สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) เปิดผลวิเคราะห์ตลาดแรงงานไทย โดยทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ที่ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย ซึ่งใช้บิ๊กดาต้า (Big Data) และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ที่พัฒนาต่อยอดมากจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย บิ๊กดาต้า เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่างๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยใช้บิ๊กดาต้า จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง ซึ่งมีความแม่นยำสูง และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษาและสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน
ขณะที่รายงานนี้ ทีมวิจัยปรับปรุงระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางาน จากระบบเดิมที่ใช้ประมวลผลในรายงานฉบับก่อนหน้า และใช้เฉพาะข้อมูลจากเว็บไซต์หางานระดับประเทศทั้งหมด รายงานฉบับนี้จะไม่เปรียบเทียบข้อมูลในครั้งนี้กับข้อมูลในอดีต เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน
ไตรมาสที่ 1 ปี 67 หางานวุฒิปริญญาตรีมากสุด
จากการวิเคราะห์ข้อมูลประกาศหางานในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 (1 ม.ค.–31 มี.ค.67) พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 139,573 ตำแหน่งงาน เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่าประกาศรับสมัครงานวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 1,041 ตำแหน่งงาน (0.7%) มัธยมศึกษาปีที่ 6 7,571 ตำแหน่งงาน (5.6%) ปวช. 11,037 ตำแหน่งงาน (7.9%) ปวส. 8,361 ตำแหน่งงาน (6.0%) ปริญญาตรี 56,737 ตำแหน่งงาน (40.7%) สูงกว่าปริญญาตรี 541 ตำแหน่งงาน (0.4%) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 2,526 ตำแหน่งงาน (1.8%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 51,579 ตำแหน่งงาน (37.0%)
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (TSIC) ปี 2552 และใช้ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการจำแนกประเภทธุรกิจ พบว่า มีประกาศรับสมัครงาน ไม่สามารถระบุกลุ่มธุรกิจได้ 67,877 ตำแหน่งงาน (48.6%) การขายส่งและการขายปลีก 22,015 ตำแหน่งงาน (15.8%) การผลิต 16,029 ตำแหน่งงาน (11.5%) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 7,313 ตำแหน่งงาน (5.2%) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 5,250 ตำแหน่งงาน (3.8%)
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 3,694 ตำแหน่งงาน (2.6%) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 3,189 ตำแหน่งงาน (2.3%) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 2,751 ตำแหน่งงาน (2.0%) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2,701 ตำแหน่งงาน (1.9%) การก่อสร้าง 2,443 ตำแหน่งงาน (1.8%) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 2,202 ตำแหน่งงาน (1.6%)
ขณะที่ กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์มี 2,028 ตำแหน่งงาน (1.5%) การศึกษา 492 ตำแหน่งงาน (0.4%) ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 453 ตำแหน่งงาน (0.3%) กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 444 ตำแหน่งงาน (0.3%) เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง 218 ตำแหน่งงาน (0.2%) การจัดหาน้ำการจัดการน้ำเสียและของเสียรวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง 184 ตำแหน่งงาน (0.1%) ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบการปรับอากาศ 170 ตำแหน่งงาน (0.1%) และ การทำเหมืองแร่ และเหมืองหิน 120 ตำแหน่งงาน (0.1%)
10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุด
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพตามการจำแนกของ O*NET ซึ่งเป็นมาตรฐานการจำแนกตำแหน่งงานและใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบ 10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุดดังนี้ 1. พนักงานขาย 14,163 ตำแหน่งงาน (10.1%) 2. งานสนับสนุนทางการบริหาร 12,558 ตำแหน่งงาน (9.0%) 3. การสนับสนุนข้อมูลและบริการ 7,013 ตำแหน่งงาน (5.0%) 4. วิศวกรรมและเทคโนโลยี 6,858 ตำแหน่งงาน (4.9%) 5. งานด้านการตลาด 6,154 ตำแหน่งงาน (4.4%) 6. ผู้จัดการดำเนินการ 5,331 ตำแหน่งงาน (3.8%) 7. งานบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม 4,813 ตำแหน่งงาน (3.4%) 8. การบัญชี 4,342 ตำแหน่งงาน (3.1%) 9. ทรัพยากรบุคคล 3,902 ตำแหน่งงาน (2.8%) และ 10. การออกแบบ / การเตรียมงานก่อสร้าง 3,618 ตำแหน่งงาน (2.6%)
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด 109,558 ตำแหน่งงาน (78.5%) ตามด้วยภาคใต้ 8,003 ตำแหน่งงาน (5.7%) ภาคตะวันออก 6,472 ตำแหน่งงาน (4.6%) ภาคเหนือ 3,945 ตำแหน่งงาน (2.8%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,845 ตำแหน่งงาน (2.8%) ไม่ระบุ 3,616 ตำแหน่งงาน (2.6%) ภาคกลาง 3,302 ตำแหน่งงาน (2.4%) และภาคตะวันตก 832 ตำแหน่งงาน (0.6%)
3 ทักษะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน
ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ประกาศหางาน โดยวิเคราะห์ทักษะต่าง ๆ จากประกาศหางาน อ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล lightcast องค์กรชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตำแหน่งงานและแนวโน้มตลาดแรงงาน และจัดหมวดหมู่ทักษะออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1. กลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป (Soft Skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในทุกกลุ่มอาชีพ
2. กลุ่มทักษะเฉพาะ (Hard Skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในเฉพาะกลุ่มอาชีพ
ผลการวิเคราะห์เผยให้เห็นว่ากลุ่มทักษะทั่วไปยังคงเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดงาน โดย 3 อันดับแรกได้แก่ ภาษาอังกฤษ, การสื่อสาร และ การแก้ปัญหา ความโดดเด่นของภาษาอังกฤษที่ปรากฏในประกาศรับสมัครงาน 27,826 ตำแหน่งงาน (19.9%) จัดว่าเป็นภาษาธุรกิจในระดับสากลที่สำคัญ ตามมาด้วยทักษะในการสื่อสารที่พบในประกาศรับสมัครงาน 21,556 ตำแหน่งงาน (15.4%) และทักษะในการแก้ปัญหา 19,518 ตำแหน่งงาน (14.0%) ผลการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการในวงกว้างของทักษะทั่วไปในอาชีพต่าง ๆ ทั่วทุกกลุ่มอาชีพ
เจาะกลุ่มไอที อาชีพไหนเปิดรับสมัครงานมากสุด
เมื่อจำแนกข้อมูลตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพไอทีจำนวนทั้งสิ้น 6,787 ตำแหน่งงาน พบ 10 กลุ่มอาชีพไอทีที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุดดังนี้ 1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 1,246 ตำแหน่งงาน (18.4%) 2. นักพัฒนาเว็บ 788 ตำแหน่งงาน (11.6%) 3. นักออกแบบเว็บและอินเทอร์เฟซดิจิทัล 669 ตำแหน่งงาน (9.9%) 4. นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ 661 ตำแหน่งงาน (9.7%) 5. เจ้าหน้าที่สนับสนุนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 653 ตำแหน่งงาน (9.6%) 6. โปรแกรมเมอร์ 622 ตำแหน่งงาน (9.2%) 7. นักวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ 574 ตำแหน่งงาน (8.5%) 8. ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล 271 ตำแหน่งงาน (4.0%) 9. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยสารสนเทศ 243 (3.6%) และ 10. นักสถาปัตยกรรมเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 166 ตำแหน่งงาน (2.4%)
ทักษะที่ต้องการในกลุ่มอาชีพไอที
เมื่อจำแนกทักษะเฉพาะเจาะจงของตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพไอที พบว่าทักษะส่วนใหญ่ที่ต้องการ จะเป็นภาษาโปรแกรม และ Framework ของภาษาโปรแกรม โดย 20 ทักษะที่พบมากที่สุดดังนี้ 1. ภาษา JavaScript 1,132 ตำแหน่งงาน (16.7%) 2. ภาษา Java 835 ตำแหน่งงาน (12.3%) 3. ภาษา SQL 830 ตำแหน่งงาน (12.2%) 4. Cascading Style Sheets (CSS) 761 ตำแหน่งงาน (11.2%) 5. HyperText Markup Language (HTML) 731 ตำแหน่งงาน (10.8%) 6. ภาษา C# 666 ตำแหน่งงาน (9.8%) 7. MySQL 661 ตำแหน่งงาน (9.7%) 8. กระบวนการพัฒนาโปรแกรม 643 ตำแหน่งงาน (9.5%) 9. การจัดการโปรเจค 628 ตำแหน่งงาน (9.3%) 10. ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ 622 ตำแหน่งงาน (9.2%)
11. ภาษา Python 566 ตำแหน่งงาน (8.3%) 12. React.js (Javascript Library) 520 ตำแหน่งงาน (7.7%) 13. ภาษา PHP 499 ตำแหน่งงาน (7.4%) 14. Git (Version Control System) 459 ตำแหน่งงาน (6.8%) 15. Application Programming Interface (API) 395 ตำแหน่งงาน (5.8%) 16. Angular (Web Framework) 368 ตำแหน่งงาน (5.4%) 17. Node.js (Javascript Library) 364 ตำแหน่งงาน (5.4%) 18. MFG/Pro (โปรแกรม ERP) 349 ตำแหน่งงาน (5.1%) 19. RESTful API 340 ตำแหน่งงาน (5.0%) และ 20. การพัฒนาเว็บไซต์ 335 ตำแหน่งงาน (4.9%)
ที่มา : ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ได้แก่ ดร. ทศพล ป้อมสุวรรณ, วินิทร เธียรวณิชพันธุ์, นรินทร์ ธนนิธาพร, ฐิติรัตน์ สีหราช