แม้ว่ารัฐบาลจะถูกวิจารณ์ว่าไม่เอาจริงจังเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยอ้างว่าเป็นประเทศเล็กและมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก แต่เมื่อ 11 ธ.ค. 67 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (แผนปฏิบัติการ) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซภายในปี 2573
แผนปฏิบัติการฯดังกล่าว หลังประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change:UNFCCC) และความตกลงปารีส จะต้องดำเนินการจัดทำการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC) ซึ่งเป็นเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
จากเป้าหมายดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ 30–40% ของกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติที่ไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใด ๆ ภายในปี 2573
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยจะ ต้องควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ระหว่าง 333 – 388 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2573
ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใด ๆ ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อ 23 พ.ค. 60 เห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ระบุใน NDC
จากมติครม.ดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุม 5 สาขาหลัก ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง คือ สาขาพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และ สาขาเกษตร
สำหรับแนวแนวทางที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ มีทั้งสิ้น 5 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 ขับเคลื่อนและติดตามผล การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศรายสาขา
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการที่จะดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศใน 5 สาขา เช่น
- สาขาพลังงาน : การบังคับใช้มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม
- สาขาคมนาคมขนส่ง : การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคขนส่ง
- สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม : การนำก๊าซจากบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยไปเผาทิ้งหรือนำไปใช้ประโยชน์ การยุติการเผากลางแจ้ง
- สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : การใช้วัสดุทดแทนวัสดุที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ สารทำความเย็น
- สาขาเกษตร : การลดการใช้ปุ๋ยเคมี การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
แนวทางที่ 2 พัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือและกลไกในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก
มีสาระสำคัญเป็นกำหนดมาตรการในการสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น (1) จัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (2) ปรับปรุงอัตราภาษียานยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมสารในกระบวนการอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูง (4) พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจกแก่ผู้ประกอบการ
แนวทางที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพการมีส่วนร่วม และเครือข่ายความร่วมมือ ภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการในการสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น (1) สร้างขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก (2) สร้างเครือข่ายประชาชนหรือชุมชนในการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก (3) จัดให้มีช่องทางเผยแพร่นโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก
แนวทางที่ 4 เตรียมความพร้อมการดำเนินการมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศ
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการในการเตรียมความพร้อมของประเทศ เช่น (1) ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการจัดการขยะ (2) ศึกษาวิจัยปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตคาร์บอนต่ำ (3) สำรวจศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน
แนวทางที่ 5 ส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือด้านการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการในการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่น (1) ส่งเสริมให้หน่วยงานภายในประเทศสามารถเข้าถึงเงินทุนจากกองทุนระหว่างประเทศ (2) เข้าร่วมเป็นภาคีหรือการรวมกลุ่มความร่วมมือด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสากลและระดับภูมิภาค
สำหรับแผนปฏิบัติการฯ กำหนดระยะเวลาตามแผน ระหว่างปี 2564–2573 เนื่องจากให้สอดคล้องกับกรอบเวลาดำเนินการตามเป้าหมาย NDC ซึ่งกำหนดระหว่างปี 2564 – 2573 ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการตามแผนดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2564