รัฐบาลไทยกำลังมีแผนยกระดับไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยจะนำข้อมูลและระบบให้บริการประชาชนของทุกหน่วยงานภาครัฐเข้าสู่ระบบดิจิทัลทั้งหมด ผ่านแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ และสวัสดิการของประชาชนอย่างบูรณาการบนแพลตฟอร์มเดียว รวมถึงช่วยให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ผ่านข้อมูลและช่องทางการสื่อสารดิจิทัล
รัฐจัดเก็บข้อมูลยังไร้ประสิทธิภาพ
ปัจจุบันการให้บริการทางด้านข้อมูลส่วนมากมาจากข้อมูลภาครัฐ จากผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) พบว่า ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น การวางแผนในการจัดเก็บ การดำเนินการด้านข้อมูล และการเผยแพร่ข้อมูลในภาครัฐที่ยังมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างจำกัด ทำให้สืบค้นข้อมูลได้ยาก และยังไม่มีการประเมินประโยชน์ต่อต้นทุนของข้อมูลในขั้นตอนการวางแผนจัดเก็บข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่จัดเก็บบางกรณีขาดความคุ้มค่า ตลอดจนการกำหนดชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูงยังขาดการพิจารณาถึงประโยชน์ของข้อมูล
ขณะเดียวกันการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ไม่เพียงพอ ยังส่งผลให้เอกชนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มข้อมูลกลางเพื่อเปิดเผยข้อมูลรัฐเพียง 2 ส่วนเท่านั้น คือ ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ ดำเนินการโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำหรับรวบรวมหน้าบัญชีข้อมูลที่ภาครัฐถือครอง และศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำหรับเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐสู่สาธารณะ
สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทีดีอาร์ไอ ในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายโครงการฯ ระบุว่า นอกจากการวางแผนจัดเก็บและการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการที่จะให้เกิดการพัฒนาทางด้านข้อมูลของประเทศไทยอย่างครบวงจร คือ การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อยกระดับการให้บริการทางด้านข้อมูล เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่แค่ในภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลสำคัญที่อยู่กับภาคเอกชนด้วย
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลและสถาปัตยกรรมข้อมูล (การจัดเก็บ เชื่อมโยง แบ่งปัน บูรณาการ และใช้ประโยชน์ข้อมูล) ก็มีความสำคัญ เพราะข้อมูลต้องมีความปลอดภัย อยู่ในกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล มีการอภิบาลข้อมูลที่ดี และข้อมูลควรมีการบันทึกในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการออกแบบให้ทำงานร่วมกันได้และปัจจัยส่งเสริมสุดท้ายที่มีความสำคัญคือการยกระดับแรงงานทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีทักษะทางด้านข้อมูล
ดังนั้นเพื่อให้การขับด้านเคลื่อนข้อมูลมีเอกภาพ จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย ซึ่งประโยชน์ที่จะได้ คือ
- เป็นพื้นฐานให้การดำเนินการด้านข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- ส่งเสริมความร่วมมือกับ ภาคเอกชน และให้เอกชน และประชาชนเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์
- สนับสนุนการพัฒนากลไก ระเบียบ แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูล
- ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการแบ่งปันข้อมูลให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นอกเหนือจากการตอบสนองภารกิจของหน่วยงาน
- เหมาะกับการพัฒนาและออกแบบรากฐานข้อมูล (Data foundations) ให้การดำเนินการด้าน ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย ระยะ 5 ปี
ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามกรอบร่างแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย และเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ข้อมูล เพื่อเสนอแนะและจัดทำยุทธศาสตร์โดยสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติ และ (ร่าง) แนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูลประเทศไทย ระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับการให้บริการทางด้านข้อมูลภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้ภาครัฐมีการวางแผน รวบรวม และจัดเก็บข้อมูลอย่างคุ้มค่า มีข้อมูลที่มีคุณค่าสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล และส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
- สร้างความเข้าใจในประโยชน์ของข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐ เพื่อทำการประเมินผล ประโยชน์และต้นทุนของชุดข้อมูล
- จัดเก็บข้อมูลที่มีคุณค่าสูง
- กำหนดให้หน่วยกำกับดูแล จัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
- เปิดเผยชื่อข้อมูล และคำอธิบายข้อมูล เพื่อให้สืบค้นข้อมูลพบได้ง่าย
- ผลักดันการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ
- ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและการวัดผลของ ประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนข้อมูลของประเทศผ่านมาตรการสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ข้อมูลในประเทศไทยมีความครบถ้วน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
- กำหนดชุดข้อมูลสำคัญ เพื่อเป็นทิศทางสำหรับการผลักดัน การแลกเปลี่ยนรัฐ-เอกชน
- สร้างภาคีความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
- มีกรอบการแบ่งปันข้อมูลกลาง ภาครัฐ-ภาคเอกชน ที่มีความชัดเจน ปฏิบัติตามได้ง่าย
- มีมาตรการการรับรองความปลอดภัยของแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาด้านธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐและการเชื่อมโยงข้อมูล โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมให้ข้อมูลภาครัฐและเอกชนมีคุณภาพ สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ ได้รับการบันทึกในมาตรฐานเดียวกัน และข้อมูลมีความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล และไม่สร้างความเสียหายให้หน่วยงาน
- ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล
- ดูแลให้หน่วยงานเอกชนที่จะมาเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีการ บริหารจัดการ มีการออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูลอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับภาครัฐ ข้อมูลมี คุณภาพ โดยยึดตามมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ
- จัดทำแนวปฏิบัติทางด้านข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละภาคการผลิต
- ส่งเสริมการใช้คลาวด์ที่ได้รับการบริหารจัดการที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน
- ยกระดับการตรวจสอบรับรองด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของข้อมูล
- กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีแนวทางการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะทางด้านข้อมูลให้กับบุคลากรในภาครัฐและเอกชน โดยเน้นการพัฒนาทักษะทางผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไทย และเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะทางด้านข้อมูลในภาครัฐ เพื่อให้มีทักษะพร้อมในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์
- การพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มคุณค่าของการใช้ประโยชน์ของข้อมูล
- การปรับอัตรากำลังพลภาครัฐ เปิดตำแหน่งเฉพาะทางด้านข้อมูลเพิ่มมากขึ้น
- ปรับเงื่อนไขการรับสมัครของหน่วยงานรัฐให้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทักษะ ทางด้านดิจิทัลและข้อมูลขั้นพื้นฐาน
การเดินหน้ายุทธศาสตร์ข้อมูลในแต่ละภาคการผลิต
ภาคการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ
– ระบบบริการข้อมูลเปิดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลเปิดของกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยข้อมูลที่ถือครองโดยหน่วยงานในสังกัดในรูปแบบบัญชีข้อมูล โดยยังมีข้อมูลบางส่วนที่เผยแพร่ในรูปแบบ ที่เครื่องจักรไม่สามารถอ่านได้ และ
– ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร รวมไปถึงข้อมูลจากหน่วยงานนอกกระทรวง ในลักษณะบัญชีข้อมูล Dashboard และ Data visualization รวมถึงนำข้อมูลที่มีไปใช้ประโยชน์ เช่น ระบบการให้บริการผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางเกษตรสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจของเกษตร
เป้าหมาย
- เพิ่มผลผลิตภาพการผลิต
- ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและรายได้เกษตรกร
- ผลิตอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยี และลดความเข้มข้นในการใช้
ภาคสาธารณสุข
– มาตรฐานข้อมูล 43 แฟ้ม กระทรวงสาธารณสุขจำแนกข้อมูลสุขภาพออกเป็นกลุ่มแฟ่มจำนวน 43 แฟ้ม สำหรับการจัดเก็บบันทึก และนำข้อมูลสุขภาพไปใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานทุกระดับได้อย่างเป็นระบบ
– ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ เป็นศูนย์รวมข้อมูลสุขภาพจากข้อมูล 43 แฟ้มที่บันทึกจากหน่วยบริการสาธารณสุข โดยแสดงผลข้อมูลที่ถูกทำให้นิรนามแล้วบนเว็บไซต์ในรูปแบบไฟล์ข้อมูล และการประมวงผลภาพ
– ระบบเชื่อมโยงข้อมูล เป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยะหว่างโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลใหม่โดยไม่ต้องสืบประวัติ หรือโอนย้ายข้อมูล
เป้าหมาย
- พัฒนาระบบบริการสุขภาพ
- พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสาร เพื่อพัฒนาสุขภาวะคนไทยทั้งการส่งเสริมสุขภาวะ และการป้องกัน
- ส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์
ภาคคมนาคม
– ระบบบัญชีข้อมูลด้านคมนาคมและการขนส่ง เป็นหน้าเว็บไซต์ที่รวบรวมบัญชีข้อมูลจากหน่วยงานภายในกระทรวงคมนาคม เปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดในลักษณะไฟล์ข้อมูล
– ศูนย์บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแห่งชาติ มีหน้าที่บริหารจัดการบูรณาการ และประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ แต่ปัจจุบันไม่พบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะใช้ประโยชน์
– ระบบศูนย์รวมข้อมูลการขนส่งด้วยรถบรรทุก รวบรวมข้อมูลและให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับการขนส่งด้วยรถบรรทุก
– ศูนย์บริการจัดการเดินรถระบบจีพีเอส (GPS) พัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลการติดตามรถขนส่งผู้โดยสาร และรถบรรทุกด้วยระบบจีพีดเอส
– ระบบเว็บท่าภูมิสารสนเทศ เป็นระบบที่บูรณาการและแสดงข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงคมนาคม
– บริการข้อมูลโดยภาคเอกชน ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่ลงทุน และให้บริการข้อมูลการขนส่ง
เป้าหมาย
- พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- เพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่ง และโลจิสติกส์
- มีการขนส่งที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- มีการขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
ภาคการเงินและการธนาคาร
1. การบูรณาการข้อมูลระหว่างรัฐ
– ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงข้อมูลสถิติเศรษฐกิจและการเงินให้มีความถูกต้อง
– การเชื่อมโยงข้อมูลจากภาครัฐส่วนหนึ่งยังดำเนินการภายใต้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านบันทึกความเข้าใจร่วมกัน
– อุปสรรคสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูล คือ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
2. การบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน
– ธปท.และธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านระบบ Data Acquisition and Publication (DAP)
– ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนการดำเนินการและความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจ ช่วยในการดำเนินการกำกับดูแลออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและธนาคาร
เป้าหมาย
- รักษาและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหาภาค
- พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ด้วยการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน
- ระบบการเงินการคลังประเทศสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
ภาคท่องเที่ยว
1.การบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐ
– หน่วยงานภาครัฐมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างกันผ่านแคตาล็อกข้อมูลท่องเที่ยว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 43 หน่วยงาน ซึ่งเป็นทั้งหน่วยงายรัฐภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ
– ศูนย์วิจัยด้านการตลาดการท่องเที่ยว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมด้านตลาดการท่องเที่ยว
2.การบูรณาการข้อมูลระหว่างภาคนรัฐและภาคเอกชน
– แอปพลิเคชัน ทักทาย (TAGTHAI) นำข้อมูลการท่องเที่ยวและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ประโยชน์ให้นักท่องเที่ยวสามารถจองห้องพัก จองตั๋วสำหรับการเดินทาง และสืบค้นข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวได้ภายในแอปพลิเคชันช่องทางเดียว
– Travel Link มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดระบบบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวภาครัฐที่เป็นเอกภาพ สะดวก และเข้าถึงได้ง่าย โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐกว่า 20 หน่วยงาน
เป้าหมาย
- เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ
- นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
- โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวมีคุณภาพและมาตรฐานดีขึ้น
- การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม
– ฐานข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดำเนินการรวบรวมประมวลผล และเผยแพร่ข้อมูลในภาคอุตสาหกรรมทั้งในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก และไฟล์ข้อมูลที่เครื่องจักรสามารถอ่านได้ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยจำแนกข้อมูลสถิติอุตสาหกรรมตามาตรฐานการจัดหาหมวดหมู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ISIC)
– ระบบพื้นที่จัดเก็บข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (Data Lake) เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงผลในลักษณะรายการบัญชีข้อมูล
เป้าหมาย
- เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
- พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการใช้ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ และพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะในอุตสาหกรรมนั้น
ภาคเศรษฐกิจ สังคม และสวัสดิการ
– บัญชีข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO Data Catalog) ชุดข้อมูลของสำนักงานสถิติที่ได้จากภารกิจการผลิตสถิติ การบริหารจัดการระบบ และการบริหารสถิติ ที่ได้มีการจัดทำบัญชีรายการข้อมูลระดับย่อย และบัญชีรายการสถิติ ที่ได้มีการจัดทำบัญชีรายการข้อมูลระดับย่อย และบัญชีรายการสถิติ เพื่อให้ทั้งหน่วยงานภาคนรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลที่สำนักงานสถิติเป็นผู้สำรวจและจัดทำ
– บัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) ฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภาคนรัฐกว่า 280 หน่วยงาน เพื่อใช้เป็นระบบสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูล ช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถสืบค้นแห่ลงที่มา ระดับชั้นความลับ ประเภท รูปแบบข้อมูล และคำอธิบายข้อมูลได้
– บัญชีสถิติทางการ การรวบรวมชุดข้อมูลสถิติโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยบูรณาการข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งประกอบด้วย 1.สถิติที่ใช้กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ 2.สถิติที่มีความต้องการใช้ต่อเนื่อง 3.สถิติที่รับรองเป็นข้อมูลอ้างอิงของประเทศ 4.สถิติที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
– ข้อมูลสถิติและสารสนเทศระดับพื้นที่ 76 จังหวัด ซึ่งดำเนินการพัฒนาข้อมูลสถิติและสารสนเทศในระดับพื้นที่คู่ขนานกับการพัฒนาข้อมูลสถิติและสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นชุดข้อมูลที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด
เป้าหมาย
- เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ในขณะที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหาภาคโดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณเชิงรุก
- ประเทศมีความมั่นคงในทุกมิติ พัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะ ความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมไปกับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาภาครัฐให้พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โปร่งใส และปลอดการทุจริต
บัตรทองยุคหลังโควิด บริการได้วันละล้านทรานแซกชัน
ระบบคลาวด์ภาครัฐ กับความท้าทายสู่รัฐบาลดิจิทัล
ที่มา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.)