คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการพิจารณาการขอใบอนุญาตต่าง ๆ จากทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ฉบับเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67 ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. …. (พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน) ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน ดังกล่าว ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการตรวจพิจารณาแล้ว
โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ซึ่งกำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ให้ใช้บังคับแก่บรรดาการอนุญาตการจดทะเบียน การแจ้ง การพิจารณา การดำเนินการ และการให้บริการหรือประโยชน์อื่นใดแก่ประชาชน บรรดาที่ประชาชนต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน ฉบับใหม่ จะใช้บังคับกับการอนุญาตการจดทะเบียน การแจ้ง การพิจารณา การดำเนินการ และการให้บริการหรือประโยชน์อื่นใดแก่ประชาชน บรรดาที่ประชาชนต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ
โดยมีการกำหนดเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน ลดขั้นตอนการอนุญาตที่ไม่จำเป็น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุญาตและการให้บริการภาครัฐและให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต เพียงเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการลดภาระและต้นทุนของประชาชน ลดการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม ดังนี้
หน่วยงานของรัฐพึงพัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพกาล
กำหนดให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน สำหรับกรณีที่การอนุญาต การให้บริการมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องออกกฎโดยคำนึงถึงความสะดวกและรวดเร็วที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และสร้างภาระแก่ประชาชนน้อยที่สุด โดยกฎนั้นจะต้องไม่กำหนดให้ประชาชนต้องยื่นเอกสารที่หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้ออกหรือมีเอกสารหรือสำเนาเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองอยู่แล้ว รวมทั้งจะกำหนดให้ประชาชนต้องส่งมอบหรือทำสำเนาเอกสารให้มากกว่า 1 ชุดอีกต่อไปไม่ได้
กำหนดหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการรับและตรวจสอบคำขออนุญาต กรณีกฎหมายใดกำหนดให้ประชาชนต้องขออนุญาตหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนภายใน 60 วัน นับแต่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด เช่น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอ ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมคำขอ เป็นต้น และให้สำนักงาน ก.พ.ร. มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าคู่มือสำหรับประชาชนนั้นสอดคล้องกับหลักการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่
กำหนดให้เมื่อรับคำขอแล้ว ผู้อนุญาตต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ
กำหนดให้หลักเกณฑ์กลางในการรับและตรวจสอบคำขออนุญาตที่เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบทันที สำหรับกรณียื่นเป็นเอกสาร และภายใน 1 วันทำการ สำหรับการยื่นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ยื่นทราบทันที
กำหนดให้สามารถออกกฎกระทรวงกำหนด กรณีที่ไม่สามารถแจ้งผลการตรวจสอบคำขอและเอกสารหรือหลักฐานได้ทันที เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ทั้งนี้ ต้องระบุเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบ
กำหนดให้มีระบบอนุญาตหลัก (Super License) ซึ่งเป็นกรณีจะต้องขออนุญาตต่อผู้อนุญาตหลายราย หรือหลายกระบวนการ เมื่อกำหนดให้ผู้ใดได้รับใบอนุญาตหลักของกิจการใดให้ถือว่าผู้นั้นได้รับใบอนุญาตรองของกิจการนั้นด้วย โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับอนุญาตรองใหม่อีก
กำหนดให้มีการทบทวนและปรับปรุงการใช้ระบบอนุญาตอย่างน้อยทุก 5 ปี พร้อมกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนด รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์รับคำขอกลาง เพื่อรับคำขอและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ประชาชนยื่นมา ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
กำหนดให้ ครม.สามารถขยายอายุใบอนุญาตที่สั้นกว่า 5 ปี ให้มีอายุไม่น้อยกว่า 5 ปีได้ โดยการตราพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ ครม.จัดตั้งศูนย์รับคำขอกลางขึ้นในหน่วยงานของรัฐ เพื่อรับคำขอและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ยื่นมา โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ทั้งนี้จะมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก็ได้
นอกจากนี้ ยังได้มีการเพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยการจัดให้มีการเผยแพร่คู่มือสำหรับประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และกำหนดให้มีระบบช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วนสำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงให้มีการจัดทำแบบคำขอ หรือแบบใบอนุญาตเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น
พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่หมวด 1 บททั่วไป และมาตรา 36 วรรคสอง (การจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง