หลุดจากปากนายกฯ มี สส.ขอตำแหน่งผู้กำกับ
การวิ่งเต้น โยกย้ายตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ สำหรัวงการสีกากี เพราะมีข่าวออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นดราม่าร้อน กรณี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เอ่ยปากพูดเองในทำนองว่า ส.ส.มาขอตำแหน่งผู้กำกับซึ่งอาจมี ‘สมหวัง ผิดหวัง’ ในการประชุม สส.เพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ระหว่างการแถลงข่าว แก้หนี้นอกระบบที่ว่าจะมีหลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกันทั้งผู้การจังหวัด ผู้กำกับ ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายปกครองความมั่นคงมาคุยกัน เพื่อเรียกเจ้าหนี้และลูกนี้มา กำจัดปัญหานี้ออกไป และนายกฯ ก็ได้กล่าวขยายความถึง ‘ผู้กำกับ’ ว่า…
“ผู้กำกับใหม่ ซึ่งผมมั่นใจว่ามีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวังในห้องนี้นะครับ ที่ขอตำแหน่งไป เพราะรู้สึกว่าเยอะเหลือเกิน ในห้องนี้มีไม่น้อยที่ได้สมหวังนะครับ แต่ว่าเป็นผู้กำกับที่เรา เป็นผู้กำกับใหม่ ซึ่งที่เราจะต้องพูดคุยถึงเรื่องนี้กันให้เข้าใจถึงถ่องแท้ แล้วก็กำจัดปัญหานี้ออกไป” – เศรษฐา กล่าว
ซึ่งลักษณะการกล่าวเช่นนี้สื่อความให้คนเข้าใจได้ว่า ตำแหน่งผู้กำกับ ที่ว่ามี สส. ขอตำแหน่งกับนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ #ตั๋วเพื่อไทย ติดเทรนด์ X มีผู้กล่าวถึงมากกว่า 4 หมื่นครั้ง
แก้ต่าง ไม่ก้าวก่าย ไม่มีอำนาจ พูดเรื่องความ ไม่ใช่เรื่องคน
ต่อมาเศรษฐา ได้ออกมาชี้แจงสิ่งที่พูดไป ว่าไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งตำรวจ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ผมยืนยันครับว่าทางผมไม่มีอำนาจ และไม่เคยแทรกแซง ไม่เคยก้าวก่ายในการแต่งตั้งข้าราชการหรือว่าข้าราชการตำรวจเลย เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะพิจารณาตามผลงาน…
…สส.ไม่ได้มาขอ เราพูดเรื่อง ‘ความ’ ไม่ใช่พูดเรื่อง ‘คน’ มันมีปัญหาในพื้นที่ เราก็มาพูดในพื้นที่ตรงนี้มากกว่า เราเอาเรื่องความเป็นหลัก ผมยืนยันนะครับว่าเรา ว่าผมไม่เคยไม่ก้าวก่าย หรือว่าไปสั่งการกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการแต่งตั้งผู้กำกับ แล้วก็ไม่ใช่อำนาจผมด้วย” – เศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566
#ตัวเพื่อไทย เข้าข่ายผิดกฎหมาย 3 ฉบับ
รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาระบุผ่าน X ด้วยว่าหากสิ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าว เป็นความจริงจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย 3 ฉบับ คือ
- รัฐธรรมนูญ
- ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564
- พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
โดยเตรียมเดินหน้าตรวจสอบรายบะเอียดต่อไปว่า มีใครที่ได้รับการฝากบ้าง และใครได้รับตั๋ว สร.1 (ตั๋วนายก) ได้ตั๋วเพื่อไทย พร้อมเรียกร้องให้ ตำรวจช่วยส่งเรื่องนี้มาให้ตน ยืนยันจะไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบ
“เรื่องตั๋วตำรวจที่คุณเศรษฐาพูดออกมาในทำนองว่ามี สส. เพื่อไทยฝากกันมาเยอะ ผิดทั้งรัฐธรรมนูญ, จริยธรรมนักการเมือง, พ.ร.บ. ตำรวจ เป็นถึงนายกฯ กลับทำเรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติ ทั้งๆ ที่เป็นการใช้เส้นสาย และผิดกฎหมาย นี่ยังไม่นับว่าตำรวจอีกมากที่ไม่ใช้เส้นสาย เขาจะช้ำใจและเสียใจมากขนาดไหน ครอบครัวของเขาอีกหลายคนนะครับที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลนี้เริ่มต้นไม่ทันไร ก็ทำให้ระบบเส้นสายเติบโตเสียแล้ว มันถึงไม่แปลกที่เราถึงได้เห็นองค์กรตำรวจเป็นแบบนี้ นี่ใช่มั้ยถึงไม่อยากใช้คำว่าปฏิรูป นี่ใช่มั้ยถึงไม่กล้ามาตอบกระทู้ในสภา น่าผิดหวังมากครับ ผิดหวังแทนตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่มีเส้นสาย เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบกันอย่างแน่นอน คุณเศรษฐา อย่าได้หนีการตรวจสอบ และเอาความจริงมาพูด ว่าตกลงฝากใครไปบ้าง ผู้กำกับคนไหนได้ตั๋ว สร.1 (ตั๋วนายก) ได้ #ตั๋วเพื่อไทย และผมขอเรียกร้องพี่น้องตำรวจให้ช่วยกันส่งเรื่องนี้มาให้ผม เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้นิ่งเงียบเด็ดขาด” – รังสิมันต์ กล่าว
คอร์รัปชัน โยกย้าย ไม่ใช่เรื่องใหม่วงการสีกากี
ย้อนกลับไปกรณีอดีตผู้กำกับโจ้ ‘ธิติสรรค์ อุทธนผล’ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ผู้ก่อเหตุทำร้ายผู้ต้องหา ที่มีการตรวจสอบพบว่าร่ำรวยผิดปกติ และตั้งคำถามถึงตำแหน่ง ผู้กำกับ ที่ดูเหมือนจะขึ้นเร็วกว่าหรือไม่
ซึ่งกรณีอดีตผู้กำกับโจ้ เข้ารับข้าราชการตำรวจปี 2547 และเข้ารับตำแหน่งผู้กำกับการปี 2563 รวมเวลาก่อนจะได้รับตำแหน่ง 16 ปี (รับพระราชทานกระบี่โรงเรียนนายร้อย เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2547 เข้ารับตำแหน่งผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ วันที่ 30 พ.ย. 2563) ขณะที่กฎ ก.ตร. กำหนดเอาไว้ว่าก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้กำกับการ ต้องทำงานในแต่ละตแหน่งหลังจากเรียนจบและบรรจุ ตามเวลาก่อนได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งเมื่อนับรวมจะใช้เวลาประมาณ 17 ปี ดังนี้
- ผู้กำกับการ – แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศ พ.ต.ท หรือ พ.ต.อ. และ เคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการไม่น้อยกว่า 4 ปี
- รองผู้กำกับการ และ สารวัตรใหญ่ – แต่งตั้งจากตำรวจยศ พ.ต.ท. และ เคยดำรงตำแหน่งระดับสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- ตำแหน่งสารวัตร – แต่งตั้งจากตำรวจยศ ร.ต.อ.เอกขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่า พ.ต.ท. และ เคยดำรงตำแหน่ง ระดับรองสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี
ย้อนดูกฎ ก.ตร. ‘แต่งตั้ง ผกก.’ อำนาจใคร?
ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2556 ประกอบกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในตำแหน่งต่างๆ พบว่า นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการ คัดเลือกตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยตรง และเป็นผู้นำรายชื่อ ตั้งแต่ระดับ จเรตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงไปจนถึงระดับผู้บังคับการ ขณะที่ในตำแหน่งผู้กำกับการ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ