ถ้า อบจ.ดี ประเทศจะดีตาม ?
“ชลบุรี” เป็นจังหวัดใหญ่ ที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ได้ถึง 42 คน การเลือกตั้งของที่นี่ ไม่ใช่แค่เรื่องท้องถิ่น แต่ยังเกี่ยวพันถึงการเมืองระดับประเทศ
The Active – Policy Watch ไทยพีบีเอส จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่สาธารณะใน 3 ภูมิภาค เริ่มแรกที่จังหวัดชลบุรี เพื่อสื่อสารความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และการใช้งบประมาณระดับท้องถิ่น พร้อมไปกับการเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนความต้องการ และความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง อบจ. ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 27 : เลือก อบจ. เลือกอนาคตท้องถิ่น”
ชลบุรีมีงบฯ อบจ.มากที่สุดในประเทศ 4,500 ล้าน
จากการรวบรวมข้อมูล “งบประมาณ” ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมปกครอง มหาดไทย ในช่วงปี 2566 – 2568 โดยสถาบันพระปกเกล้า, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Rocket Media Lab พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีงบฯ อบจ. มากที่สุดในประเทศไทย 4,500 ล้านบาท โดยได้มาจากการจัดเก็บเองกว่า 324 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีศักยภาพมากที่สุดในภาคตะวันออก
- ภาษีอากร (น้ำมัน, ยาสูบ) 32 ล้านบาท คิดเป็น 68.93%
- ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต (ค่าธรรมเนียมโรงแรม ค่าธรรมเนียมเก็บขยะมูลฝอย) 31 ล้านบาท คิดเป็น 17.87%
- รายได้จากทรัพย์สิน 61 ล้านบาท คิดเป็น 9.64%
- อื่น ๆ (รายได้เบ็ดเตล็ด 10 ล้านบาท และรายได้จากทุน 324,590 บาท) คิดเป็น 3.46%
“รายได้หลักของ อบจ.ชลบุรี ตอนนี้พึ่งพิง ‘ภาษียาสูบ’ มากที่สุดประมาณ 146 ล้าน รองลงมาคือ ‘ภาษีน้ำมัน’ 77 ล้าน ขณะที่ ‘ค่าธรรมเนียมโรงแรมชลบุรี’ เก็บได้เป็นอันดับที่สามของประเทศ 47 ล้านเท่านั้น แล้วจะเกิดขึ้นในอนาคตที่คนเริ่นหันไปสนใจบุหรี่ไฟฟ้า และรถไฟฟ้ามากขึ้น นั่นหมายความว่าเงินในกระเป๋า อบจ.จะลดลงไปอีก”
สันติชัย อาภรณ์ศรี Rocket Media Lab
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ “อบจ.ชลบุรี” ที่ต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในอนาคต แต่ยังรวมถึงทั้งภูมิภาคตะวันออก และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่พึ่งพิงภาษีอากรจากน้ำมันและยาสูบเป็นส่วนใหญ่
ส่วน อบจ.ชลบุรี ใช้งบประมาณมากที่สุดไปกับอะไร ? บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab พบอีกว่า ใช้ไปกับอุตสาหกรรมและโยธา เช่น สร้างถนน สร้างบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐาน 48.83% การศึกษา 18.30% ซึ่งสอดคล้องกับส่วนภูมิภาค ศาสนาวัฒนธรรม และนันทนาการ 8.54% สาธารณสุข 7.26% งบกลาง 6.16% และอื่น ๆ (รักษาความสงบภายใน สร้างความเข้มแข็งของชุมชน สังคมสงเคราะห์ เคหะชุมชน และเกษตร) 3.78%
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า อบจ.ชลบุรี นำงบประมาณไปใชทำถนนเป็นหลัก รองลงมาคือสร้างอาคาร สร้างสะพาน พัฒนาระบบน้ำประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออก แต่ที่แตกต่างคือ ให้ความสำคัญกับ “การจราจร” สูงถึง 8.92% (12.37 ล้านบาท) มากที่สุดในภูมิภาค
“อยากให้ชวนกันคิดต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เราต้องการจะผลักดันอะไร ดูตัวเลขแล้วคิดต่อว่าเรื่อไหนถูกผลักดันไปแล้วมากน้อยขนาดไหน ถ้ามากไป หรือน้อยไป จะแบ่งงบประมาณส่วนนั้น มาลงทุนในส่วนที่ต้องการได้มากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้จะนำไปสู่การพูดคุยกับ นายก อบจ. และ ส.อบจ.เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้น”
สันติชัย อาภรณ์ศรี Rocket Media Lab
โจทย์ยาก อบจ. แผนส่วนกลางกับยุทธศาสตร์ท้องถิ่นยังสวนทางกัน
“ชลบุรีมีงบประมาณ อบจ. มากที่สุด แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีรายจ่ายมากที่สุดเช่นกัน”
นี่คือความท้าทายของ “ชลบุรี” ที่ ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นจากข้อมูลงบประมาณ 3 ปี ย้อนหลังของ อบจ.
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เห็นในตัวเลขคือ “แผนของจังหวัด” ซึ่งไม่ตรงกับ “ยุทธศาสตร์ของท้องถิ่น” โดยแผนของจังหวัดจะเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ยุทธศาสตร์ของ อบจ.กำลังเน้นที่สิ่งแวดล้อม และยิ่งน่ากังวลมากขึ้นไปอีก เมื่อทุกปีการเขียนยุทธศาสตร์ท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนไปตามงบประมาณรายปีที่ได้รับการจัดสรรด้วย
ชี้ให้เห็นว่าการทำงานระหว่าง “ส่วนกลาง” กับ “อบจ.” ไปจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับย่อยลงมา ได้แก่ อบต. และ เทศบาล ไม่ค่อยสอดคล้องกัน และยังขาดแผนรองรับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อีกทั้งยังต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ คือ งบประมาณแม้จะมีเยอะแต่ก็ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญของชลบุรีที่มีความซับซ้อน, ความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ที่อาจทำให้การเก็บภาษียาสูบและภาษีน้ำมันทำได้น้อยลง, อุบัติเหตุอุตสาหกรรมที่อาจเจอมากขึ้น จากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวที่แม้เป็นที่นิยม แต่กลับไม่สามารถเก็บเงินได้เยอะ
“เมื่อแผนของจังหวัดที่ลงมาไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของ อบจ. คำถามคือเขาจะดีลกับส่วนกลางอย่างไร แล้วแผนที่มีจะซ้อนกับแผนเทศบาล และ อบต. มากน้อยขนาดไหน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจังหวัดในอีก 20 ปีข้างหน้า”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความคาดหวัง ความต้องการของ “คนชลบุรี”
ยุคแห่งความเฟื่องฟูของชลบุรีอยู่ที่การเป็น “พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (EEC) ที่ทำให้แรงงานจากทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามา
แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ปรับตัวตามไม่ทัน และการไม่ได้จ่ายภาษีอย่างเต็มประสิทธิภาพของประชากรแฝงเหล่านี้ กลับทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” เกิดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย เป็นปัญหาสังคม กระทบคุณภาพชีวิตในหลายมิติ
“โครงสร้างการบริหารประเทศไทย ไม่ได้ถูกปรับตัวในรอบ 100 ปี ชลบุรีและอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ ต้องเป็นทั้งท้องถิ่นนิยม จังหวัด และโกลบอลไลเซชัน คือเมื่อก่อนอาจเห็นคนต่างชาติเป็นนักท่องเที่ยว แต่ระยะหลังเขาเริ่มเข้ามาเป็นนักลงทุน เป็นผู้เช่าซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว คนหลั่งไหลเข้ามา จึงเกิดปัญหาซับซ้อนที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้เพียงลำพังไม่ได้”
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
แต่การกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ ยัง “ต้องยึดโยงกับส่วนกลาง” อบจ.จึงไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำได้ อีกทั้งยังมี “กลไกการตรวจสอบที่เข้มข้น” โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยทำหน้าที่ตรวจตราการใช้งบประมาณ แม้จะมีข้อดี แต่ในบางครั้งก็ตีความแปลก จน อบจ. ไม่กล้าใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้งบประมาณแบบตัดเสื้อโหล เพราะกลัวจะโดนตีความให้ผิดกฎหมาย
เป็นเหตุผลให้เราเห็นแต่การพัฒนาเมืองแบบเดิม ๆ เช่น ทำถนน ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งแม้ พลอยรุ้ง สิบพลาง Epigram จะมองว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เมืองพัฒนาเมืองดีขึ้นก็ตาม แต่ยังขาดการพัฒนาบางอย่างควบคู่ไปด้วย เช่น การจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งแวดล้อม
สำหรับ “สิ่งแวดล้อม” เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของชลบุรี และมีแนวโน้มที่จะพบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2566 เพียงปีเดียว ต้องเผชิญทั้งปัญหาการลักลอบขนย้ายแร่กากแคดเมียม เหตุน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล และแอมโมเนียมรั่วในโรงงานน้ำแข็ง กระทบการดำเนินชีวิตและสุขภาพของคนชลบุรีในวงกว้าง
แต่ด้วย “ชลบุรี” ถูกใช้พื้นที่ทางทะเลเยอะ อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี จึงอยากให้ผู้นำชลบุรีคนใหม่ ให้ความสำคัญกับการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม การดูแลทรัพยากรชายฝั่ง และสิ่งแวดล้อม โดยอาจ “จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่ม” เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย ๆ หรือเข้ามาสนับสนุนแผนพัฒนาชุมชนอย่างธรรมนูญอ่าวอุดมให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“โจทย์สำคัญของ อบจ.คือจะดูแลทรัพยากรชายฝั่งอย่างไร เพราะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด และเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวด้วย”
อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี
ปชช. พร้อมแล้ว อบจ.พร้อมยัง จับมือพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่นยืน
“งบที่ อบจ. นำไปลงทุนในแต่ละด้าน เพื่อแก้ปัญหาในจังหวัด ตรงใจกับประชาชนมากน้อยขนาดไหน ที่จริงแล้วสภาพลเมืองก็พยายามสะท้อนความคิดของพี่น้องไปให้ถึง อบจ. แต่เสียงเหล่านี้กลับไม่มี ‘ช่องทาง’ ไปให้ถึง ปัญหาที่อยากจะแก้ จึงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังมากนัก”
สุวโรจน์ เอมเขียน ตัวแทนสภาพลเมือง จังหวัดชลบุรี
ในฐานะที่ “สภาพลเมือง” เป็นศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ที่จัดตั้งโดยสถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่ดูแลประชาชน ช่วยส่งเสียง เสนอปัญหาต่าง ๆ ผลักดันไปสู่ตัวองค์กรส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยฐานรากด้วยกัน
แต่ในเมื่อไร้ซึ่งช่องทางส่งเสียง สุวโรจน์ เอมเขียน ตัวแทนสภาพลเมือง จังหวัดชลบุรี จึงตั้งคำถามกลับว่า แล้วภาคประชาชนจะต้องทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อการเดินไปหา อบจ. ชาวบ้านไม่ได้อยากเป็นการเมือง แค่อยากให้พวกเขารับฟัง
“สภาพลเมือง เป็นโมเดลภาคประชาชน ที่ไม่ได้เป็นทางการในเชิงโครงสร้าง ถ้าอยากจะพัฒนาท้องถิ่นแต่ถึงขั้นต้องไปเขียนกฎหมายเอง ตรงนี้จะแข็งเกินไป แต่ถ้าการจัดตั้งขึ้นเองนี้ อยู่บนความสำนึก ตื่นรู้ ของประชาชน แล้วสามารถมีช่องทางเข้าไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่เป็นทางการได้ ตรงนี้จะดีที่สุด”
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
โมเดล “เส้นเลือดฝอย” แก้ปัญหากระจายอำนาจท้องถิ่น
โครงสร้างการบริหารประเทศของไทย มีทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น เมื่อมีหลายระบบมากจึงเป็นปัญหา เพราะส่วนกลางมองว่า อบจ.เป็นเครื่องมือที่จะสานต่อนโยบายของรัฐบาลลงไปสู่จังหวัด ขณะที่ อบจ.ก็มีความตั้งใจเดิมจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ในบางครั้งสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ กลับไม่มีอยู่ในกรอบการทำงานที่ส่วนกลางมอบหมายให้ อบจ.ปฏิบัติ ทำให้ อบจ.ไม่มีอำนาจที่จะขับเคลื่อนโจทย์ของท้องถิ่นได้
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย มองว่านี่คือ “การกระจายอำนาจที่ยังไม่เป็นจริง”ซึ่งการจะคลายล็อกนี้ให้ถึงฝัน จะต้องมี “พื้นที่สาธารณะ” เปิดให้คิดและออกแบบร่วมกัน เพียงแต่ในวันนี้ยังไม่มีให้เห็น
อย่างไรก็ตามในวันนี้เราอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกตีกรอบแล้วว่า อบจ.จะต้องทำอะไร ในกฎหมายระบุไว้แล้วว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จัดเก็บได้จากตรงไหน ส่วนกลางดูแลอะไร
“ตอนนี้ไม่ใช่วาระที่จะมารื้อ เพียงแต่กลายเป็นเรื่องที่เราจะต้องหาคนเข้าไปทำงานภายใต้โครงสร้างที่ล็อกไว้ แต่ถ้าถามว่าในอนาคตควรจะถูกปรับเปลี่ยนไหม ถ้าเราทบทวนข้อมูลเหล่านี้ดูดี ๆ ก็จะพบว่าจำเป็น”
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อ คือตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง และในการปรับบทบาท อบจ.จะให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันกับผู้ว่าราชการกรุงเทพ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ทำอยู่คือ “นโยบายเส้นเลือดฝอย” อะไรที่ส่วนกลางหรือเส้นเลือดใหญ่ทำ ก็ให้ส่วนกลางดูแล แต่จะไปสนับสนุนเทศบาล อบต.เป็นหลัก หรือจะเข้าไปเสริมเส้นเลือดใหญ่ (ส่วนกลาง) ที่ดูแลไม่ทั่วถึง ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ อบจ. หรือส่วนกลางที่จะต้องช่วยกันคิดต่อ
ขณะที่ ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มองว่า หน้าที่ของ อบจ. เป็นเรื่องของ “เส้นเลือดฝอย” เพราะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำมันร่วม ประชากรแฝง หรือทุนต่างประเทศที่เข้ามา ต่างก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยการบริหารจัดการ
“เส้นเลือดฝอยหมายความว่าต้องแก้ด้วยการบริหารจัดการ ดังนั้นเราต้องการนายก อบจ. ที่มุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาจริง และต้องกล้าชน”
ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ
ยกตัวอย่างเรื่อง “การจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว” ที่ช่วงนี้ชาวจีนมาเปิดพูลวิลลาปล่อยให้เช่าจำนวนมาก แต่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ อบจ.แม้จะไม่มีอำนาจจัดการเรื่องนี้โดยตรง แต่จะสามารถเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะนี่เป็นปัญหาเส้นเลือดฝอย ที่ต้องการการบริหารจัดการเข้ามาแก้
สุดท้ายนี้ เวลาพูดถึง อบจ. คนมักให้ความสนใจกับ “นายก อบจ.” แต่ที่จริงแล้วการทำหน้าที่เชิงรุกก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือการเจรจาต่อรอง เมื่อส่วนกลาง หรือ ส.อบจ. เห็นไม่ตรงกัน จะมีหลักคิดและการทำงานอย่างไร
ผู้สมัคร นายก อบจ.ต้องพร้อมสานต่อข้อเสนอของประชาชน
แม้ดูเหมือนจะหมดหวัง ที่ อบจ.ติดกรอบหลาย ๆ ด้าน จนแทบจะไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอย่างสร้างสรรค์ แต่ประชาชนยังไม่หมดหวัง หลายคนยังอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นสัญญาณที่ดีว่า “การกระจายอำนาจ” จะถูกขยับและยกระดับไปสู่ “การเมืองในระดับนโยบาย” ในขณะเดียวกันผู้สมัครนายก อบจ.ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการฟังเสียงของประชาชนและนำมาจัดทำนโยบายเพื่อการหาเสียงมากขึ้น
วิทยา คุณปลื้ม ผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี เปิดเผยว่า จากการรับฟังเสียงประชาชน และจัดการประกวดนโยบาย ทำให้เกิดแนวคิดพัฒนาจังหวัดให้เป็น “มหานครของคนทุกเจน (GEN : Generation)” โดยใช้หลักคิด 3D คือ เศรษฐกิจดี การศึกษาดี และคุณภาพชีวิตดี
- เศรษฐกิจดี ขยายเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการเกษตร ให้สอดรับกับการเติบโตของเมือง ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคการผลิตชุมชน กลุ่มเกษตร และกลุ่มประมงมีความเข้มแข็ง
- การศึกษาดี พัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา โดยเน้นเอาเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาช่วย
- คุณภาพชีวิตดี ยกระดับการรักษาพยาบาล ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถดูแลผู้ป่วยปฐมภูมิและทุติภูมิเองได้ ลดภาระโรงพยาบาลใหญ่ในตัวเมือง และจัดการปัญหามลพิษ อาทิ PM 2.5 น้ำเสีย และขยะพิษชุมชน โดยนำเอาคอนเซปต์ “Smart City” มาใช้ จัดทำแอปพลิเคชัน “ชลบุรี” เพื่อเปิดรับข้อเสนอของคนรุนใหม่ มาพัฒนาให้ชลบุรีกลายเป็นมหานคร
ด้าน ประมวล เอมเปีย ผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี มองว่า สิ่งที่คนชลบุรีต้องการมากที่สุดต่อจากนี้คือ การปรับผังเมือง การจราจร และการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนโยบายจากส่วนกลาง อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ ต้องใช้งบประมาณพอสมควร ถ้ารัฐบาลไม่ให้งบประมาณมา อบจ.อาจแบกรับภาระทั้งหมดนี้ไม่ไหว
แต่สิ่งที่ทำได้เลย คือการจัดสรรงบประมาณไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อยกระดับการให้บริการฟอกไต ให้ประชาชนสามารถเดินทางมาได้ที่ รพ.สต. โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลในตัวเมืองอีก ซึ่งนอกจากจะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางแล้ว ยังลดภาระให้โรงพยาบาลใหญ่ด้วย
แก้ปัญหาการเดินทางมาฟอกไตของประชาชน รวมถึงการศึกษาต้องให้ทุกคนเข้าถึงได้และพูดได้หลายภาษา และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องติดตั้งกล้องวงจนปิดเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ชุดาภัค วสุเนตรกุล ผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี อยากชวนคนชลบุรีมาคิดต่อด้วยกันว่า ทำไมจังหวัดมีงบ อบจ.เยอะและมีศักยภาพไม่ใช่น้อย แต่จะทำให้ชลบุรีดีขึ้นมากกว่านี้ได้ไหม
จากที่ตัวเองได้เปิดพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา จึงได้แนวคิดการพัฒนาเมืองเป็น “บ้านที่โอบรับทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย รวมถึงผู้ที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองชลบุรี เพราะเมื่อพวกเขามาทำงานและมาเสียภาษีที่นี่ จึงต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วยกัน โดยจะจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟู สร้างอาชีพให้ผู้พิการ สร้างแหล่งท่องเที่ยวทุกอำเภอ ไม่ให้การท่องเที่ยวกระจุกตัวเหมือนในปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาระบบการจราจร พัฒนาสินค้าท้องถิ่น ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าชลบุรีมีดีมากกว่านั้น
นอกจากนี้จะเปิดเผย “ข้อมูลเรื่องบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่าง” ให้หาดูได้ง่าย พร้อมกับมีระบบเหมือนอย่าง “Traffy Fondue” เปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนหรือเสนอความเห็นนโยบายต่าง ๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
การเลือกตั้ง อบจ. คือโอกาสสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่นับจากนี้ไปอีก 4 ปี เราทุกคนจะต้องช่วยกันติดตามการทำงานของ นายก อบจ. และ ส.อบจ. ในพื้นที่ด้วย เพื่อคอยส่งเสียงสะท้อน ขับเคลื่อนสิ่งที่ใฝ่ฝันไปให้ถึงเป้าหมาย