นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2567 ได้รับทราบและพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ e-Office หรือสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) โดยมีแผนการดำเนินงานการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต จากความต้องการใช้งานระบบ e-Office ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้วิเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายผู้ใช้งานระบบให้ได้ 3,000,000 คน ภายในปี 2570
ขณะที่การดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ได้แก่ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) รวมถึง (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการเฉพาะด้าน Cloud First Policy ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างบริการคลาวด์ภาครัฐ และคณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการความต้องการใช้บริการคลาวด์ (Demand) การให้บริการคลาวด์ (Supply) และมาตรฐานการบริหารจัดการบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Management) และได้เห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการบริหารจัดการระบบคลาวด์ภาครัฐ โดยมอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการต่อไป
สำหรับแนวทางการดำเนินการตามมติ ครม. เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยให้หน่วยงานภาครัฐ นำข้อกำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไขสำหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ประจำปี พ.ศ. 2567 ไปใช้พลางก่อน จนกว่าจะมีข้อกำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไขสำหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ใหม่
ส่วนการเร่งรัดขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยเห็นชอบให้ภารกิจการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่การเร่งรัดบูรณาการและขับเคลื่อนกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการประมวลผลและใช้ประโยชน์จากระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย สามารถบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั่วประเทศ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ บอร์ดดีอี ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย (Digital ID) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตาม (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนฯ พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลให้เป็นไปตามกรอบการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวต่อไป
รวมถึงเห็นชอบ แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร (AI Governance Guideline for Executive) ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดยมอบหมายให้นำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนนำไปปฏิบัติต่อไป
ขณะที่แนวทางการดำเนินการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานของรัฐ สำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหล บอร์ดดีอี มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เสนอคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศให้ทุกหน่วยงาน นำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป
บอร์ดดีอี รับทราบการดำเนินงานขยายความจุ (Capacity) ของระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC (Asia Direct Cable) ในปี 2566 จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง ไทย – ฮ่องกง จำนวน 300 Gbps และ เส้นทางไทย – สิงคโปร์ จำนวน 700 Gbps
ส่วนประกาศของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดนิยามและขอบเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)
ได้แจ้งเวียนประกาศดังกล่าวไปยังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานนำกรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ส่องร่างแผนแม่บทฯ ยกบริการด้านยุติธรรม “ดิจิทัล”
- ตั้งเป้า 3 ปี ความพึงพอใจ-ขีดแข่งขันภาครัฐเพิ่ม
- ความท้าทาย”รัฐบาลดิจิทัล” ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง