ซีรีส์ “อนาฅต” (Tomorrow and I) บน Netflix เป็นซีรีส์ไซไฟดรามา ที่สะท้อนปัญหาสังคมไทยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอย่างตรงไปตรงมา อย่างในเรื่องราวของ “เด็กหญิงปลาหมึก” ตอนที่ 4 ของซีรี่ส์ที่นำเสนอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผ่านเรื่องราวของเด็กสองคนในชุมชน “นีโอคลองเตย” ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักจากฝนที่ตกไม่หยุด และความเหลื่อมล้ำในการรับมือภัยพิบัติ เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยก็ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างเช่น ความไม่เท่าเทียมในการจัดการภัยพิบัติ ความแตกต่างด้านมาตรการระหว่างชุมชนและฐานะทางสังคม
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แสดงให้เห็นถึงภาพที่น่าสนใจและซับซ้อนเกี่ยวกับผลกระทบของอุทกภัยในประเทศไทย โดยในช่วงหลังปี 2554 พบว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก ขณะที่จำนวนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีล่าสุด อย่างในปี 2565 ที่ตัวเลขพุ่งสูง ถึง 124,308 หลังเพียงในปีเดียว และตลอดระยะเวลา 20 ปี มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยมากถึง 1.7 ล้านหลัง
เมื่อพิจารณาสถิติสถานการณ์อุทกภัยไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างบ้านเรือนที่เสียหาย กับมูลค่าความเสียหาย อาจเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือไม่ พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยกลายเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยลงหรือการจัดการกับอุทกภัยนั้นดีขึ้น จนผลกระทบน้อยลง ชุมชนบางกลุ่มขาดแคลนทรัพยากรในการฟื้นฟู ส่งผลให้มูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้ต่ำกว่าความเป็นจริง หรืออาจเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของนโยบายป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติหรือไม่ ที่อาจยังไม่สามารถลดผลกระทบต่อชุมชนได้อย่างเท่าเทียมกัน
มูลค่าความเสียหายลดลงได้อย่างไร เมื่อภัยลามถึงคนมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กานต์รวี วิชัยปะ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยในมุมมองผู้ทำงานวิจัยประเด็นสาธารณภัยกับท้องถิ่นว่า สถานการณ์นี้สะท้อนถึงประสิทธิภาพการจัดการภัยพิบัติที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดการภัยในระดับท้องถิ่นและชุมชน
“พอเห็นภัยเกิดถี่ขึ้น แต่มูลค่าความเสียหายลดลง ดีใจเลยนะ เห็นประสิทธิภาพจัดการภัยได้ดีขึ้น” กานต์รวี กล่าว
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสียหาย คือการพัฒนามาตรการเชิงโครงสร้างและไม่เชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากมีการปรับปรุง แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
“มันมีพัฒนาการ มาตรการครอบคลุมหลายมิติขึ้น ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ช่วยป้องกันภัยได้ แม้ภัยจะใหญ่ขึ้น แต่โครงสร้างพื้นฐานถ้ารองรับดี ความใหญ่ของผลกระทบจากภัยก็จะลดลง”
ตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือกรณีเมืองหาดใหญ่ เมืองเศรษฐกิจของภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แต่ปัจจุบันสามารถรับมืออุทกภัยได้ดีขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบเตือนภัย และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกันไทยยังมีการปรับนโยบาย และมาตรการตามกรอบ Sendai ที่เน้นการเปลี่ยนแนวทางจาก “การรับมือ” สู่ “การลดความเสี่ยง” ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ทันเวลาและแม่นยำ มีกระตุ้นให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบที่สามารถทนทานต่อภัย ตลอดจนมีการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสีย ส่งผลทำให้การจัดการที่เกิดขึ้นสามารถลดมูลค่าความเสียหายในระยะยาว รวมถึงสามารถเสริมสร้างความยืดหยุ่นในชุมชนได้
เขตเมืองล้ำหน้า ชนบทล้าหลัง?
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ อย่างการตัดสินใจผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปกป้องเขตเศรษฐกิจ ยังเป็นวิธีที่หน่วยงานต่าง ๆ ในไทยเลือกใช้ ที่ช่วยลดมูลค่าความเสียหายโดยรวมและเป็นวิธีที่สามารถเยียวยาได้ง่ายกว่า
กานต์รวี กล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีศักยภาพในการจัดการไม่เท่ากัน บางครั้งก็เพิ่มความเหลื่อมล้ำในการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติ เช่น เทศบาลขนาดใหญ่อย่างหาดใหญ่สามารถดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างครอบคลุม ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่งยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือมีงบประมาณส่วนอื่นที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากกว่า
“เมืองที่โตทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องการลดความเสี่ยงมาก ก็จะจัดสรรงบจัดการเรื่องนี้เยอะ เช่น การสร้างทางระบายน้ำ ระบบเตือนภัย”
ที่น่าสนใจคือ การจัดสรรทรัพยากรมักให้ความสำคัญกับพื้นที่เศรษฐกิจเป็นหลัก พื้นที่อุตสาหกรรมและเขตธุรกิจจะได้รับการป้องกันเป็นพิเศษ แต่พื้นที่เกษตรกรรมมักต้องพึ่งพาระบบระบายน้ำตามธรรมชาติและรับมือแบบเฉพาะหน้า
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ประชาชนหลายคนไม่ทราบว่าพื้นที่ใดเป็นทางน้ำ ส่งผลต่อการตั้งถิ่นฐานที่อาจเสี่ยงต่อภัยพิบัติ
“คนหาดใหญ่รู้ว่าต้องทำอะไร ชักธงสีไหน ก็ทำให้มูลค่าความเสียหายลดลง ในขณะเดียวกันก็มีการทำฟอรัม ทำวิจัยทุกภาคส่วน อย่างปีนี้ที่ภาคใต้โดนหย่อมความกดอากาศต่ำ มี Rain Bomb หาดใหญ่ก็รับมือได้ดี”
หรือประเด็นของเงินเยียวยา ไม่ว่าพื้นที่หนึ่งจะประสบภัยต่อเนื่องยาวนานในปีนี้ หรือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ หรือตัวบ้านมีมูลค่ามากแค่ไหน แต่ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราเท่ากันที่ 9,000 บาทต่อครัวเรือน ในประเด็นนี้ก็อาจจะมองได้ว่า การเยียวยารูปแบบเท่ากันนี้จะกระทบการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มคนเมือง
“ต่อให้เราบอกว่าเรากำลังเยียวยาทุกคนเท่ากัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน บ้านที่เสียหายในบางพื้นที่อาจต้องใช้เงินฟื้นฟูมากกว่า การจ่ายเงินในอัตราเดียวกันจึงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้ประสบภัยทุกคนสามารถกลับมาตั้งตัวได้อย่างเท่าเทียมกัน”
ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการภัยพิบัติในประเทศไทย แม้จะพัฒนาขึ้นจนถึงขั้นที่มูลค่าความเสียหายลดลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังขาดความเท่าเทียมในบางแง่มุม การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยการวางแผนและจัดสรรทรัพยากรที่รอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงความหลากหลายของพื้นที่และความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ต้องควบคู่กันไป
“ที่ภัยเกิดขึ้น มีความเสียหายมากขึ้น ก็คือภาวะโลกรวน เราเห็นว่ามันส่งผลอะไรกับประเทศไทยบ้าง โลกมันรวนอยู่แล้ว แต่มันเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เร่งความรุนแรงของภัยพิบัติมากขึ้น แปรปรวนขึ้น ฤดูฝนก็มีฝนเยอะขึ้น การจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐานของไทยก็ยังมีข้อจำกัด หลายครั้งการบริหารจัดการน้ำยังไม่สามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็นับว่าเป็นความท้าทายของรัฐ”