ปี 1971 เปาโล ลูการี (Paolo Lugari) ชาวโคลัมเบีย เริ่มสร้างโครงการชุมชนทดลองที่เรียกว่า ลาส กาวิโอตัส (Las Gaviotas) ซึ่งตั้งอยู่ในป่าริมแม่น้ำท่ามกลางภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ด้วยการออกแบบใช้พลังงานทดแทนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดจนกระทั่งประสบความสำเร็จ
โครงการนี้เกิดจากความตั้งใจและความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นทั้งหมด และยังคงดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนโดยไม่พี่งพางบประมาณหรือเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐแต่อย่างใดนี่เป็นตัวอย่างหนี่งของการมีส่วนร่วมทางสังคมจากฐานล่าง ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายหรืองบประมาณจากภาครัฐแต่อย่างใด แต่มาจากการเห็นปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเอง จนประสบความสำเร็จและยั่งยืน เพราะชุมชนนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า “Social Participation” หรือ “การมีส่วนร่วมทางสังคม” อย่างเข้มแข็ง
แม้กลไกนี้จะเป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมใช้กันมานาน แต่ในโลกสมัยใหม่ที่มีการปกครองรวมศูนย์ ทำให้รัฐเข้าควบคุมบริหารกิจกรรมและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านกฎระเบียบหรือนโยบายโดยอาจละเลยความต้องการที่แท้จริงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง
วันนี้ “Social Participation” ถูกหยิบยกเอามาพูดถึงอีกครั้งในฐานะมติสำคัญที่ถูกนำเสนอและได้รับรองอย่างเป็นทางการ จากเวทีการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 หรือ The World Health Assembly (WHA) ณ พาเลส เดอ นาชิอง (Palais Des Nations) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และได้รับเสียงสนับสนุนจากกว่า 30 ประเทศสมาชิก โดยปราศจากเสียงคัดค้าน
“Social Participation” คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? และจะนำประเทศไทย และประเทศสมาชิกไปในทิศทางใดในอนาคต Policy Watch ชวนสนทนากับ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ที่ปรึกษางานต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ (สช.)
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ที่ปรึกษางานต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ (สช.)
“การมีส่วนร่วมทางสังคม” คือ แนวคิดที่ว่าการตัดสินใจจะทำบางอย่างในสังคม ควรเกิดมาจากประชาชน หรือคนในชุมชนเองได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการและออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับคนในชุมชนนั้นอย่างแท้จริง
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ อธิบายให้เราฟังว่า ภายใต้คำจำกัดความเข้าใจยากข้างต้นนั้น จริง ๆ แล้ว สิ่งนี้ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยและกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างช้านาน ภาพที่เห็นได้ชัดเจน คือ ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521
“คำว่า Social Participation (การมีส่วนร่วมทางสังคม) เป็นศัพท์เทคนิคที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป แต่จริง ๆ แล้ว คนไทยเราอยู่กับมันมาแล้วหลายสิบปี ให้ลองนึกถึงระบบ อสม. ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบอาสาสมัคร และเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด”
หากว่ากันในเชิงหลักการแล้ว “การมีส่วนร่วมของสังคม” แบ่งได้ 5 ระดับ ได้แก่ 1. การให้ข้อมูลข่าวสาร (inform) 2. การรับฟังความคิดเห็น (Consult) 3. การเข้าร่วมกิจกรรม(Involve) 4. การร่วมมือ (Collaboration) และ 5. การให้อำนาจประชาชน (Empowerment)
Spectrum of Public Participation Credit : International Association for Public Participation (IAP2)
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ ยกตัวอย่างให้เราฟังอย่างง่าย ๆ ว่า การมีส่วนร่วมในระดับแรกสุดเกิดขึ้นง่ายมาก เพียงมีคนไข้มาโรงพยาบาล เล่าอาการเจ็บป่วย จากนั้นมีหมอตัดสินใจจ่ายยาให้ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมแล้ว แม้จะเป็นเพียงการมีส่วนร่วมระดับ “ให้ข้อมูลข่าวสาร(inform)” ซึ่งเป็นระดับแรกสุดเท่านั้น
“ถ้าคนไข้ปวดฟันมาหาผม ผมตรวจเสร็จก็แค่วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคอะไร จากนั้นก็จ่ายยา-รักษาไปตามความเห็นของผม วิธีแบบนี้เป็นแค่การ just inform หรือบอกให้ทราบ คือการมีส่วนร่วมในระดับล่างสุด”
“ถ้าหากยกระดับการมีส่วนร่วมขึ้นมาอีกขั้น คือการถามข้อมูลคนไข้กลับไป เช่น ชอบกินอาหารแบบไหน แปรงฟันวันละกี่ครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่ถ้าหมอไม่ถาม คนไข้ก็ไม่มีโอกาสได้ตอบเลย”
และในบางครั้ง เราจะเห็นการมีส่วนร่วมในระดับที่ไปได้ไกลกว่านั้น คือ “การรับฟังความคิดเห็น” (Consult) เช่น หมอคุยกับคนไข้เพื่อให้ข้อมูลว่ามีทางเลือกรักษาหลายแบบ และให้คนไข้เป็นผู้เลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือหากเป็นในบริบทอื่น ขั้นตอนนี้อาจมาในรูปแบบประชาพิจารณ์ที่มีการถาม – ตอบระหว่างสองฝ่าย ซึ่งในทางหลักการแล้ว การมีส่วนร่วมระดับนี้จะเป็นการเริ่มให้อำนาจแก่ประชาชนแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“บางที คนไข้ก็ตัดสินใจเองไม่ได้ เพราะหมอคือผู้เชี่ยวชาญ ย่อมเชื่อว่าตัดสินใจได้ดีกว่า หรือกรณีการทำประชาพิจารณ์ ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่สุดท้ายรัฐก็เป็นผู้ตัดสินใจเองอยู่ดี”
และระดับสูงสุดคือ “การให้อำนาจประชาชน (Empowerment)” คือ การที่ประชาชนจัดการวาระต่าง ๆ ได้เองโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งนี่เป็นความคาดหวังที่สังคมควรไปให้ถึง
“การมีส่วนร่วมในระดับนี้ สังคมจะตั้ง agenda ของตัวเองขึ้นมาเอง ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐเลย สิ่งเหล่านี้จะถูกตั้งมาจากความต้องการของผู้คนในสังคมนั้นจริง ๆ การมีส่วนร่วมแบบนี้จะทำให้ประชาชนจะมีความเป็นเจ้าของแรงมาก”
แม้ที่ผ่านมา ไทยเองมีการใช้วิธีการมีส่วนรวมของสังคมในทุกระดับที่แตกต่างกันไปตามบริบท แต่ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ มองว่า ภาพฝันที่อยากให้สังคมไทยไปถึงคือ “การให้อำนาจประชาชน” โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง
“เราอยากให้การมีส่วนร่วมของประชาชนไทยไปให้ถึงระดับสูงสุด แต่ในความเป็นจริงคงทำไม่ได้ทุกเรื่อง เช่น เรื่องฉุกเฉินอย่างโควิดคงทำได้ยาก แต่อย่างน้อย มีบางเรื่องที่เราอยากให้ประชาชนตั้ง agenda ของพวกเขาเองให้ได้คือเรื่อง ‘การอยู่ดีมีสุข’ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตของพวกเขา
“หากเขาเป็นฝ่ายตั้ง agenda เอง เขาจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของประเด็น หรือ sense of belonging สิ่งนี้จะทำให้เรื่องราวแข็งแรง และต่อให้ไม่มีนโยบายจากรัฐ ไม่มีงบประมาณเลย เขาก็จะทำเองอยู่ดี แล้วสิ่งนี้มันจะแข็งแรงมาก” ที่ปรึกษางานต่างประเทศ สช. ย้ำ
4 ปัจจัยสำคัญในการทำ social participation
การผลักดันให้ประเทศไปสู่การมีส่วนร่วมในระดับสูงสุดหรือ empowerment น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้นโยบายที่ได้จะมาจากความต้องการของผู้ใช้จริง ๆ
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาเป็นตัวช่วยนั้น จำเป็นต้องปรับไปตามบริบทไปตามพื้นที่ ไม่ต่างจากสำนวนที่บอกว่า “you can’t use the same brush to paint every picture” หรือ คุณไม่สามารถใช้พู่กันอันเดียวกันมาวาดภาพทุกภาพได้
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ เน้นย้ำว่า หัวใจที่จะทำให้ social participation สำเร็จได้นั้น มีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 4 ปัจจัย ได้แก่ ต้องมี 1. เครื่องมือ อาจเป็น platform หรือ กลไกบางอย่าง เช่น ธรรมนูญตำบล 2. มีข้อมูลมากพอ 3. มีความต่อเนื่อง และ 4. มีการให้อำนาจแก่ประชาชน
“คุณอย่ามองข้ามงานวัดนะ หลายจังหวัดจัดงานวัดต่อเนื่องทุกปี เหมือนเป็นงานรื่นเริงที่ไม่มีอะไรใช่ไหม แต่นั่นคือการ empower ให้ชาวบ้าน มันทำให้เขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็น หรือ sense of belonging บางจังหวัดอาจมีงานประจำปีที่เป็น the must ใคร ๆ ก็ต้องไป หากในงานแบบนี้มีเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยเชิง dialogue ที่แห่งนั้นจะกลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างดี”
หรือกลไกอย่าง “ธรรมนูญสุขภาพ” ก็ถูกใช้อย่างประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่มาแล้ว เช่น โครงการ “อาหารโรงเรียนเปลี่ยนชุมชน” ที่ทำในโรงเรียน 12 พื้นที่ ในจังหวัดสุรินทร์ โดยมีกลไกดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายร่วมกันและประสบความสำเร็จมาก และ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ ยังเน้นย้ำว่า หากมีปัจจัยเหล่านี้ ในพื้นที่นั้นก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง
“บางกลไก ทำในระดับท้องถิ่นได้ แต่กลับทำในระดับจังหวัดหรือระดับชาติไม่ได้ เหมือนกรณีของโครงการอาหารโรงเรียน ฯ ที่สุรินทร์ บทเรียนนี้น่าสนใจว่า เป็นการทำงานจากด้านล่าง จากความต้องการของชุมชนเอง ความสำเร็จและการมีส่วนร่วมจึงแข็งแรง แต่เมื่อนำโมเดลนี้มาทำในระดับที่สูงขึ้น จะเริ่มเกี่ยวกันไปมาแล้วว่าเป็นหน้าที่ใคร จนสุดท้ายก็ไม่มีใครทำ”
Social Participation สำเร็จจริงไหม ชี้วัดตรงไหนดี ?
แม้การให้คนเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคมจะถูกพิสูจน์แล้ว ว่าเป็นกลไกที่เหมาะสม ตอบโจทย์ประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยสูง
แต่มีข้อสังเกตว่าจำเป็นต้องใช้เวลาที่นานเพียงพอ และอาจบ่งชี้ได้ยากว่า ต้องทำนานแค่ไหนจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ บอกว่า สิ่งนี้อาจไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่มีกรอบที่วางการปฏิบัติงานที่วางไว้
“ที่ผ่านมา มีคนพยายามคิด indicator เพื่อวัดความสำเร็จของมันเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าตัวชี้วัดคือกับดัก เหมือนอยู่ ๆ มีคนมาถามคุณว่าตอนนี้คุณมีส่วนร่วมในสังคมยังไง ? – คุณตอบไม่ได้หรอก เพราะบางเรื่องคุณก็สนใจไปเข้าร่วม แต่บางเรื่องคุณก็ไม่ได้สนใจ
“สำหรับ social participation สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ตัวชี้วัดเลย แต่เป็นประสบการณ์ระหว่างทางมากกว่า สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ หากคุณได้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง คุณจะได้รับความรู้สึก Give & Take มันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้หรอก เหมือนกับคุณจะไม่มีวันรู้จักความหิว ตราบใดที่คุณยังมีข้าวกิน”
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ ยังบอกอีกว่า เป้าหมายสูงสุดของ Social Participation ไม่ใช่การถามหาจุดที่บ่งชี้ว่าอะไรคือความสำเร็จ แต่มันคือการทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเด็น และเลือกที่จะลงมือทำ-ไม่ทำบางอย่าง โดยปราศจากการควบคุมจากกติกาของรัฐ
“บางประเทศ รัฐอยากให้บ้านเมืองสะอาด ก็ใช้กฎหมายควบคุมการทิ้งขยะ ห้ามนำหมากฝรั่งเข้าประเทศ หรือต้องการรักษาภูมิทัศน์ ก็สั่งห้ามคนเดินลัดสนามหญ้า ถามประเทศนั้นดูสะอาดเรียบร้อยดีไหม มันก็ใช่ แต่คุณอยากโดนบังคับควบคุมแบบนั้นจริงเหรอ นี่คือการใช้กติกาที่ไม่ได้ใจประชาชน”
“แต่ในความเป็นจริง รัฐสั่งคุณไม่ได้ทุกเรื่องหรอก ถ้าเขาอยากให้คุณออกกำลังกาย ต่อให้สร้างสนามกีฬา เขาก็มาบังคับให้คุณไปวิ่งไม่ได้ แต่ถ้าความต้องการมันเกิดมาจากตัวพวกคุณเอง คุณจะสามารถทำมันไปได้ตลอด เป้าหมายสูงสุดของการมีส่วนร่วมคือ ทุกคนต้องรู้สึกอินไปกับมัน ส่วนรัฐมีหน้าที่แค่ support เท่านั้น”
เมื่อคลื่นแห่งโอกาสกำลังซัดมา ก็ถึงเวลาหมุนล้อตามเกลียวคลื่น
“การมีส่วนร่วมทางสังคม” ของไทยไปสุกงอมบนเวทีโลก
ที่ผ่านมา ไทยขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของสังคมมาไม่น้อย โดยเฉพาะนโยบายด้านสุขภาพ จากการคิดค้นวิจัยทางวิชาการ การออกแบบกระบวนการ และการลงมือทำนานหลายปีของทีมสาธารณสุขไทย ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคงเป็นเรื่องของระบบ อสม.ที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นข้อต่อสำคัญในการจัดการกับวิกฤตโควิดที่ผ่านมา
วันนี้ ผลลัพธ์ได้ผลิดอก ออกผล และสุกงอมได้ที่ ผสมลงตัว ข้อมูลงานวิจัยที่มากพอ ผนวกกับการมองเห็น “จังหวะ” และ “โอกาส” อันเหมาะสม จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยจะนำมติดังกล่าว ขึ้นเสนอในเวทีนานาชาติอย่าง สมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 (World Health Assembly: WHA)
Credit: WHO
2 นักศึกษาแพทย์ หนี่งในตัวแทนจากประเทศไทยที่เข้าร่วมในงานประชุมสมัชชาอนามัยโลก
Credit: WHO
“ถ้าเรามองกระแสโลกอย่าง SDGs เราจะเห็นคีย์เวิร์ดหนึ่งคือ ‘Intersectorial Collaboration’ หรือการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วน แต่จะทำสิ่งนี้ได้ด้วยวิธีไหน ใช้เครื่องมืออะไร ยังไม่เคยมีใครตอบ”
“เราคิดว่านี่คือโอกาสทอง เพราะกระแสโลกกำลังสนใจเรื่องนี้ มันเหมือนการมองดูคลื่นในทะเล เราต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่อยู่ในนั้นคืออะไร แล้วเราก็ล้อไปตามเกลียวคลื่น ในปีนี้จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการพูดเรื่อง social participation”
โดยความตั้งใจ คือ ต้องการจัดทำไกด์ไลน์ หรือ “คู่มือ” เรื่องการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อให้ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ทั้ง 194 ประเทศนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนเอง
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขณะนำเสนอมติ Social Participation
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ เล่าว่า เริ่มการทำงานนี้ด้วยหลัก 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (หลักการขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้พลังจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม) โดยเริ่มจากการทำงานวิชาการก่อนเป็นอันดับแรก
“เราเริ่มจากการทำงานวิชาการอย่างเข้มข้น จัดทำเอกสารเพื่อให้ข้อมูลโดยเรียบเรียงให้ชัดเจนที่สุด โดยพยายามตีความคำว่า social participation ในมุมมองของประเทศต่าง ๆ แล้วไปนำเสนอในวงประชุมต่าง ๆ เราใช้งานวิชาการเป็นตัวตีฝ่าวงล้อมเพื่อตีเรื่องนี้ออกมา
“จนในที่สุด เราได้รับความสนใจจาก WHO เพราะการมี ‘กลไกสมัชชา’ ในบ้านเรา ถือว่าเป็นเป็นตัวอย่างของ social participation ที่ชัดเจน ในขณะที่ในต่างประเทศมีเครื่องมืออย่าง forum หรือ network meeting ซึ่งมีกลไกการมีส่วนร่วมเช่นกัน แค่ใช้ชื่อเรียกที่ต่างออกไป”
หลังจากขับเคี่ยวอย่างหนักกับการทำงานวิชาการและหารือกับประเทศสมาชิกเป็นเวลาหลายปี วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ก็ประกาศรับมติ เรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี(Social Participation for UHC, Health and Well-being)” อย่างเป็นทางการ ด้วยเสียงสนับสนุนจากตัวแทนสมาชิกกว่า 30 ประเทศโดยปราศจากเสียงคัดค้าน เป็นเครื่องยืนยันว่าแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับและพร้อมจะถูกนำไปปฏิบัติในอีกหลายประเทศทั่วโลก
เสียงสนับสนุนจากต่างชาติยืนยัน บทเรียนนี้ไช้ได้จริง
หนึ่งในประเทศสมาชิกที่ให้เสียงสนับสนุนมติ Social Participation คือ “สโลวาเนีย” นั่นเพราะเป็นหนึ่งประเทศทีเคยนำกระบวนการนี้ไปใช้ และพบว่าได้ผลเป็นอย่างดี
เกอร์สติน เวสนา เปตริค (Kerstin Vesna Petrič) ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือองค์การอนามัยโลก กระทรวงสุขภาพ สาธารณรัฐสโลวีเนีย เล่าว่า สโลวาเนียมีนโยบายพัฒนาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Centre) โดยใช้กระบวนการ social participation เป็นหลัก
เกอร์สติน เวสนา เปตริค
ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือองค์การอนามัยโลก กระทรวงสุขภาพ สาธารณรัฐสโลวีเนีย
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพนี้จะเน้นการป้องกัน เช่น การเลิกบุหรี่ ลดการดื่มแฮลกอฮอล์ และการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ โดยเน้นให้ประชาชน “เข้าถึงง่าย” เป็นหลัก
แต่ปรากฏว่าตลอด 10 ปีที่เปิดให้บริการมา พบว่าผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นหญิงวัยเกษียณที่สนใจดูแลสุขภาพตัวเอง แต่ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนที่มีความต้องการจริง ๆ อย่าง ชนกลุ่มน้อยหรือคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเลย
สโลวาเนียเลือกที่จะลงทุนเงินจำนวนมากในการปรับปรุงแนวทางของศูนย์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยการให้เจ้าหน้าที่ออกไปสู่ชุมชน ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจ ใกล้ชิด และเข้าใจความต้องการของกลุ่มคนเปราะบางได้ดีที่สุด
ผลที่ตามมาคือ รัฐมีความเข้าปัญหาของประชาชนมากขึ้น หนี่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่อง “การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ชาย” หากเป็นแต่ก่อน ฝ่ายชายจะไม่อยากมาตรวจคัดกรองนักและปรับตัวได้ยาก แต่ทางทีมใช้วิธีขอให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช่วยสื่อสารแบบชายต่อชาย จนทำให้ประชาชนเปิดใจและเข้าใจมากขึ้น
ปัจจุบัน สโลวาเนียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ชายเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงที่สุดในยุโรป และอาจเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย และนี่คือหนี่งในบทเรียนของการนำ “social participation” ไปใช้ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
รับรองมติแล้วไปไหน ? : ใครจะได้ประโยชน์จากมตินี้
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ ตอบอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครเลยได้ประโยชน์ แต่ทุกคนได้ “โอกาส”
โดยกระบวนการแล้ว หลังจาก WHA ประกาศรับรองมติใด มติ (ส่วนมาก) จะไม่ได้เป็นกฎระเบียบข้อบังคับให้ว่าทุกประเทศสมาชิกต้องทำตาม แต่เป็นเหมือนหน้าต่างแห่งโอกาสในการนำไปใช้พัฒนานโยบายประเทศตนเองต่างหาก
“ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรง พอมีมติออกมาแล้ว ประเทศสมาชิกไหนไม่อยากทำ ก็ไม่เป็นไร ไม่สนใจไปเลยก็ได้ ไม่มีใครบังคับคุณได้หรอก แต่ถ้าประเทศไหนมองเห็นว่านี่คือจังหวะและโอกาส ก็ขอให้รับสิ่งนี้ไปใช้ เพราะมันจะเป็นการฝึกฝน คุณจะได้ประสบการณ์ไปมหาศาล
Credit: WHO
“ผมไม่อยากให้มองที่ประชุมสมัชชาชาติเป็นเครื่องมือในการเกิดนโยบาย แต่อยากให้มองว่ามันคือแพลตฟอร์มหนึ่ง เพราะเมื่อเกิดมติใดขึ้นแล้ว หากคุณนำไปลองทำ นั่นแปลว่าคุณจะได้ฝึกฝน คุณจะได้ประสบการณ์ แล้วคุณจะเก่ง”
“และเมื่อถึงวันเวลาที่คุณต้องการมี agenda เป็นของตัวเอง คุณก็จะทำมันได้ด้วยตัวเอง และอาจเป็น level ที่สูงสุดด้วย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของ social participation คือการ empowering ประชาชนต่างหาก”
หากถามว่าต่อจากนี้ ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนต้องทำอะไรต่อไปนั้น ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ ชี้ว่า วันนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น จะยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมอะไรชัดเจนนัก แต่เป็นจังหวะอันดีที่ทุกภาคส่วนควรรีบใช้โอกาสนี้
“แม้มติ Social Participation ได้รับการรับรองแล้ว แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น วันนี้และวันพรุ่งนี้จะยังไม่อะไรเกิดขึ้นหรอก แต่ทุกภาคส่วนต้องทำงานต่อหลังบ้าน ภาครัฐต้องเกาะติดสร้างเครือข่ายประชุมสม่ำเสมอ สร้างแกนนำในการขับเคลื่อนต่อไปอีก” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
หลังจาก social participation นี้ได้รับการรับรองจาก WHO อย่างเป็นทางการแล้ว ทุกประเทศสมาชิกต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยควรจะต้องรับไปดำเนินการ และรายงานผลในอีก 2 ปี
หันกลับมามองที่ประเทศไทย แม้เราจะก้าวหน้าไปมากและโดดเด่นในเส้นทางนี้ แต่ยังมีอีกหลายข้อต่อและรอยรั่วสำคัญที่ยังต้องการการเติมเต็ม และดูเหมือนว่าเส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล กว่าที่ประเทศไทยจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือที่เรียกว่า empowerment อย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่ทำได้ในวันนี้คือการฉกฉวยโอกาสและวันเวลาที่ยังมี ฝึกฝน เรียนรู้ ราวกับกำลังสร้างให้พื้นที่ในชุมชนเป็นห้องเรียนขนาดย่อม และนี่จะเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์สำคัญที่กำลังชี้ทิศทางประเทศไทยในอีก 2 ปีต่อจากนี้อย่างแน่นอน