การลดหย่อนภาษีจากการลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือนมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ แต่ในปี 2567 ซึ่งกำหนดยื่นภาษีต้นปี 2568 รัฐบาลและกรมสรรพากร มีการปรับเงื่อนไขจูงใจกองทุนลดหย่อนภาษีประเภท กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ESG) ทำให้มนุษย์เงินเดือนได้รับการลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น
6 กองทุนลดหย่อนภาษีเดิม
นับตั้งแต่รัฐบาลส่งเสริมการออมเพื่อการลงทุน ทำให้ปัจจุบัน ผู้เสียภาษีมีช่องทางการลงทุนได้หลากหลายประเภท แต่เพื่อไม่ได้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีรายได้เข้าข่ายต้องเสียภาษีมากเกินไป ทำให้รัฐบาลกำหนดเพดานลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขการออมเพื่อการลงทุน 500,000 บาท มีหลายประเภท ดังนี้
เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีที่ผู้เสียภาษีมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) โดยหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ในกรณีที่มีการส่งเงินสะสมมากกว่า 10,000 บาท และสะสมในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 490,000 บาท
ส่วนที่ไม่เกิน 490,000 บาท ไม่ใช่คิดเฉพาะ PVD แต่คิดจากเพดานรวม 500,000 บาท
เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการออม SSF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน ต้องไม่เกิน 200,000 บาท
สรุปแล้ว กองทุนเพื่อการออมทุกประเภทเดิม คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการออม SSF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมแล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ละประเภทจะมีการกำหนดอัตราไว้อีกด้วยไม่สามารถสะสมได้สูงสุดเท่าไร
แต่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 30 ก.ค. 67 ได้มีการปรับเงื่อนไขการลงทุนอีกประภทที่เรียกว่า กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ESG) ทำให้ตั้งแต่ปีภาษี 2567-69 จะซื้อกองทุนได้สูงสุด 300,000 บาท จากเกณฑ์เดิมที่ 100,000 บาท
กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ESG) หรือ Thai ESG
สำหรับสิทธิทางภาษีกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ESG) หรือ Thai ESG เฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69 มีดังนี้
เพิ่มวงเงินการหักลดหย่อน
เดิม สามารถหักลดหย่อนได้ ไม่เกิน 30% ของเงินพึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ใหม่ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินพึงประเมินที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 300,000 บาท
ลดระยะเวลาถือหน่วยลงทุน
เดิม ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 8 ปี และถ้าถือหน่วยลงทุนไว้ครบ 8 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ Capital Gains จากการขายหน่วยลงทุนคืน
ใหม่ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีและถ้าถือหน่วยลงทุนไว้ครบ 5 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ Capital Gains จากการขายหน่วยลงทุนคืน
สรุปแล้ว ตั้งแต่ปีภาษี 2567-69 มนุษย์เงินเดือนสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 800,000 บาท จากการลงทุนผ่านกองทุน และหากคิดจากฐานภาษี จะเห็นได้ว่าคนที่มีรายได้ 1,000,000 บาท ไม่เสียภาษีหากใช้สิทธิลดหย่อนเต็มเพดานทั้งหมด เพราะเงินได้ 250,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
ที่มา:
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thai ESG)