จากงานเสวนา ‘Brainstorm Soft Power สร้างพายุหมุน ส่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปสู่สากล’ ซึ่งรวมตัวผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาร่วมกันระดมสมองวางแผนการทำงานเพื่อปั้นซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก
ปลดล็อกกม. ลดการควบคุม ส่งเสริมเสรีภาพความสร้างสรรค์
เริ่มจากด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ มองว่าปัญหาหลักใหญ่ในตอนนี้มาจาก 1. รัฐยังมองว่าสื่อเป็นภัยคุกคามต่อรัฐหรือประเทศ จำเป็นต้องมีการกำกับควบคุม 2. ตัวเม็ดเงินที่มีไม่พอในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม 3. สิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการทำงาน สิทธิมนุษยชน สิทธิในเรื่องของการผลิตและความมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน
ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมานี้คือหัวข้อใหญ่ของปัญหาที่สามารถแตกย่อยได้อีกเป็นพันปัญหา การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาต้องมาจากการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดการกำกับควบคุมจากทางรัฐ และทำให้บุคลากรในอุตสาหกรรมมีสิทธิเสรีภาพ ในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น แต่เมื่อพูดถึงการแก้ไขกฎหมายก็เป็นเรื่องยาก เพราะจะไปมีผลผูกพันกับตัวกฎหมายอื่น ๆ อย่างเช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายฟรีแลนซ์ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่ พ.ร.บ.หลัก ไปถึง พ.ร.บ.ลูก ทำให้ต้องใช้เวลานานในแก้ไข
ตีโจทย์ ซีรีส์ไทยตีตลาดต่างประเทศไม่ได้
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างอุตสาหกรรมละครและซีรีย์ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีย์ เล่าว่าปัญหาที่คนในอุตสาหกรรมเจอกันตอนนี้คือ ซีรีย์และละครของบ้านเรา ไม่สามารถไปตีตลาดต่างประเทศได้ เพราะด้วยตัวเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่มีความหลากหลาย เราเริ่มต้นการสร้างละครโดยเอาเนื้อหามาจากนิยายโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงคราม เราพึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดตอนปี ค.ศ. 2015
“การเข้ามาของทีวีดิจิทัลทำให้ตัวเนื้อหาเริ่มมีความหลากหลาย เช่นเดียวกันก็เกิดคำว่าซีรีส์ขึ้นมาในปีนี้ เหล่าผู้สร้างก็มีความพยายามจะผลิตเนื้อหาตามแบบประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น จนมาถึงในปัจจุบันเป็นยุคของ streaming ที่วิธีการถ่ายทำและการเล่าเรื่องพัฒนาขึ้นเร็วมากจากหน้ามือเป็นหลังมือ อุตสาหกรรมบ้านเราก็เริ่มมีการปรับตัวทำให้คุณภาพเป็นสากลมากขึ้น”
ปัญหาหลักจริง ๆ ที่เจอตอนนี้คือการขาดตัวเนื้อหาที่จะนำมาใช้ผลิต ถึงแม้เมื่อพูดถึงตัว ซีรีย์ Y หลังจากได้รับความนิยมก็เร่งผลิตตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันก็ประสบปัญหาการขาดแคลนบทและตัวเนื้อหาที่จะนำมาใช้เล่าเรื่อง เราคงต้องการการกระจายตัวไปเอาองค์ความรู้จากท้องถิ่นทั่วประเทศไทย เพราะยังมีคนที่เขียนบทเก่ง ๆ คนที่มีไอเดียแต่ไม่สามารถเข้าถึงจุดที่จะสามารถนำเสนอไอเดียของตัวเองกับผู้ลงทุน ส่วนภาครัฐต้องให้ให้ความช่วยเหลือในการเปิดตลาดโลก คือสนับสนุนให้ผู้ผลิตของเราได้มีโอกาสเอาผลงานไปขายในต่างประเทศ
ผลักดันสวัสดิการ ‘ศิลปิน’ อาชีพฟรีแลนซ์
ในส่วนของอุตสาหกรรมเพลง วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี เล่าไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างคือ ระบบการศึกษาประเทศเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวิชาดนตรี เด็ก ๆ ที่อยากจะเล่นดนตรีเป็นต้องอาศัยการเรียนพิเศษจากข้างนอก นี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องรีบเร่งแก้ไข
อีกปัญหาหนึ่งเมื่อพูดถึงอาชีพศิลปินถือเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ นักร้องนักดนตรีบางคนอายุเยอะแล้ว ก็ยังต้องอาศัยการร้องเพลงตามผับตามบาร์เพื่อหาเลี้ยงชีพอยู่ เพราะว่าพวกเขาไม่มีสวัสดิการอะไร หากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องดูแลตัวเอง ในสำหรับผู้เริ่มต้นที่อยากทำอาชีพนักดนตรี ต้องมีอาชีพหลักและเล่นดนตรีเป็นอาชีพเสริม ถึงจะมีรายได้เพียงพอ อาชีพนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ไม่เสถียร
ในส่วนของการส่งออกผลงานไปสู่ต่างประเทศ เกือบทั้งหมดเอกชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่าง กฎหมายลิขสิทธิ์ ก็มีปัญหา ด้วยความที่บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์มีกว่า 30 บริษัท ทั้งที่ต่างประเทศมีเพียงแค่ 1-2 บริษัท ทำให้มีความซับซ้อนในการขออนุญาตใช้ผลงาน และทำให้มีบุคคลนำช่องว่างทางกฎหมายนี้ไปใช้หาผลประโยชน์ ปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายนี้มีอยู่
สินค้าดีแต่ขาดการประชาสัมพันธ์
อีกหนึ่งภาคส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน สุชาติ อินทร์พรหม ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำอีสานนครศิลป์ ในมุมผู้ประกอบการบอกว่า หมอลำ คือสินค้าอย่างหนึ่ง ปัจจุบันเรามีความสามารถในการทำสินค้าของเราให้มีคุณภาพ แต่เรายังขาดความสามารถในการประชาสัมพันธ์สินค้าของเราให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้ข้อมูล และช่องทางที่เราจะสามารถนำเอาหมอลำไปเผยแพร่อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลมีความสามารถที่จะรีเสิร์ชข้อมูลได้ว่าในรัสเซียมีดนตรีที่มีจังหวะคล้ายกับเพลงอีสานบ้านเรากำลังเป็นที่นิยมอยู่ ซึ่งมีความเหมาะสมที่พาเราไปขายยังตลาดนั้น ๆ
เสนอแนวคิด ‘กองทุน’ สนับสนุนวงการศิลปะ
ในส่วนของอุตสาหกรรมถัดไปด้านศิลปะ ศ.พรรัตน์ ดำรง และ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ บอกว่า ระบบนิเวศทางศิลปะของเราไม่เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน มีการแยกจำพวก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ในเรื่องของการศึกษาเอง การสอนศิลปะในประเทศเราก็อาศัยแต่การฟังครูเพียงอย่างเดียว เด็ก ๆไม่มีโอกาสได้เห็นผลงานจริง และไม่มีโอกาสในการลงมือปฏิบัติมากนัก
เรื่องของการประกอบอาชีพ ศิลปินของเราขาดพื้นที่ในการทำมาหากิน ไม่มีทุนในการทำผลงานต่อ เราต้องสร้างการเชื่อมต่อคนสู่อาชีพให้ได้ ทุกวันนี้ศิลปินส่วนใหญ่ล้วนแต่จบจากรั้วสถาบันอุดมศึกษา เราต้องทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานเอกชน เพื่อส่งบุคลากรเข้าไปทำงาน เชื่อมเครือข่ายวงการศิลปะให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แบกแยกประเภทของผลงาน รัฐต้องสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายนี้ ให้กลายเป็นระบบนิเวศ แล้ววงการศิลปะบ้านเราก็จะมีความมั่นคง
เราต้องการให้มีกองทุนที่ทำให้วงการเราดูแลกันเองได้ มีระบบลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ต้องการสนับสนุนทุนให้วงการศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศมีแต่ประเทศเราไม่มี เพราะอุตสาหกรรมศิลปะของประเทศไทยเราขาดแคลนทุนทรัพย์จริง ๆ สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ จึงจะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยดึงเอกชนหรือผู้ที่มีความต้องการจะสนับสนุนวงการศิลปะ ให้พวกเขามาร่วมการสนับสนุนพวกเรามากขึ้น
เวทีของนักเขียนน้อยลง ลู่ทางหารายได้หายไป
ถัดไปในส่วนของภาคอุตสาหกรรมหนังสือ คำหอม ศรีนอก คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือบอกว่าปัญหาหลักของวงการหนังสือคือไม่มีคนอ่านมากมายเพียงพอ เพราะประชากรเราไม่มีความสามารถในการอ่าน คนไทยอ่านหนังสือน้อย ทำให้ความสามารถในการเสพความบันเทิงทางหนังสือ และความเข้าใจในการเพิ่มเติมความรู้กับหนังสือน้อยตามไปด้วย ในระบบการศึกษาเมื่อนึกถึงการอ่าน เราต้องการไม่ใช่แค่ให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องรักการอ่าน สนุกกับการอ่าน เมื่อไม่มีตรงนี้ทำให้คนที่จะเสพ คนจะซื้อ คนที่จะต่อยอดขับเคลื่อนวงการนี้มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ
อีกปัญหาคือตอนนี้เราไม่มีผู้ผลิตงานที่ดี เพราะเวทีของนักเขียนลดน้อยลงเรื่อยๆ ลู่ทางที่จะทำรายได้หายไป ทำให้อาชีพนักเขียนไม่สามารถเลี้ยงปากท้องตัวเองได้ ถึงแม้มีช่องทางใหม่เกิดขึ้นเช่น E-Book ซึ่งเป็นช่องทางที่ให้คนเขียนสามารถนำเอาผลงานของตัวเองไปลงบนแพลตฟอร์มได้เลย ใครขายได้ก็โชคดีไป แต่สำหรับคนที่ขายไม่ได้ แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่มีบุคลากรในกระบวนการออกเนื้อหา อย่างเช่น บรรณาธิการ หรือพิสูจน์อักษร ทำให้ไม่มีคนช่วยควบคุมดูแลพัฒนาเนื้อหา
ต่อยอดสร้างความยั่งยืนให้อาหารไทยในเวทีโลก
ภาคอุตสาหกรรมสุดท้ายที่ถูกพูดถึงในงานเสวนาในครั้งนี้ คืออุตสาหรรมอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นอุตกรรมที่ภาพความสำเร็จมากที่สุด จากการที่เคยมีการขับเคลื่อนนโยบาย ครัวไทยไปครัวโลก และปัจจุบันอาหารไทยก็ได้เผยแพร่กระจายไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร บอกว่าเป็นความโชคดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะอาหารถือเป็นปัจจัยสี่ที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิต
ด้วยความที่อาหารไทยกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทำให้เกิดมูลค่าและโอกาสมากมาย ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณผู้ประกอบการอาหารไทย ที่นำร่องไปเปิดร้านอาหารไว้ในหลายประเทศทั่วโลก ถึงแม้จะมีหลายราย ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานปิดกิจการไปจำนวนไม่น้อย เพราะฉะนั้นปัจจุบันเราต้องทำให้เกิดความยั่งยืน
อย่างเช่นเรื่องของวัตถุดิบที่มีคุณภาพต้องบริหารจัดการ และกระจายสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ หรือเรื่องของทักษะที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความสนใจ สามารถเข้าถึงการเรียนทำอาหารไทยได้ง่าย สุดท้ายคือการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ เมื่ออาหารไทยเป็นที่นิยมแล้วเป้าหมายต่อไปคือเครื่องดื่มไทย ที่รัฐต้องให้การสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องดื่มไทยกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เฉกเช่นอาหารไทยให้ได้
สร้างทักษะ สร้างระบบนิเวศ ส่งออกซอฟต์พาวเวอร์สู่ตลาดโลก
ช่วงสุดท้าย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ บอกว่า การผลักดันนโยบาย Soft Power ในครั้งนี้คาดหวังให้เกิดผลลัพธ์คือ 1. จะต้องทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 2. จะต้องทำให้เกิดระบบนิเวศที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่มีในทุกอุตสาหกรรม 3. จะต้องส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
รัฐบาลจึงเริ่มต้นที่จะคิดวิธีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ 1. คือการสร้างคน ยกตัวเช่นเราตั้งเป้าหมายต้องการจะขยายให้มีร้านอาหารไทยทั่วทุกมุมโลกจาก 20,000 ร้าน เป็น 100,000 ร้าน หมายความว่าเราต้องจะทำให้มี 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ทั้งหมด 70,000 คน สามารถที่จะพร้อมส่งไปประจำที่ร้านอาหารไทยทั่วโลกได้เลย หรืออย่างเรื่องของมวยไทย มียิมที่สอนมวยไทยอยู่ทั่วโลกประมาณ 40,000 แห่ง แต่ส่วนใหญ่โค้ชที่สอนเป็นชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาคนของเราให้พร้อม เพื่อกระจายไปสอนมวยไทย กระจาย Soft Power ไปทั่วโลก
นี่เป็นแนวคิดจากการทำให้คนไทยได้ประโยชน์จากการทำนโยบาย Soft Power เราใช้คำว่า OFOS (One Family One Soft Power) เราอยากให้อย่างน้อยมี 20 ล้านคนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ อย่างน้อยหนึ่งครอบครัวจะต้องได้มีโอกาสฝึกอบรมคนในครอบครัวหนึ่งคนให้มีทักษะ จะทำให้เขามีรายได้อย่างน้อยเดือนหนึ่ง 15,000 บาท สามารถทำให้ครอบครัวหลุดพ้นจากเส้นความยากจน
2. คือการสร้างอุตสาหกรรม สร้างระบบนิเวศ คนที่รู้ดีที่สุดคือคนในอุตสาหกรรมเอง เพราะฉะนั้นนโยบายที่เราตั้งไว้คือ รัฐจะต้องไม่ทำเอง และให้คนที่มีความรู้ความสามารถในอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวก และช่วยสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ พร้อมกับจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด อย่างเช่นเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย เรื่องของการทำให้การติดต่อประสานงานทุกอย่างมารวมกันที่จุดเดียว เรื่องของการส่งเสริมให้ไปสู่ตลาดโลก เป็นต้น
ทั้งหมดขับเคลื่อนภายใต้เจ้าภาพโดย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดำเนินงานโดย คณะกรรมการพัฒนา Soft Power โดยมี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน และล่าสุดเรากระจายอำนาจโดยการตั้ง คณะอนุกรรมการพัฒนา Soft Power ประจำจังหวัด โดยเริ่มที่จังหวัดนครราชสีมา ให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทและอำนาจในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันเราร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ THACCA เสร็จแล้ว ถ้ากฎหมายผ่าน THACCA จะเป็นหน่วยงานหลักที่สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น