ThaiPBS Logo

สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. มหาดไทย ได้ริเริ่มแนวคิดปลูกฝังความเป็นไทย จึงเกิดเป็นข้อตกลง (MOU) “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” โดยมีเจ้าภาพร่วมเป็น 4 กระทรวงในสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุดมศึกษาฯ

อ่านเพิ่มเติม

  • เริ่มนโยบาย
  • วางแผน
  • ตัดสินใจ
  • ดำเนินงาน
  • ประเมินผล

เริ่มนโยบาย

ประกาศนโยบาย และลงนาม MOU

วางแผน

เตรียมหลักสูตร

ตัดสินใจ

ขั้นตอนดำเนินงานตามนโยบายที่ประกาศไว้

ดำเนินงาน

ขั้นตอนการตรวจสอบการทำงาน

ประเมินผล

ขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย

อ่านเพิ่มเติม

ปลูกฝังความรักชาติ ผ่านเครื่องมือ “การศึกษา”

ล่าสุด (2 ธ.ค. 2566) กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการให้สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและจริยธรรมศึกษาเป็นวิชาหลักในการเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป

กระทรวงมหาดไทยยังให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และยกย่องบุคคลที่ทำความดีมีคุณธรรม โฆษกกระทรวงมหาดไทยเชื่อว่า กิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่ความรักและภูมิในสถาบันหลัก เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน และสามารถลดความขัดแย้งของเยาวชน และไม่ชักนำไปกระทำในสิ่งไม่ดี

นอกจากนี้ “ความเป็นไทย” จะถูกนับเป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาข้าราชการทั้ง 4 กระทรวงสังกัดพรรคภูมิใจไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์วัดความรักชาติ การสอบสัมภาษณ์ข้าราชการในการสอบ ก.พ. ภาค ค และเตรียมเพิ่มหลักสูตรสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยตั้งแต่ ป.1 – ม.6 ยืนยันว่าเริ่มทำได้ทันที 

ทำไมต้องมี นโยบายสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ระบุเป้าหมายของการลงนามใน MOU ฉบับดังกล่าวไว้ว่า เพื่อมุ่งสร้างคนที่มีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคม และให้ทั้ง 4 กระทรวงเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและประชาชน และขอให้ทั้ง 4 กระทรวงเพิ่มหลักเกณฑ์การสัมภาษณ์ โดยพิจารณาเรื่องจิตสำนึกเรื่องการรักชาติ รักประเทศ รักประชาชน มีจริยธรรม และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตนเชื่อว่าหากขาดสิ่งเหล่านี้ ข้าราชการของประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนในสังคมไม่ได้

อะไรคือ “ไทย” และใช้อะไรมาวัด “ความรักชาติ”

อีกด้านหนึ่งเป็นเสียงโต้แย้งจากทางนักวิชาการตลอดจนครูวิชาสังคมศึกษาบางส่วน ที่เล็งเห็นว่านิยามของ “ความเป็นไทย” นั้นคลุมเครือและไม่สามารถวัดผลได้ ว่าคนหนึ่งรักชาติมากกว่าอีกคนหนึ่ง รวมทั้งข้อกังวลถึงการผูกขาดนิยาม “ความรักชาติ” ไว้เพียงแค่กลุ่มของผู้มีอำนาจ ปิดกั้นการตีความความหมายของคำว่า “ชาติ” ทำให้ข้าราชการและนักเรียนต้องยึดเอาแนวคิดที่ผูกไว้กับผู้ริเริ่มนโยบายหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แนวคิดการคัดเลือกข้าราชการโดยวัดผลกันที่ “ความรักชาติ” ยังขัดแย้งต่อนโยบายลดภาระครูที่มุ่งหวังให้ครูได้มีเวลาทำงานสอน มากกว่างานประเมินผล หรืองานเอกสารอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ครูวิชาสังคมศึกษาบางส่วนกังวลว่า นโยบายปลูกฝังความเป็นไทยนี้ จะนำมาซึ่งคาบเรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานหรือไม่ หรืออาจจะไปเบียดบังเวลาเรียนในเนื้อหาสาระวิชาอื่น จนทำให้ประสิทธิภาพการสอนลดลง

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้กำหนดให้เด็กไทยต้องเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ที่ถูกแยกนับหน่วยกิตต่างหากออกมาจากวิชาหลักอยู่แล้ว โดยหวังให้เด็กเข้าใจความเป็นมาของชาติไทย มีความรัก ความภูมิใจและธำรงความเป็นไทย (ตามมาตรฐาน ส 4.3)

เด็กไทยเรียน “ประวัติศาสตร์” ไม่มากพอ?

แม้ในปีการศึกษาหน้า จะมีการเพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาจริยธรรม ตามที่มหาดไทยมีนโยบายริเริ่มกับโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากอ้างอิงจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เพิ่มเติม พ.ศ. 2560 จะพบว่า 3 วิชาข้างต้นที่จะเพิ่มเข้ามา มีจำนวนตัวชี้วัดอยู่แต่เดิมคิดเป็น 69% จากตัวชี้วัดวิชาสังคมฯ ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 5 สาระวิชาเรียงจากมากไปน้อย ดังนี้

  • ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มี 136 ตัวชี้วัด (32%)
  • ประวัติศาสตร์ มี 82 ตัวชี้วัด (20%)
  • หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม มี 72 ตัวชี้วัด (17%)
  • ภูมิศาสตร์ มี 68 ตัวชี้วัด (16%)
  • เศรษฐศาสตร์ มี 62 ตัวชี้วัด (15%)

แต่หากย้อนหลักสูตรการศึกษาไทยจะพบความพยายามของภาครัฐในการเน้นการสอนวิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการถือกำเนิดของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในหมวด 4 ระบุว่าการจัดการศึกษาต้องให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของสังคมไทย จากนั้นในปี 2552 วิชาประวัติศาสตร์จึงถูกแยกสอนอีกคาบหนึ่งและคิดหน่วยกิตโดยเฉพาะ 

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.thaipbs.or.th/news/content/321873
  • https://theactive.net/news/politics-20231120/
  • https://theactive.net/news/learning-education-20231203/
  • https://theactive.net/news/learning-education-20231203-2/
  • คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ 683/2552 เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียนและเกณฑ์การจบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
  • ศิริโชค อภิภัชผ่องใส, พัฒนาการแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษา (พ.ศ.2521 – 2560)
  • มานิตย์ นวลละออ, การเมืองยุคสัญลักษณ์รัฐไทย

ภาพรวม

ลำดับเหตุการณ์

  • ศธ. ขับเคลื่อนแผนการสอนวิชาประวัติศาสตร์โฉมใหม่ คิกออฟมหกรรมวิชาประวัติศาสตร์ นำร่อง 7 จังหวัด ขยายผลเดินหน้าโร้ดโชว์ทั่วประเทศ  ดูเพิ่มเติม ›

    9 เม.ย. 2567

  • มหาดไทยแจ้ง รร. สังกัด อปท. จัดหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง-จริยธรรม เป็นวิชาหลัก เริ่มทันทีภาคเรียนที่ 1/2567

    2 ธ.ค. 2566

  • ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขานรับนโยบาย ลุยสร้างสำนึกความเป็นไทย สอดแทรกในหลักสูตรและการประเมินวัดผลให้กับเด็กนักเรียนทุกระดับ

    19 พ.ย. 2566

  • อนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศ MOU พัฒนาคนให้มีจิตสำนึกความเป็นไทย นำร่อง 4 กระทรวงสังกัดพรรคภูมิใจไทย

    17 พ.ย. 2566

ความสำเร็จของนโยบาย

เชิงโครงการ

นักเรียนศึกษาวิชาประวัติศาสตร์
นักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6