คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อ 30 เม.ย.68 แม้จะมีผลทันที แต่กว่าธนาคารพาณิชย์จะเริ่มปรับดอกเบี้ยลงหลังจากนั้น บางธนาคารปรับลงอีกไม่กี่วันต่อมา แต่บางธนาคารยังไม่มีการปรับลง
คนทั่วไป ที่ติดตามเรื่องดอกเบี้ยมักจะสงสัยว่าเหตุใดบรรดาธนาคารพาณิชย์จึงปรับดอกเบี้ยช้ากว่ากนง. ทั้ง ๆ ที่มีมติปรับลดเบี้ยมีผลทันที อีกทั้งการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็ไม่เท่ากับกนง.
ดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เป็นดอกเบี้ยธุรกรรมการซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase Transactions) ซึ่งธปท. ทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีผ่านคู่ค้าที่ ธปท. แต่งตั้ง (Bilateral Primary Dealers) ซึ่งเป็นเครื่องมือในดูดซับหรือปล่อยสภาพคล่องแบบชั่วคราว เพื่อให้ปริมาณสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการสภาพคล่องของระบบการเงิน
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย กับดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีวิธีคิดแตกต่างกัน ซึ่งทำให้เมื่อมีการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว เป็นการปรับดอกเบี้ย “ธุรกรรมการซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี” ไม่ใช่ดอกเบี้ยกู้-ยืมของลูกค้าธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์มักจะได้รับแรงกดดันในเรื่องผลกำไรแต่ละปี โดยคนมักจะโยงไปเรื่องการปรับลดดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์ยังคิดดอกเบี้ยเงินกู้ “แพง” ในขณะที่เงินฝากดอกเบี้ย ”ต่ำ“
อย่างไรก็ตาม หากต้องการเข้าใจเรื่องการลด—การขึ้นดอกเบี้ย จะต้องพิจารณาในเรื่อง “ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ Net Interest Margin (NIM) ซึ่งก็คือ ความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด โดยจะครอบคลุมทั้งสินเชื่อและเงินฝาก เงินให้กู้และเงินกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน รวมถึงเงินลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้
แต่ NIM ชี้ให้เห็นถึงการวัดผลกำไรเบื้องต้นจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งไม่ได้สะท้อนผลกำไรที่แท้จริง (net profit) เนื่องจาก NIM ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ เช่น ค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) และค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายพนักงานและเครือข่ายสาขา นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้อื่น เช่น ค่าธรรมเนียมกำไรจากธุรกรรมตลาดเงินและเงินปันผล
ดังนั้น จึงตอบคำถามว่าทำไมหลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เมื่อปลายเดือนเม.ย. 2568 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เริ่มปรับดอกเบี้ยลงในกรอบ 0.05-0.15% ซึ่งปรับลดดอกเบี้ยทั้งเงินกู้-เงินฝาก
เมื่อไรคนกู้จะได้ประโยชน์จากลดดอกเบี้ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า NIM ของระบบแบงก์ไทยมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2/2568 มาอยู่ที่ 2.83% จาก 2.92% ในไตรมาสที่ 1/2567 และคาดว่า NIM ยังมีโอกาสลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับประมาณ 2.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ภายใต้สมมติฐานที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจปรับลดลงอีก 1 ครั้งเพื่อช่วยประคองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อในภาพรวมยังต้องใช้เวลา
ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายและ NIM ของธนาคาร
หากมองย้อนกลับไปที่การลดดอกเบี้ยของ กนง. 3 รอบที่ผ่านมา (เดือนต.ค. 2567 เดือนก.พ. 2568 และเดือนเม.ย. 2568) พบว่ามีการทยอยส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ยและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)ในระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ เพราะแม้ผลในด้านหนึ่งจากการปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการระดมเงินฝากลดลง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังมีจำกัดตามสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
NIM ระบบแบงก์ไทยที่ชะลอลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นั้น สะท้อนผลจากต้นทุนเงินฝากที่ขยับลงช้ากว่าผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ เพราะอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ยจะทยอยมีผลต่อการรับรู้ต้นทุนเงินฝากตามรอบการครบกำหนดของระยะเวลาฝากเงิน
จากโครงสร้างพอร์ตเงินฝากของระบบแบงก์ไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดเงินรับฝากในสกุลเงินบาทส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 69% ของเงินรับฝากโดยรวม
อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มีการปรับลดลงค่อนข้างน้อยในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ต้นทุนการระดมเงินฝากมักจะขยับตามรอบของเงินฝากประจำ โดยเงินฝากประจำระยะไม่เกิน 3 เดือน, ระยะ 3-6 เดือน และระยะ 6-12 เดือน มีสัดส่วนประมาณ 5%, 3% และ 17% ตามลำดับ
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปมองภาพรวมการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ตามรอบการปรับดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ระหว่างเดือนต.ค. 2567-เม.ย. 2568 จะพบว่า การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากมีช่วงเวลาที่หน่วงและช้ากว่าการปรับลดดอกเบี้ยในฝั่งเงินกู้อยู่ประมาณ 1 รอบ
ปรับรอบนี้ลูกหนี้บ้าน-สินเชื่อธุรกิจได้ประโยชน์
คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์เร่งปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงอีกในช่วงที่เหลือของปี 2568 ท่ามกลางแนวโน้มของ NIM ที่จะยังลดลงต่อตามทิศทางดอกเบี้ยในประเทศในครึ่งปีหลัง ขณะที่ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจกระทบการปล่อยสินเชื่อ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวช้า รวมถึงทำให้ความเสี่ยงขาขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพยังมีอยู่
ผลดีของการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะอยู่ที่ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบ้านที่จะเข้าสู่ช่วงปรับดอกเบี้ยเป็นหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันอื่น ๆ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2568 จะมีสัดส่วนประมาณ 56.6% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย
ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจปรับลดลงประมาณ 4,400-4,900 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่เริ่มคำนวณผลของภาระดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้ที่ลดลงในช่วงระหว่างเดือนพ.ค.-ธ.ค. 2568
ที่มา :
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย
อ่านเนื้อหาอื่น