รัฐบาลวางแผนเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Government Token หรือ G-Token) ภายใต้ชื่อ “Thailand Digital Token” หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการให้ดำเนินการได้ โดยเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ของรัฐบาลผ่านโทเคนดิจิทัล และจะทดลองครั้งแรกในวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท
แต่ G-Token ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก ทำให้เกิดความสับสนว่าคืออะไร และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากต้องการลงทุน
G-Token คืออะไร
G-Token เป็นโทเคนดิจิทัล ที่ออกโดยรัฐบาลผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อกู้เงินโดยตรงจากประชาชนในรูปแบบดิจิทัล มีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรออมทรัพย์ แต่จะอยู่ในระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) สามารถติดตามตรวจสอบได้ โดย G-Token ไม่ได้เป็นการกู้เงินก้อนใหม่ แต่ยังคงอยู่ในกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ) หรืออยู่ในแผนการกู้เงินเดิม
โทเคนดิจิทัลนี้ จะถูกกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใต้กฎหมาย พระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)
กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออก G-Token ขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไป ผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คือ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) นายหน้าซื้อขาย (Dealer) เป็นต้น
ผู้ถือ G-Token เสมือนเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิได้เงินต้นคืนเมื่อรัฐบาลไถ่ถอน (ชำระหนี้) และจะได้ผลตอบแทนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังสามารถนำไปซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดรองก่อนครบอายุไถ่ถอน ผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และบริษัทหลักทรัพย์ ตามที่ สบน.พิจาณากำหนด โดยผู้ที่ซื้อ G-Token จากตลาดรองมาอีกทอดหนึ่งก็จะยังคงได้สิทธิได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนและผลตอบแทนเช่นเดียวกัน
ก.ล.ต.เปิดฟังความเห็น 21 วัน
ล่าสุด คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ G-Token และเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน (https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NTM2MkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=) ผ่านทางออนไลน์ในระบบกลางทางกฎหมาย เป็นระยะเวลา 21 วัน ตั้งแต่ 26 พ.ค. – 10 มิ.ย.68 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การกำหนดลักษณะโทเคนดิจิทัลสำหรับ G-Token ให้เป็นโทเคนดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ โดยมีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
2. การยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token รวมถึงไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน และไม่ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง
3. การยกเว้นการขอใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่
- ยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Broker) ให้แก่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Dealer) สำหรับการให้บริการเกี่ยวกับ G-Token
- ยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.) ตามประเภทใบอนุญาตที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับอนุญาต โดยกำกับดูแล บล. ผ่านหลักเกณฑ์การประกอบกิจการอื่น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
4. การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการ G-Token ได้แก่ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำและบริการลูกค้า การรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้า และกำหนดแนวทางการเปิดเผยราคาอ้างอิง (indicative price) รวมถึงหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เกี่ยวกับการทำสัญญา การเปิดเผยข้อมูล และการลงทุนใน G-Token ด้วย
ห้ามใช้ G-Token แทนเงิน
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า G-Token ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (MOP) ได้ เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่อนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการทั่วไปในลักษณะที่เหมือนกับเงินบาท และ ก.ล.ต. ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่นกัน
ปัจจุบันการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดถูกกำหนดเงื่อนไข (Smart Contract) ที่ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้ หรือโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องติดตามรายละเอียดหนังสือชี้ชวนว่าจะกำหนดเงื่อนไอย่างไร
อย่างไรก็ตาม G Token สามารถซื้อขายในตลาดรองได้ หากผู้ลงทุนต้องการขายก่อนครบกำหนดไถ่ถอน หรือผู้ลงทุนอยากซื้อเพิ่มก็สามารถซื้อบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะมีรายใด ต้องรอรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนอีกครั้ง
กรณีความกังวลเรื่องการปั่นราคาซื้อขายในตลาดรอง สำนักงาน ก.ล.ต. มีกลไกในการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรองรับอยู่แล้ว เช่น การสร้างราคา/ปริมาณซื้อขาย (market manipulation) ซึ่งผู้กระทำผิดจะมีโทษทางอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ นอกจากนี้ จะกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยราคาอ้างอิง (indicative price) ที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยคำนวณจากเงินต้นและผลตอบแทน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ลงทุนและป้องกันการบิดเบือนราคา
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) / ระบบกลางทางกฎหมาย / สำนักข่าว infoquest
อ่านเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม