การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาของโลก จากรายงานสถานการณ์การคอร์รัปชันทั่วโลกประจำปี 2023 โดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (TI) พบว่าปัญหาคอร์รัปชันยังคงมีความรุนแรงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลทั่วโลกสูญเสียไปกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ รูปแบบการคอร์รัปชันยังมีความซับซ้อนและพัฒนาไปตามกาลเวลา ซึ่งจะต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของทุกประเทศทั่วโลก องค์กรระหว่างประเทศ และประชาชนทั้งในระดับนานาชาติ และในประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลจึงร่วมมือกันพัฒนามาตรการระดับสากลและระดับประเทศเพื่อป้องกันและต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน
กลยุทธ์การเสริมสร้างเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับสากลและภูมิภาค
หนึ่งในความร่วมมือ ระดับนานาชาติด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นรากฐานที่สำคัญ ในการผลักดันให้ประเทศสมาชิก หรือประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวไว้จะต้องมีการปรับกฎหมายและมาตรการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันภายในประเทศให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ในขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทรัพยากร และมีกลไกตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างกันด้วยอนุสัญญา UNCAC ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันผ่านการมีส่วนร่วมของรัฐในสมาชิก
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations – ASEAN) ก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือและกำหนดแผนการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 2025 ได้วางเป้าหมายและแผนการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคให้สอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญา UNCAC ผ่านการออกกฎหมาย นโยบาย การแลกเปลี่ยนทรัพยากร และกลไกติดตามผลการดำเนินงาน
จึงกล่าวได้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันผ่านกรอบความร่วมมือในระดับนานาชาติ และระดับภูมิภาค รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรส่วนต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การมีเพียงความร่วมมือระหว่างรัฐ และกลไกเชิงกฎหมายและนโยบายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องอาศัยการสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม โดยคุณ Peter Eigen ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Transparency International ได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือนี้ โดยกล่าวว่า
“… only an effective coalition of state, business and civil society can bring transparency and accountability to governance – not only to fight corruption, but other ills of globalization too, including injustice and inequity, poverty, violence, conflict, environmental destruction and climate change.”
เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งในด้านการตรวจสอบ ติดตาม และส่งเสริมความโปร่งใสของภาครัฐ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการของรัฐ แลกเปลี่ยนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายเหล่านี้จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างประเทศ
เครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาสังคมระดับสากลและภูมิภาคในปัจจุบัน
ภาคประชาสังคมด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และเครือข่ายจำนวนมากที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคต่าง ๆ จากการศึกษาของ Schütte องค์กร U4 Anticorruption Resource Center ในปี 2020 พบว่า ปัจจุบันมีเครือข่ายระหว่างประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ ดำเนินการอยู่ในโลกมากกว่า 10 เครือข่ายทั่วโลก เช่น เครือข่าย Réseau des Institutions Nationales Anticorruption d’Afrique Centrale (RINAC) ในทวีปแอฟริกา European Partners against Corruption (EPAC) European Contact-Point Network against Corruption (EACN) ในทวีปยุโรป and South East Asia Parties Against Corruption (SEA-PAC) และเครือข่าย Southeast Asian Anti-Corruption Network for CSOs ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายเหล่านี้มีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลาย ทั้งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐสมาชิก หรือการมีความร่วมมือระหว่างรัฐ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมเป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นต้น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการส่งเสริมเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาสังคมระดับสากลและภูมิภาค
เครือข่ายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมีความสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้างการเปลี่ยนด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในโลกอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ การสร้างความยั่งยืนของเครือข่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุน และปัจจัยในการแลกเปลี่ยนทรัพยากร และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างภาคส่วน ทั้งนี้ มีการศึกษาหลายชิ้นได้พยายามดำเนินการศึกษาปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนการดำเนินงานของเครือข่ายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งระดับนานาชาติ ภูมิภาค และประเทศ ซึ่งสามารถสรุปปัจจัยรากฐานที่สำคัญได้ดังนี้
- ประการแรก การมีเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมาก เงินทุนจะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของเครือข่าย รวมถึงการสนับสนุนองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิก โดยการมีเงินทุนที่เพียงพอจะทำให้สามารถกำหนดขอบเขตการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม
- ประการที่สอง การมีองค์กรศูนย์กลางทำหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานของเครือข่าย เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเนื่องจากองค์กรดังกล่าวจะเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงและประสานงานระหว่างองค์กรสมาชิกที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญ ประเด็นที่สนใจ และแนวทางการปฏิบัติงาน บทบาทสำคัญของศูนย์กลางคือการติดตามกระตุ้น ติดตามการดำเนินงาน และการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องของสมาชิกในเครือข่าย
- ประการที่สาม การสร้างความไว้วางใจระหว่างองค์กรสมาชิกในเครือข่าย (Trust) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การประชุม เสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น ความไว้วางใจจะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ความรู้ และแนวปฏิบัติที่สำคัญ รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของเครือข่ายด้วยดี การสร้างความไว้วางใจเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
- ประการที่สี่ การมีแพลตฟอร์มกลางของเครือข่ายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการดำเนินงาน โดยแพลตฟอร์มกลางจะทำหน้าที่เป็นช่องทางในการเชื่อมต่อระหว่างสมาชิก การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และทรัพยากรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ในการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่สาธารณชนและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมได้ นอกเหนือจากปัจจัยสำคัญข้างต้นแล้ว การกำหนดเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้องค์กรสมาชิกสามารถกำหนดบทบาท ประเด็นการดำเนินงาน และความคาดหวังได้อย่างตรงกัน รวมถึงช่วยให้การประเมินผลกระทบและติดตามการดำเนินงานสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนและเสริมสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานของเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระยะยาว ความยั่งยืนนี้ต้องอาศัย ปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การมีเป้าหมายร่วมกัน การมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และการได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การมีองค์กรศูนย์กลางช่วยติดตามและเชื่อมโยงสมาชิกในเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการมีแพลตฟอร์มกลางในการติดตาม แลกเปลี่ยนทรัพยากร และประชาสัมพันธ์ผลงานสู่สาธารณะเพื่อประเมินผลและขยายผล การดำเนินงานเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติและภูมิภาค
อ้างอิง
- Ora-orn Poocharoen, Collaboration in Anti-Corruption Work: Who to Work with and How?, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]
- UNODC, UNITED NATIONS CONVENTION AGAINST CORRUPTION, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]
- UNCAC Coalition, CIVIL SOCIETY PARTICIPATION: AN ESSENTIAL ELEMENT IN ANTI-CORRUPTION EFFORTS, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]
- Schütte, Networks of anti-corruption authorities: Living up to their aspirations?, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]
- Yomnak, T., & Ruckchart, S., Collaboration Network of Thailand’s Anti-Corruption Organizations, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]
- Transparency International, CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา(ประเทศไทย), ประเทศไทยกับแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕, [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567]