รู้จักประเมิน B-READY ของธนาคารโลก
ธนาคารโลก (World Bank) ได้เริ่มทำโครงการ Business Ready หรือ B-READY เพื่อวัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หลังก่อนหน้านี้ได้ประกาศยกเลิกทำรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) เมื่อปลาย 2564 เนื่องจากพบความผิดปกติของรายงาน โดยมีเจ้าหน้าที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์เข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลของจีนในตัวรายงาน Doing Business 2018 รวมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในตัวรายงานรายงาน Doing Business 2020 ส่งผลให้ข้อมูลออกมาดีกว่าที่ควรจะเป็น และยังมีการแก้ข้อมูลของอาเซอร์ไบจานให้ด้อยกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดใหม่ B-READY จะมีความคล้ายคลึงกับ Doing Business แต่การประเมินจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเพิ่มเป็น 798 ตัวชี้วัด จากเดิมที่ 202 ตัวชี้วัด
การประเมิน B-READY ทาง ธนาคารโลก จะเข้าไปดูเรื่องกฎระเบียบ และการบริการภาครัฐในแต่ละประเทศที่มีต่อภาคเอกชน ว่ามีความซับซ้อนและความยาก-ง่ายต่อการประกอบธุรกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นเป็นเครื่องมือที่จะส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน ถ้าหากประเทศไหนมีบรรยากาศในการประกอบธุรกิจที่ดี ก็จะส่งเสริมให้มีขีดความสามารถในการแข่งมากขึ้น เพราะนักลงทุนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้น
(เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก Business Ready (B-READY) ใช้แทน Doing Business)
กรอบการประเมินของ B-READY จะแบ่งตามวงจรธุรกิจ เริ่มตั้งแต่
การเข้าสู่ธุรกิจ ดูในเรื่องข้อมูลที่จำเป็นและแบบฟอร์มมาตรฐานในการจดทะเบียนธุรกิจ,การเปิดเผยข้อมูลผู้รับผลกประโยชน์ที่แท้จริง, การประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ และข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติ
ที่ตั้งธุรกิจ ดูในเรื่องระเบียบมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านที่ดิน, ข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของที่ดินของผู้ประกอบการในประเทศและชาวต่างชาติ ความเสมอภาคทางเพศ และกฎระเบียบในการขออนุญาตก่อสร้าง และการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
บริการสาธารณูปโภค ดูในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการความปลอดภัย และการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
บริการด้านการเงิน ดูในเรื่องกฎระเบียบที่อ้างอิงแนวปฏิบัติที่ดีในการกู้ยืม, การใช้หลักประกันการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการเงินสีเขียว
แรงงาน ดูในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงาน ข้อจำกัด และค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน
การค้าระหว่างประเทศ ดูในเรื่องกฎระเบียบที่อ้างอิงแนวปฏิบัติที่ดีในด้านการค้าระหว่างประเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การจัดเก็บภาษี ดูในเรื่องความชัดเจนและความโปร่งใสของกฎระเบียบด้านภาษี และการกำกับดูแลที่เกี่ยวกับภาษีสิ่งแวดล้อม
การระงับข้อพิพาท ดูในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทางศาลยุติธรรม รวมถึงประเด็นด้านความเสมอภาคทางเพศ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และกระบวนการระงับข้อพิพาท
การแข่งขันทางการตลาด ดูในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวของกับการกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการตลาด เช่น รัฐวิสาหกิจ การควบรวมกิจการ กฎระเบียบที่ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การล้มละลายทางธุรกิจ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการบังคับคดี การจัดการทรัพย์สิน และกระบวนการเฉพาะสำหรับ SME และการล้มละลายข้ามชาติ
นอกจากนี้การประเมินในแต่ละด้านก็จะเน้นให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ประกอบด้วย การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digital adoption) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) และความเท่าเทียมทางเพศภาพ (Gender)
ธนาคารโลกได้แบ่งรอบการประเมินออกเป็น 3 เฟส โดยเฟสที่ 1 จะประเมิน 50 ประเทศ ซึ่งประกาศผลออกมาแล้วเมื่อ 3 ต.ค.67 ที่ผ่าน ส่วนเฟสที่ 2 จะประเมิน 62 ประเทศ ประกาศผลปี 2568 และไทยอยู่ในเฟสที่ 3 ประเมิน 72 ประเทศ ประกาศผลปี 2569 รวมทั้งหมด 184 ประเทศ
ไทยเร่งปฏิรูปราชการรับมือ B-READY
คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 ถึงการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน B-READY โดยไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนดังนี้
- เร่งปรับปรุงการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของการประเมิน B-READY โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นเพศสภาพ
- พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนเป็นอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและพัฒนาระบบหลังบ้านของแต่ละหน่วยงานให้เชื่อมโยงกัน เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
- ปรับปรุงและพัฒนางานบริการประชาชนโดยคำนึงถึงบริบททั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย
- สื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน B-READY และความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐให้ภาคเอกชนและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องก่อนที่ธนาคารโลกจะเริ่มเข้ามาสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ก.พ.ร.ยังได้กำหนดประเด็นที่ไทยต้องเร่งปฏิรูปทั้ง 10 ด้านตามการประเมิน B-READY พร้อมกำหนดหน่วยงานภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบทั้งเจ้าภาพหลัก และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย
3 เรื่องที่ท้าทายของไทย
อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวกับ Policy Watch ว่า การประเมิน B-READY ของธนาคารโลก ในครั้งนี้ แม้จะใช้รูปแบบเดิมเหมือนกับ Doing Business แต่จะมีความเข้มข้นมากกว่า โดยได้เพิ่มเรื่องยาก ๆ เข้ามาอีก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรงงาน ซึ่งจะดูในด้านการดูแลแรงงานในประเทศ และเรื่องการแข่งขันทางการตลาด แน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับภาครัฐโดยตรง เพราะเป็นผู้กำกับดูแลการแข่งขันทางการตลาดให้มีความโปร่งใส ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายในทุกประเทศ เนื่องจากผลการประเมินในเฟสแรกที่ออกมาล่าสุดดูไม่ค่อยดีนัก
อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ
การประเมิน B-READY ยังให้น้ำหนักเรื่องของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดย เลขาธิการ ก.พ.ร. ยอมรับว่าหนักใจเรื่องนี้ เพราะธุรกิจ SME ไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้มากเท่าบริษัทขนาดใหญ่ ว่าเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งกระทบอย่างไรต่อธุรกิจบ้าง ซึ่งเลขาธิการ ก.พ.ร.ได้ยกตัวอย่างมาตรการในต่างประเทศ เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เป็นต้น ซึ่งเขาจะตรวจสอบธุรกิจทั้งกระบวรการผลิต (Supply Chain) ว่ามีความยั่งยืนจริงหรือไม่ หากไม่มีความยั่งยืน สินค้าไทยก็จะส่งออกไปขายต่างประเทศไม่ได้
ดังนั้นเป็นหน้าที่ภาครัฐต้องสื่อสารประชาชนให้ทราบและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดประชุมพูดคุยและถ่ายทอดความรู้ให้กับธุรกิจ SME ว่าควรจะต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางรายก็ไม่ได้อยู่ในสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย อาจต้องอาศัยสื่อกระจายข่าวเรื่องนี้ให้ได้รับรู้กันทั้งหมด และภาครัฐก็ต้องเร่งปล่อยองค์ความรู้เผยแพร่ออกไป
“ห่วงเรื่องการผลิต หากเขาพบว่าทำลายสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนด์เยอะ มันก็จะมีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะ SME แต่ปัญหาอาจมีตั้งแต่เกษตรกร หากยังคงเผาไร่ หรือใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะมีปัญหา”
ส่วนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศภาพ ไทยไม่น่าเป็นห่วง เพราะเปิดกว้างในแง่ให้สิทธิความเท่าเทียม แต่อาจต้องดูในเรื่องสิทธิของผู้หญิงในการทำงาน เช่น การลาคลอดที่ปัจจุบันให้ระยะเวลา 98 วัน และยังได้รับค่าจ้างเต็ม ซึ่งธุรกิจขนาดเล็ก SME จะอาจรับภาระตรงนี้รับไม่ไหว และอาจเลือกวิธีไม่จ้างแทน หรือจ้างแรงงานผู้หญิงน้อยลง
ขณะที่ในเรื่องดิจิทัล หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ ปัจจุบันภาครัฐยังคงมีอุปสรรค เนื่องจากบริการของทุกหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันบนระบบระบบพอร์ทัลกลาง (Portal) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ในช่องทางเดียวตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่ง สำนักงาน ก.พ.ร.ตั้งเป้าภายในปี 2569 จะรวมทุกบริการของภาครัฐไว้ในระบบพอร์ทัลกลางให้ได้
น่าห่วงวัดผลปีแรกคะแนนตก
สำหรับการเก็บข้อมูลของไทย เพื่อการประเมิน B-READY ธนาคารโลกจะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2567 และวัดผลในปี 2568 ก่อนประกาศผลปี 2569 จากนั้นก็จะเก็บข้อมูลแบบนี้ต่อไปทุกปี โดยจะเก็บข้อมูลจากทั้งภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการ ซึ่งก็น่าเป็นห่วง เพราะปีแรก ๆ ส่วนใหญ่ที่คะแนนตกกัน เนื่องจากคำถามที่ใช้เก็บข้อมูลจะเปลี่ยนใหม่ตลอด เพื่อป้องกันเดาทางคำถามได้ และตัวชี้วัดก็มีจำนวนมากหลายร้อยตัวชี้วัด
การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร.ได้กำหนดไว้แล้วว่าหน่วยงานไหนบ้างจะเป็นเจ้าภาพหลักเตรียมความพร้อมในแต่ละด้าน โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมก็พยายามให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดู ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร.ได้ประชุมเรื่อง การประเมิน B-READY กับหลายหน่วยงานมาหลายครั้ง เพื่อสร้างความตระหนัก รวมถึงการวางแผนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และยังได้วิจัยศึกษาหาจุดอ่อนปัญหาของไทย เช่น เรื่องแรงงาน และการแข่งขันทางการตลาด ที่ไทยยังทำได้ไม่ดีพอ
ขณะเดียวกันกฎหมายก็จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนในการเตรียมความพร้อมประเมิน B-READY ซึ่งต้องดูว่ามีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคและจะต้องแก้ไข หรือควรมีกฎหมายอะไรออกมารองรับ แต่ปัจจุบันกฎหมายของไทยมีจำนวนมาก และบางกฎหมายก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือรัฐบาลควรออกมาตรการทางบริหารก่อน เช่น มติคณะรัฐมนตรี จากนั้นค่อยนำไปลองใช้ดู และถ้าเห็นว่ามีความจำเป็นต้องยกระดับมากขึ้นก็ค่อยออกเป็นตัวกฎหมาย
แก้กฎหมายชิงความได้เปรียบ
ผลการประเมิน B-READY ของ 50 ประเทศในเฟสแรก อ้อนฟ้า ระบุว่า ผลประเมินจะแบ่งกลุ่ม A, กลุ่ม B+, กลุ่ม B, กลุ่ม B-, กลุ่ม C และรกลุ่ม D ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม B- และ C จำนวนมาก เนื่องจากเป็นการประเมินปีแรก
“พอดูหนแรก รู้สึกว่าตายและ เราต้องออกแรงมากกว่านี้ คือดิฉันก็สรุปไปแบบนั้นทันที คือดูภาพแล้วแบบว่า ดูเทรนด์แล้วต้องออกแรงเยอะขึ้น ประมาณนั้น”
โดยประเทศที่ได้คะแนนประเมินดี เพราะมีจุดเด่นในเรื่องกฎหมาย ซึ่งตอนประเมิน Doing business ไทยได้อันดับที่ดีมาก (Doing business 2020 ไทยติดอันดับ 21 ของโลก จาก 190 ประเทศ ) เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในขณะนี้ได้ออกประกาศคำสั่ง 1 ฉบับ แก้กฎหมาย 7 ฉบับ ส่งผลให้อันดับของไทยกระโดดเพิ่มขึ้นทันที
ในหลาย ๆ ประเทศก็จะใช้วิธีแก้กฎหมาย เพื่อเปลี่ยนกฎกติกาให้เหมาะสมกับการแข่งทางธุรกิจ และอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจ ซึ่งจะทำให้คะแนนการประเมินพุ่งมากขึ้น
ปัจจุบัน รัฐบาลก็สนใจที่จะปฏิรูปกฎหมาย (Omnibus Law) เช่น ออก 1 กฎหมาย แต่แก้ได้หมดทุกด้าน ซึ่งกำลังดูว่าควรจะต้องออกฎหมายอะไร และแก้ในเรื่องอะไร เพื่อให้สามารถแก้ไขได้หลาย ๆ เรื่องในคราวเดียว แต่การปฏิรูปกฎหมายนั้นไม่สามารถทำได้ง่าย เพราะว่าจะไปยกเลิกกฎหมายของหลาย ๆ ส่วนราชการพร้อมกันทีเดียว อาจจะมีการต่อต้านจำนวนมาก
อ้อนฟ้า มองว่า การประเมิน B-READY มีประโยชน์ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าไทยควรต้องอะไรและปรับเปลี่ยนตรงจุดไหน แม้จะบางครั้งการตรวจอาจจะมีความเที่ยงตรง หรือมีอะไรแปลก ๆ อยู่บ้าง แต่การที่ได้รู้ว่าเราได้เปรียบด้านไหน และควรต้องเพิ่มด้านไหม ก็ถือเป็นข้อมูลที่ดีที่จะนำไปปรับปรุง ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมุมมองไหนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย
“คาดว่าผลประเมินของไทย จะอยู่ในกลุ่ม B หรือ B+ เพราะเดิม Doing Business ไทยอยู่ในกลุ่ม B และกำลังจะขึ้นไปกลุ่ม B+”
อ่านเพิ่มเติม:
รู้จัก Business Ready (B-READY) ใช้แทน Doing Business