก้ไขปัญหา “แพทย์ลาออก” และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2568 นายสมศักดิ์ บอกว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ก.สธ. ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถบรรจุแต่งตั้ง กำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของบุคลากรทั้งหมดได้เองนั้น แต่ก็ยังต้องใช้เวลานานประมาณ 2 ปี
เบื้องต้นจึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น 7 แนวทาง ดังนี้
1) กำหนดให้พื้นที่ที่มีปัญหาแพทย์ลาออกหรือขาดแคลนเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดระยะเวลาชดใช้ทุนก่อนไปศึกษาต่อจากเดิม 3 ปี เหลือ 2 ปี โดยไม่นับเป็นการลา โดยมีคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาและการลาศึกษาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ที่มี นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณา ซึ่งที่จะมีการพิจารณาเร็วๆ นี้ คือ บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และตาก
ในประเด็นนี้ เลขาธิการแพทยสภา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มาตรการใหม่นี้ไม่ได้ลดระยะเวลาในการใช้ทุนลง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้แพทย์จบใหม่ไปเรียนต่อเฉพาะทางได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องลาออก ทั้งนี้ยังคงต้องกลับมาใช้ทุนให้ครบสามปีตามเดิมภายหลัง
2) เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั้งแบบฝึกเองและฝึกร่วม เพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรตามที่กำหนด
3) ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากพื้นที่ใกล้เคียง
4) เสริมระบบบริการด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพและเทเลเมดิซีน รวมถึงปรับแนวทางให้แพทย์เกษียณอายุราชการสามารถทำงานต่อได้
5) กำหนดตำแหน่งข้าราชการรองรับแพทย์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ กรณีไม่มีแพทย์ในระบบปกติไปบรรจุ ซึ่งขณะนี้ อกพ.สธ.ได้เห็นชอบแล้ว
6) พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ซึ่งกำหนดสูงสุดไม่เกิน 3 เท่า
7) ดูแลด้านสวัสดิการ เช่น บ้านพัก การเดินทาง เป็นต้น
ด้าน พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม (หมอเบียร์) อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ซึ่งได้ยื่นใบลาออก และจะมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ให้สัมภาษณ์ถึง 7 มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชายแดน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยชี้ว่าแม้บางมาตรการมีแนวโน้มดี แต่ยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และควรแยกแผนระยะสั้น-กลาง-ยาวให้ชัดเจน
มาตรการที่เห็นด้วย คือ การนำร่องพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัด (บึงกาฬ, แม่ฮ่องสอน, ตาก) ด้วยแพ็กเกจจูงใจ เช่น ใช้ทุนเพียง 1 ปี ได้สิทธิ์บรรจุเป็นข้าราชการเร็ว นับปีราชการคูณสองหรือสาม เพิ่มค่า OT เป็น 1.5-2 เท่า ผ่อนปรนเงื่อนไขผลงานวิชาการ
“ถ้าทำได้จริง เด็กจบใหม่หรือแพทย์จากต่างประเทศจะสนใจมากขึ้น”
แต่ จุดอ่อนของมาตรการ คือ
- การใช้คำกำกวม เช่น ”อาจจะเพิ่ม“ หรือ ”พิจารณาเพิ่ม“ โดยเฉพาะค่า OT ที่ขึ้นกับเงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งหลายแห่งขาดทุน
- การสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ชัดเจนว่าจะจัดการค่าตอบแทนและระบบอย่างไร
- Telemedicine ไม่ตอบโจทย์ เพราะเพิ่มภาระแพทย์แทนที่จะลด เนื่องจากแพทย์ต้องสละเวลามาตรวจทางหน้าจอ ขณะที่ผู้ป่วยหน้างานยังรับไม่ไหว
พญ.ณัฐกานต์ มีข้อเสนอเพิ่มเติม คือควรเรียกเก็บค่าบริการบางส่วน (Co-payment) ในกรณีผู้ป่วยที่ขาดวินัย เช่น เมาสุรา หรืออุบัติเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย เพื่อลดการใช้บริการเกินจำเป็น และย้ำว่า ปัญหาหลักคือ “การกระจายตัว” ไม่ใช่จำนวนแพทย์รวมทั้งประเทศ แพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหรือภาคเอกชน ควรมีมาตรการดึงแพทย์กลับสู่พื้นที่ห่างไกล
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ว่าปัญหาขาดแคลนแพทย์เป็นวิกฤตสะสม และเสนอ 13 มาตรการแก้ไขเชิงระบบ ดังนี้
- ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ กระทรวงสาธารณสุขต้องมีทีมบริหารที่มีความสามารถ และไม่ถูกชี้นำโดยนโยบายประชานิยม
- จำกัดผู้ป่วยตามนัดหมาย เพื่อควบคุมภาระงานแพทย์ โดยแผนกผู้ป่วยนอกรับเฉพาะคนนัดล่วงหน้า ส่วนฉุกเฉินรับเฉพาะกรณีจริง
- สื่อต้องสนับสนุนนโยบายจำกัดผู้ป่วย ไม่สร้างกระแสโจมตีบุคลากรการแพทย์โดยไม่ตรวจสอบ
- ปรับโครงสร้างโรงพยาบาล ปิดห้องฉุกเฉินหรือรพ.ชุมชนในพื้นที่ที่ซ้ำซ้อนหรือมีผู้ป่วยน้อย
- ปรับอัตรากำลังบุคลากร ให้สอดคล้องกับสภาพจริง
- ปรับค่าตอบแทน ทั้งเงินเดือนและค่าเวรให้เหมาะสม และจ่ายตรงเวลา
- สปสช.ต้องจ่ายค่าบริการที่ยุติธรรม ปัจจุบันจ่ายต่ำกว่าต้นทุน ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร
- ให้แพทย์พักผ่อนหลังเวรดึก อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ลดงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ที่แพทย์ต้องรับผิดชอบโดยตรง
- คัดเลือกแพทย์จากคนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสทำงานยาวนาน
- ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษา ในกรณีโรคจากพฤติกรรมเสี่ยง
- เร่งศึกษาสาเหตุปัญหา โดยรับฟังความเห็นแพทย์รุ่นใหม่
- เริ่มแก้ไขทันที โดยไม่ยอมแพ้กับคำว่า “เป็นไปไม่ได้”
ทั้ง พญ.ณัฐกานต์ และ นพ.สมศักดิ์ เห็นตรงกันว่าปัญหาขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลเกิดจาก “ความล้มเหลวเชิงระบบ” มากกว่าจำนวนบุคลากร มาตรการระยะสั้นเช่น Telemedicine หรือการเพิ่มค่า OT อาจไม่ยั่งยืน หากไม่ปฏิรูประบบใหญ่ ทั้งการกระจายแพทย์ ค่าตอบแทน โครงสร้างโรงพยาบาล และการมีส่วนร่วมของสังคม คำถามสำคัญคือ รัฐพร้อมเดินหน้าปฏิรูปอย่างจริงจัง หรือเพียงตอบสนองกระแสชั่วคราว?
ขณะที่ ข้อเสนอของ รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองหัวหน้าศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เพื่อปัญหาภาระงานแพทย์ในระบบสาธารณสุขไทย ส่วนหนึ่งเห็นว่า ควรกระจายอำนาจการบริหารจัดการบุคลากรสู่หน่วยบริการ ให้โรงพยาบาลมีอำนาจในการบริหารจัดการบุคลากรของตนเองมากขึ้น เช่น การจัดตารางเวร การจ้างงานชั่วคราว หรือการจัดระบบพี่เลี้ยงสำหรับแพทย์ใหม่ เพื่อลดภาระและความเครียดจากระบบราชการรวมศูนย์
ระบบควรกำหนดให้ชัดเจนว่าแพทย์คนใดมีบทบาทด้านใด เช่น งานบริการผู้ป่วย งานสอน หรืองานวิจัย เพื่อให้สามารถจัดสรรเวลาและทรัพยากรให้เหมาะสมกับภารกิจนั้นๆ โดยไม่ต้องแบกรับหลายบทบาทพร้อมกัน และควรยอมรับความหลากหลายของบุคลากรแพทย์ และเปิดโอกาสให้แต่ละคนพัฒนาในแนวทางที่เหมาะสมกับตน เช่น ด้านคลินิก ด้านวิชาการ หรือด้านบริหาร โดยไม่บีบบังคับให้ทุกคนต้องเดินทางสายบริหารเหมือนกันหมด
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง