The Active ร่วมกับ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จัดวงเสวนา “Policy Forum ครั้งที่ 10 : ได้ สว.ใหม่ ประเทศไทยเปลี่ยน?” เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงโครงสร้าง บทบาท หน้าที่ของ สว. และถอดบทเรียนจากอดีต รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจับตา และติดตามกระบวนการสรรหา สว.ชุดใหม่
ในวงเสวนานี้ ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เล่าเหตุผลที่ สว.ต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญใน 20 กลุ่มอาชีพ ว่า ในอดีต สว.มักขาดความมีอิสระในการทำงาน และถูกครอบงำจากพรรคการเมือง ซึ่งจากการสอบถามผู้รู้หลายฝ่าย ได้ข้อสรุปว่า สว.ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยบริหารบ้านเมือง รวมถึงต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ คือ ไม่ให้อำนาจถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เพราะจะสร้างปัญหาที่เป็นภัยกับ สว. โดยให้เหลือเพียงอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย และให้ร่วมประชุมในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสัตยาบันและสนธิสัญญาของรัฐบาล แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 60 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับเข้าไปเพิ่มอำนาจให้ สว. มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ
เหตุผล สว. ต้องคัดเลือกกันเอง
สาเหตุที่การสรรหาสว.ใหม่ ต้องโหวตเลือกกันเองนั้น เพราะต้องการให้ สว.มีความอิสระ ไม่อยู่ภายใต้พรรคการเมือง และไม่ต้องขอให้ใครมาแต่งตั้งเหมือนในอดีต อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนเก่งเข้ามาช่วยบ้านเมืองด้วย
สำหรับรูปแบบการคัดเลือกนี้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น และที่ต้องลองวิธีนี้ เพราะจากการสอบถามความเห็นส่วนใหญ่มองว่าระบบเลือกตั้งและแต่งตั้ง สว. ที่ผ่านมามีข้อเสีย
“สูตรเลือกไขว้” สกัดจ้างโหวตล็อกผล
กรณีระบบคัดเลือก สว.มีความซับซ้อน ศ.ชาติชาย ให้ความเห็นว่า เพื่อป้องกันการฮั้ว จึงใช้วิธีเลือกไขว้กัน ต่อให้มีการซื้อเสียงลงคะแนน ก็โอกาสน้อยที่จะประสบความสำเร็จ ยกเว้นจะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งได้มีการลองคำนวณทางคณิตศาสตร์ดูแล้ว พบว่า ในการเลือกไขว้นี้ หากซื้อเสียงหัวละ 1,000 บาท จะต้องใช้เงินมากถึง 5,000-6,000 ล้านบาท
ถ้าไม่ให้ฮั้วกันก็ต้องใช้วิธีไขว้กัน ถึงคุณจะจ้างมา โอกาสที่พวกคุณจะเข้ามาก็น้อย เว้นแต่คุณจะลงทุน มันมี 800 กว่าอำเภอ คุณลงทุน 400 กว่าอำเภอ จ้างเป็นคนร้อย ๆ ทำได้ก็ทำไป เราก็มองอย่างั้น เอานักคณิตศาสตร์มาคูณกันด้วยว่า ถ้าไขว้กันสองสามตลบโอกาสจะมีเท่าไหร่ มีการทดลองในกระดาษว่าถ้าจะจ่ายตังก็ต้องลงประมาณ 5-6 พันล้าน
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ให้ผู้สมัคร สว.ต้องมีอายุ 40 ขึ้นไป เนื่องจากต้องการผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีความรอบรู้ มีความยั้งคิด รวมถึงมีวิจารณญาณ และการที่ต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลัวว่าคนไทยจะมาสมัครจำนวนมาก ทำให้เสียงบประมาณสูงในการคัดเลือก ซึ่งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ต้องใช้งบประมาณจากงบกลาง และใช้งบขององค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามาช่วยด้วย
ส่วนข้อระเบียบที่ห้ามรณรงค์เชิญชวนประชาชนสมัคร สว. นั้น กกต.อาจตีความจากกฎหมายลูกว่า สว.ห้ามอยู่ภายใต้พรรคการเมือง เพราะหลังจากเริ่มมีการหาเสียงภายใต้พรรคการเมือง กกต.ก็มีคำสั่งนี้ออกมาก แต่กฎนี้มีช่องว่างเยอะ คนที่รู้ก่อนก็จะทำต่อไป ส่วนคนที่ไม่รู้ก็จะกลัวระเบียบนี้ นอกจากนี้กรณีห้ามเปิดเผยข้อมูลผู้สมัคร สว. ต่อสาธารณะชนก็ไม่มีในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย
เชื่อ สว.ชุดใหม่ ไม่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่เชื่อว่า สว.ชุดใหม่ จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ให้ผู้สมัครต้องมีอายุขั้นต่ำ 40 ปี เพราะยิ่งคนอายุมากขึ้นก็ยิ่งไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร และหลายคนก็ไม่ถือว่าการสรรหาสว.ชุดใหม่นี้ จะเป็นการเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่เป็นการเลือกกันเองของคนกลุ่ม ๆ หนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า สว.มีไว้เพื่อถ่วงดุลอำนาจ สส. เพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามใจชอบ และยังสร้างความผิดหวังให้กับประชาชน จึงไม่คิดว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ จะทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงได้ และมีแต่จะถ่วงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รศ.สุขุม เสนอว่า ควรจะให้ประชาชนได้ร่วมเลือก สว.โดยตรง
รศ.สุขุม ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าคนที่ลงสมัคร สว. สามารถโหวตเลือกใครก็ได้ และจะไม่โหวตเลือกตนเองก็ได้ ซึ่งสวนทางกับข้อกำหนดที่ให้ผู้ที่ลงสมัครต้องมีอยากจะเป็น สว.ด้วย ถึงจะลงสมัครได้
ช่องโหว่เลือก สว.67 เสี่ยงฮั้ว-เทคะแนนบล็อกโหวต
ขณะที่ภาคประชาชนได้มีการทดลองเลือก สว. การผ่านเวิร์กชอป (Workshop) โดยให้จำลองเป็นผู้ลงสมัครเพื่อไปโหวต, ลงสมัครเพื่อไปเป็น สว., ลงสมัครเพื่อไปรับเงินซื้อเสียง และยังจำลองเป็นคนถือเงินไปซื้อเสียง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกันเองเหมือนของ กกต. ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งมีการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และเลือกข้ามกลุ่มอาชีพ
ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง WeVis พบข้อสังเกตจากการทดลองดังกล่าว ว่า ระบบนี้มีความซับซ้อนเข้าใจยาก เพราะคนที่ร่วมจำลองไม่สามารถเข้าใจได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แม้จะมีเอกสารง่าย ๆ ให้อ่านทำความเข้าใจก่อน ซึ่งแตกต่างจากคนที่รู้กติกานี้มาก่อนแล้ว สามารถวางแผนมาตั้งแต่ต้นได้ว่าจะชนะได้อย่างไร และจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป ซึ่งทำให้มีโอกาสชนะมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวล คือ ผู้สมัครที่ไม่เข้าใจกติกา อาจจะแพ้เพราะความไม่เข้าใจตั้งแต่แรก
นอกจากนี้ในการทดลอง ยังพบว่าผู้สมัครสามารถบล็อกให้คนอื่นที่ไม่ใช้พวกตนเองออกไปได้ด้วย เช่น ในระหว่างที่ให้เดินไปแนะนำตัว หากผู้สมัครเขตอำเภอเดียวกัน 3 คนเป็นพวกเดียวกัน ก็สามารถนัดกันเทคะแนนโหวตให้พวกตนเองเข้ารอบต่อไปได้ ส่วนอีก 3 คนที่ไม่ใช่พวกตนเองก็ตกรอบไป
ก็คือตั้งใจกีดกันบางกลุ่มอาชีพในพื้นที่นั้น เช่น นายทุนกลับเอ็นจีโอไม่ถูกกัน เขาก็เทโหวต หรือบล็อกโหวต คือ เทโหวตเข้าฝั่งหนึ่งหนึ่ง แล้วบล็อกไม่โหวตฝั่งหนึ่ง อันนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งถามว่าผิดกติการการเลือกตั้งไหม ไม่ผิด ก็แค่ตกลงกัน
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงระบบการคัดเลือก สว. ที่นอกจากจะมีความยุ่งยากแล้ว ยังมีช่องโหว่ในด้านข้อมูลของผู้สมัคร เพราะทุกคนที่มาลงสมัครต่างไม่รู้จักกันมาก่อน จึงมีข้อจำกัดในด้านข้อมูล และหากให้เวลาผู้สมัครแนะนำตัว ก็จะมีเพียงแค่ข้อมูลเฉพาะหน้าเท่านั้น สุดท้ายแล้วผู้สมัครก็จำต้องตัดสินใจโหวตตามข้อมูลที่มี
ขณะเดียวกันในขั้นตอนคัดเลือก สว. ยังมีโอกาสเกิดการฮั้วกันได้ และตรวจสอบได้ยาก โดยเฉพาะการคัดเลือกครั้งแรกในระดับอำเภอ
รอบสุดท้ายของอำเภอคือผู้ชนะ 3 คน ของแต่ละกลุ่ม สมมติคนที่เขาฮั้วกันหรือล็อกผลเก่ง ๆ เขาเอาคนของเขาเข้ามา 2 จาก 3 คนของแต่ละกลุ่มที่อำเภอได้ ขั้นตอนต่อจากนั้นเขาครอบงำทั้งหมดเลย มันอยู่ในมือเขาเลย เพราะขั้นต่อไปมันกำหนดแล้ว มันมาจากกลุ่มนี้ไม่เกินเท่านี้คน มาจากกลุ่มนั้นไม่เกินเท่านี้คนจากจังหวัดต่าง ๆ มันคูณจำนวนคนได้เป๊ะแล้ว มีที่อำเภอเท่านั้นที่เรายังไม่รู้ วันนี้คนจะสมัครกี่แสนคน แต่มันจะไปล็อกผลสุดท้ายว่ากลุ่มหนึ่งมา 3 คน
เปิดบันทึก “มีชัย ฤชุพันธ์” ต้นคิดที่มาสว.
จับตาสว.ชุดใหม่ มีอำนาจโหวตแก้รธน.-ตั้งองค์กรอิสระ