นอกเหนือจากประเด็นการเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ปัจจุบันยังมีการมองว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้ มีต้นทุนและศักยภาพ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ
มีการประมาณการว่าประเทศไทยมีประชากรกลุ่ม LGBTQIAN+ จำนวนกว่า 4 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ 6%) โดย SDG Port ประมาณการใกล้เคียงกับ LGBT Capital ที่ประมาณว่ามีคนกลุ่มดังกล่าวประมาณ 3.7 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ 5.6%)
ในขณะที่ อริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท Transformational เปิดเผยในเวที Policy Forum นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง” คาดว่ามีจำนวนประมาณ 8 – 10% ของประชากรไทย โดยเป็นเพียงจำนวนของคนที่ที่เปิดเผยเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีจำนวนมากกว่านี้ และประชากรของ LGBTQIAN+ ทั่วโลกอาจมีถึง 800 ล้านคน ซึ่งหากมองในเชิงธุรกิจถือว่าเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง
รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน เอง ประกาศว่าให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศไทยให้เป็นสังคมที่เปิดรับความหลากหลายและเท่าเทียม รวมทั้งเน้นไปที่การผลักดันในเชิงเศรษฐกิจเพื่อรองรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ เช่น การต้อนรับนักท่องเที่ยวในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) การวางแผนจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายน 2567 การส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยฐานะสถานที่ท่องเที่ยว Pride Friendly รวมไปถึงการตั้งเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพ World Pride ในปี 2573 (ปี ค.ศ. 2030)
ซึ่งนอกเหนือจากมิติการท่องเที่ยวแล้ว อุตสาหกรรมสีรุ้งนี้ยังประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่มีมูลค่ามหาศาลและช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
งานวิจัย ความพร้อมของอุปทานการท่องเที่ยวในการรองรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ : กรณีศึกษานักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ (2564) ของ วีรบูรณ์ วิสารทสกุล และคณะ ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านคน โดยทาง Travel Industry Wire (2015) วิเคราะห์การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ว่ามีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปร้อยละ 15 ของการใช้จ่ายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นอย่างดี
แม้ประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ภาพจำว่าเป็นมิตรต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่จากการจัดอันดับ GAY TRAVEL INDEX 2024 โดย Spartacus ซึ่งจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวที่เป็น LGBTQIAN+ พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 54 จาก 213 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก จากการพิจารณาใน 3 เกณฑ์ ได้แก่ (1) สิทธิพลเมือง (2) การเลือกปฏิบัติ (3) ความอันตรายแก่บุคคล
ซึ่งไทยเองทำคะแนนได้ดีใน Anti-Discrimination Legislation (กฎหมายการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ) และ LGBT Marketing (การทำการตลาดกับกลุ่ม LGBTQIAN+)
อย่างไรก็ตาม ไทยได้คะแนนติดลบจากจากด้านสิทธิพลเมือง คือ Transgender Right (สิทธิคนข้ามเพศ) Intersex Option (สิทธิในการเลือกเพศของกลุ่ม Intersex – คนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้) และ Conversion Therapy (การบำบัดเพื่อเปลี่ยนเพศวิถี)
สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นมิตรต่อกลุ่มคนเหล่านี้ แต่ก็ยังมีเรื่องของสิทธิบางอย่างที่อาจยังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม สวัสดิการของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่น่าจับตามอง จากการที่จะผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยขึ้นมามีอันดับเทียบเท่าไต้หวัน (อันดับที่ 13) ในปี 2025 ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ดีขึ้น
หากลองมองตัวเลขส่วนแบ่งจากการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศของกลุ่ม LGBTQIAN+ ข้อมูลจาก LGBT Capital (2023) ระบุว่าช่วงก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีมูลค่าประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 239 พันล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.23% ของ GDP ไทย ในขณะที่สถานการณ์หลังการระบาดของโควิด-19 อยู่ในระหว่างการฟื้นตัว มีมูลค่าลดลงเหลือเพียงแค่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 55 พันล้านบาท) หรือคิดเป็น 0.27% ของ GDP ไทย
ส่วนแบ่งเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยนี้ ย่อมได้รับความสนใจ รัฐบาลของเศรษฐา ทวีสินเอง ก็ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเทศกาล Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 860,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ มองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมซีรีส์วาย เช่น แฟนคลับมาท่องเที่ยวเพื่อตามรอยซีรีส์ โดยยกตัวอย่างกรณีภาพยนตร์เรื่องแมนสรวง ที่ช่วยปลุกกระแสการท่องเที่ยวถนนทรงวาด ติดอันดับ 40 ย่านที่คูลที่สุดในโลกซึ่งจัดอันดับโดย Time Out นอกจากนี้มีการเปิดเผยตัวเลขว่า นักท่องเที่ยวหรือแฟนคลับที่ตามรอยซีรีส์เหล่านี้เฉลี่ยใช้จ่ายคนละไม่ต่ำกว่า 20,000 – 50,000 บาทต่อครั้งที่บินมาไทย
อุตสาหกรรมซีรีส์วาย
อุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y) ประกอบไปด้วยซีรีส์ยาโอย (Yaoi หรือ Boys love นำเสนอความสัมพันธ์ชายรักชาย) และซีรีส์ยูริ (Yuri หรือ Girls love นำเสนอความสัมพันธ์หญิงรักหญิง) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์ส่งออกที่สำคัญของไทย และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตซีรีส์วายมากกว่า 177 เรื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการเห็นจำนวนซีรีส์วายที่เพิ่มขึ้นในทุกปี ยังคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในงานแถลงข่าวร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ Be On Cloud ผู้ผลิตซีรีส์วายระดับโลก ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา วิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 2567
และกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์วาย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2566 เป็น 2,000 ล้านบาท ในปี 2567 จากความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ยัง กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันสินค้าบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2569
อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มองว่าสิ่งที่ทำให้ซีรีส์วายของไทยต่างจากประเทศอื่น ๆ มาจากการที่ไทยเป็นสังคมเปิดกว้าง ทำให้ซีรีส์มีความหลากหลาย ส่งผลให้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก และทำให้คนทำงานเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น รวมไปถึงการมีนักแสดงอยากที่จะเล่นบทนี้มากขึ้น เทียบกับสังคมที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม นักแสดงอาจจะคิดหนักหากจะต้องเล่นบทผู้มีความหลากหมายทางเพศ
นอกจากนี้ อนุชา ระบุต่อว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างเม็ดเงินใน 2 ด้าน คือด้านเนื้อหาซีรีส์ และด้านการจัดการนักแสดง (Artist Management) ที่เมื่อนักแสดงมีแฟนคลับมากขึ้น ก็สามารถต่อยอดได้ เช่น การแสดงคอนเสิร์ต หรือการเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมซีรีส์วายต่อไปได้
อริยะ ระบุเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมนี้อาจจะใหญ่กว่าที่เห็น เพราะมีบางประเทศที่ไม่สามารถฉายทางช่องทางหลัก เช่น ผ่านช่องทางทีวี ได้ แต่มีการดูผ่านทางช่องทางอื่น ๆ อีก มองว่าซีรีส์วายเป็น Soft Power ที่มีอยู่แล้ว และควรได้รับการสนับสนุน
อุตสาหกรรมแดร็ก (Drag)
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมบันเทิงในด้านซีรีส์วายแล้ว อุตสาหกรรม Drag เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมบันเทิงที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติมโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากค่อนข้างใหม่และยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น กระแสความนิยม การได้รับการสนับสนุน บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรม Drag นี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แดร็ก หรือ Drag ย่อมาจากคำว่า Dressed Resembling A Girl (หมายถึง การแต่งกายเป็นผู้หญิง – แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่การแต่งกายเป็นผู้หญิงอย่างเดียวเท่านั้น) เป็นศิลปะการแสดงที่นำเสนอตัวตนผ่านการแต่งกาย การแต่งหน้า และการแสดงออก ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น
ธีน่า – ธีรวัฒน์ ทองนิมิตร ผู้จัดงาน Drag จาก Prism Galaxia ระบุว่า กระแส Drag มีการเติบโตมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก มีคนที่มาทำอาชีพ Drag มากขึ้น รวมถึงมองว่า Drag อยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว ซึ่งคือการที่ผู้ชายหรือ LGBTQIAN+ แต่งเป็นผู้หญิง เช่น ละครนอก ละครใน ลิเก ซึ่งคนไทยคุ้นชินและสร้างความบันเทิงให้สังคมมานานแล้ว แต่อาจจะไม่ได้มีการอธิบายอย่างชัดเจน ในปัจจุบัน คนทั่วโลกและคนไทยเริ่มรู้จักมากขึ้น สามารถประกอบเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้
แม้ในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่ได้มีการเก็บตัวเลขเป็นรายละเอียดแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโชว์ Drag นั้น มีส่วนช่วยในการสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง หรือในระดับฐานราก เช่น เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับต่าง ๆ
ข้อมูลจาก The Active จากการลงพื้นที่ศูนย์การค้าวอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน ย่านประตูน้ำ สำรวจว่าในการแต่ง Drag นั้น มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และช่วยสนับสนุนร้านค้ามูลค่าเท่าไหร่บ้าง โดยมีราคาในการแต่ง Drag แต่ละครั้ง ดังนี้
- วิกผม ประมาณ 600 – 10,000 บาท
- เมคอัพ ประมาณ 1,500 – 5,000 บาท
- ชุด ประมาณ 600 – 30,000 บาท
- เครื่องประดับอื่น ๆ เช่น สร้อย ต่างหู กำไล ประมาณ 100 – 1,000 บาท
- ถุงน่อง ราคาประมาณ 100 – 1,000 บาท
- รองเท้า ราคาประมาณ 600 – 1,000 บาท
รวมประมาณ 4,800 – 49,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกชุดการแต่งกายแบบไหน
อุตสาหกรรมสุขภาพเพศหลากหลาย
เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมในไทย โดยในแต่ละปีมีคนเดินทางเพื่อเข้ามารับการผ่าตัดแปลงเพศ ผ่าตัดเสริมความงาม และบริการทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ ในไทย เฉลี่ยปีละกว่า 1.2 ล้านคน
พญ.งามเฉิด สิตภาหุล ศัลย์แพทย์ตกแต่ง คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า กล้าพูดว่าศัลยกรรมแปลงเพศของไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ภาพจำของคนต่างประเทศคือประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ มองว่าควรได้รับการสนับสนุน เพราะมีอะไรอีกมากมายที่จะตามมา
พญ.งามเฉิด มองว่าไทยไม่ได้มีแค่การผ่าตัดแปลงเพศ แต่ยังมีเรื่องการรักษาสุขภาพจิต เทคโนโลยีด้านการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการบริการด้านฮอร์โมน ที่สาธารณะสุขไทย พยายามให้มีการเข้าถึงได้มากขึ้น ผ่านการกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการเทคฮอร์โมนได้มากขึ้น
รวมไปถึงยังมองเห็นโอกาส เนื่องจากฮอร์โมนส่วนใหญ่ที่ใช้ในไทยมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ หากผลิตเองและส่งออกได้ หวังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน
ซึ่งอุตสาหกรรมสุขภาพเพศหลากหลายมีการบริการในหลากหลายด้าน เช่น
- บริการด้านสุขภาพจิต เช่น การให้คำปรึกษาและบำบัดสำหรับปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียด ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวหรือสังคม ประมาณ 500 – 2,000 บาทต่อครั้ง
- บริการด้านฮอร์โมน เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรับฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ การเทคฮอร์โมน การดูแลติดตามผลหลังการได้รับฮอร์โมน ประมาณ 1,000 – 5,000 บาทต่อเดือน
- บริการด้านการผ่าตัดแปลงเพศ เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศ การผ่าตัด การดูแลหลังผ่าตัด ประมาณ 100,000 – 500,000 บาท
- บริการด้านสุขภาพเพศ เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ประมาณ 500 – 1,500 บาทต่อครั้ง
เชื่อมโยง – รัฐสนับสนุน – สิทธิสวัสดิการทางกฎหมาย ช่วยต่อยอดเศรษฐกิจสีรุ้ง
ในภาพรวม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มองว่า มีหลายอุตสาหกรรมสีรุ้งที่เชื่อมโยงกัน เช่น การท่องเที่ยวและความบันเทิง หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนต้องเชื่อมโยงกันเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเหล่านี้ รวมถึงการจัดเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับเรื่องนี้ เช่น เมืองหรือย่านที่ส่งเสริมกลุ่ม LGBTQIAN+ ทำให้คนไหลเข้ามา และส่งผลให้เมืองเจริญขึ้น
รวมไปถึงการที่รัฐอุดหนุนและสนับสนุนในมิติต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างกรณีเมืองเบอร์ลิน เยอรมนี ที่ทำให้ศิลปินหลั่งไหลเข้ามาอยู่และอาศัยผ่านกลไกรัฐต่าง ๆ เช่น การอุดหนุนโดยลดราคาเช่าบ้านพัก การอุดหนุนการรวมกลุ่มสร้างชุมชน (Community) การอุดหนุนสนับสนุนอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งการที่รัฐเข้ามาสนับสนุนนี้ก็จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ดีมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ อริยะ เสนอให้มีการสร้างแพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลาง รวมข้อมูลการท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อแนะนำชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้จ่ายอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ จะช่วยเชื่อมโยง ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้
นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้านสิทธิสวัสดิการทางกฎหมาย แม้จะบอกว่าสังคมไทยเปิดรับความหลากหลายในระดับหนึ่ง แต่ถ้ากฎหมายยังไปไม่ถึง ก็จะเป็นเพียงแค่คำพูด จำเป็นต้องมีการการผลักดันด้านสิทธิสวัสดิการ เช่น สมรสเท่าเทียม คำนำหน้านาม สิทธิในการลาแปลงเพศ การเข้าถึงฮอร์โมนข้ามเพศ การเพิ่มบทบาทผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อทำให้อันดับของประเทศไทยสูงขึ้น ซึ่งเมื่ออันดับสูงขึ้น มาตรฐานเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา
มูลค่าของตัวเลขของอุตสาหกรรมสีรุ้งเหล่านี้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงกลุ่ม LGBTQIAN+ ไม่ได้มีเพียงประเด็นการท่องเที่ยว ธุรกิจ ความบันเทิง หรือการสร้างเม็ดเงินเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของสิทธิและเสรีภาพที่ควรมีเช่นเดียวกับชาย-หญิง ควบคู่กับการผลักดันด้านเศรษฐกิจตามมาอีกด้วย
อ้างอิง