เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ในงาน Sustainability Forum 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยปาฐกถาเรื่อง “COP28 พันธสัญญาไทยขับเคลื่อนความยั่งยืน” ซึ่งเป็นเวทีถ่ายทอดบทสรุปจากเวที COP28 (เมื่อวันที่ 30 พ.ย.-12 ธ.ค.2566) โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
นายกรัฐมนตรี เผยว่า จากการที่ได้เดินทางไปเยือนต่างประเทศและหารือในประเด็นการค้าเพื่อดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย พบว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญและสนใจในการเรื่องของการขับเคลื่อน Clear Energy และ Net Zero อย่างจริงจัง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน
โดย SDG Index (เป้าหมายชี้วัดความยั่งยืน) ปีนี้อยู่ที่อันดับ 43 ของโลก และเป็นประเทศที่มี SDG Index ดีที่สุดในอาเซียน นับเป็นจุดขายที่ใหญ่ที่สุดของไทยในการที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการย้ายฐานการผลิตจากอุตสาหกรรมในประเทศจีนและอีกหลายประเทศมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย
“นักลงทุน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ มีความต้องการที่จะใช้พลังงานสะอาด โดยหลายบริษัทตั้ง Agressive Goal และหลายเจ้าก็ตั้งเป้าเป็น Carbon Neutral ในปี 2030 โดยการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าว จะต้องเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนพลังงานสะอาด ซึ่งทุกวันนี้ เรื่องการลงทุน ถ้าจะสร้างโรงงาน สร้างศูนย์วิจัย หรือตั้งออฟฟิศใหม่ โรงงานใหม่ของเขาจะต้อง 100% Clean ซึ่งไม่ใช่เพราะเขาอยากเท่เพียงอย่างเดียว แต่นี่คือคณิตศาสตร์ เพราะกว่าจะลงทุนสร้างอะไรเสร็จ ก็ใช้เวลาไปหลายปี แล้วโรงงานใหม่จะต้องไป Make up โรงงานเก่า ๆ ของเขา ในอีกหลายประเทศ ที่ยังไม่ Clean ที่สำคัญคือ เวลาเขาลงทุน Supply Chain ก็จะตามไปด้วย และ Supply Chain เหล่านี้ก็จะถูกเรียกร้องขอให้ใช้มาตรฐานที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยเรื่องนี้หากดู Trend ของโลกแล้ว ในประเทศไทยถือว่ามี Competitive Advantage อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ไฟฟ้าไทยมีเสถียรภาพสูง เทียบกับเพื่อนบ้าน
โดยหากเปรียบเทียบไทยกับเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีความพร้อมมาก เนื่องจากไฟฟ้าในครัวเรือนไทยมีความเสถียรมาก ซึ่งไฟแทบไม่เคยตกหรือดับ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่ง System Average Interruption Index ทั้งระบบไทยอยู่ที่ 20 – 35 เมื่อเปรียบเทียบมาเลเซียอยู่ที่ 45 และเทียบกับฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 138
นอกจากนี้ ยังระบุว่า จุดแข็งของประเทศไทย คือ มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีทรัพยากร มีสายส่งที่พร้อมในประเทศ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์เอง ก็อยากได้ไฟฟ้าที่สะอาด แต่ไม่สามารถจะพัฒนาได้ ต้องซื้อจากรอบข้าง ซึ่งไทยเองก็สามารถเป็นผู้ขายไฟฟ้าที่สะอาดให้สิงคโปร์ได้ ปัจจุบันไทยมี Renewable mix อยู่ที่ 28% ในปี 2021 แต่มีเป้าหมายว่าจะเพิ่มให้มากกว่า 50 % ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำแผน PDP (Power Development Plan ) และจะประกาศใช้ต้นปี 2567
ค่าไฟมีส่วนสำคัญ ในการผลักดันพลังงานสะอาด
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไทยจะเป็น Hub ของพลังงานสะอาดนั้น ค่าไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพลังงาน สำนักงาน กกพ. EGAT ปตท. และอีกหลายภาคส่วน โดยเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตั้งไว้ คืออยากทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 4.1 บาทให้ได้ ซึ่งนายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงานก็เห็นว่าสามารถทำได้โดยคำนึงไม่ให้กระทบในหลายภาคส่วน
โดยมองว่าการสนับสนุน Solar ภาคครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะสนับสนุนการติดตั้ง Solar Rooftop ในภาคครัวเรือน แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือการ Upgrade ตัวระบบเครือข่ายทั้งหมด ให้สามารถทำ Net Metering ได้ รวมทั้งการออก Sustainability-linked Bond ซึ่งในอดีต ประเทศไทยเคยออก Green bond 12.5 billion USD ที่จะมาช่วยสนับสนุนการดำเนินมาตรการสีเขียวต่าง ๆ โดยในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีจะออก Sustainability-linked bond อีก 2 billion USD ซึ่งจะมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้ประเทศเราพร้อมยิ่งขึ้นไปอีก
เสริมทัพภาคธุรกิจไทย ลุย Green Economy
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาคธุรกิจไทย และความพร้อมว่า เรื่องพลังงานสะอาด เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจไทยและรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด ซึ่งในอนาคตพลังงานสะอาดจะกลายเป็นเรื่องที่แฝงอยู่ในมาตรการการกีดกันทางการค้า หรือถูกกระทบผ่าน Supply Chain ทั้งหมด ดังนั้นการที่ภาคธุรกิจทำให้บริษัทของตนเองเป็น Green ยังไม่เพียงพอแต่ต้องมีการให้องค์ความรู้และการให้ความช่วยเหลือด้วยเพื่อดึงทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันในการพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล