วิจัยกรุงศรีประเมินความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้สร้างสถานการณ์จำลองเป็น 3 กรณี ตามนโยบายภาษีที่ Trump ประกาศไว้ ดังนี้
กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน แม้ประเทศไทยและอาเซียนอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐานตามอุปสงค์ที่ลดลงจากสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
กรณีที่ 2 สหรัฐฯขึ้นภาษี 60% กับจีน และ 20% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรุนแรงกว่าจีน โดยการส่งออกของอาเซียนและไทยอาจได้รับผลเชิงลบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ว่า ยังคงมีการย้ายฐานการผลิตมาอาเซียนแลไทยอยู่ แต่ผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนและไทยค่อนข้างน้อย และน้อยกว่ากรณีที่ 1
กรณีที่ 3 จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 60% กับสินค้าจากสหรัฐฯ การตอบโต้นี้จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบด้านลบมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะสูญเสียการส่งออกในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
ขณะที่ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการเพิ่มขึ้นของการส่งออกในบางกลุ่มสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ แต่ผลสุทธิต่อการส่งออกลดลงจากกรณีฐาน เนื่องจากความต้องการสินค้าอื่นๆจากสหรัฐฯ จีนและโลกโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ไม่ว่าผู้ใดจะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งก็ตาม สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนต่อไป แต่อาจมีแนวทางที่แตกต่างกัน
อ่านเพิ่มเติม: วิเคราะห์หลังเลือกตั้งสหรัฐ คาดอาเซียนได้ประโยชน์
กรณีที่ทรัมป์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง หากเดินหน้านโยบายภาษีนำเข้าที่เข้มข้นขึ้นตามที่เคยประกาศไว้ แม้จะช่วยกระตุ้นบางภาคส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและกดดันผู้บริโภคด้วยราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ การขึ้นภาษีแบบครอบคลุมอาจมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ดังนั้น คาดว่านโยบายของทรัมป์อาจมีการปรับให้เป็น แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (targeted or selected) เพื่อป้องกันผลทางลบต่อธุรกิจและผู้บริโภคโดยรวม ส่วนกรณีแฮร์รัสชนะ คาดว่าผลกระทบต่อการค้าโลกจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากมีแนวทางจะเลือกเก็บภาษีเฉพาะสินค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก รวมถึงไทยในกรณีนี้จะไม่รุนแรง
ขณะที่การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียนยังคงสร้างโอกาสให้แก่บางภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม อาจมีผลทางอ้อมจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ
สหรัฐฯ
เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวอย่างช้าๆ ภายใต้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พฤศจิกายน ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ออกมาขยายตัว 2.8% QoQ annualized ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 3.0% โดยแรงหนุนหลักมาจากการบริโภค ขณะที่ดัชนีราคา PCE เดือนกันยายนชะลอตัวมากสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน
อย่างไรก็ตาม PMI ภาคการผลิตหดตัวแรงขึ้นในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 46.5 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ตำแหน่ง ต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี จากผลของพายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตัน รวมทั้งการผละงานประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง แต่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงขยับขึ้นจาก 3.9% สู่ระดับ 4.0% YoY
ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวอย่างช้าๆ แต่ไม่ถึงขั้นถดถอยสะท้อนจาก GDP และตลาดแรงงาน รวมถึงภาคบริการที่ยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนด้านนโยบายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ
การศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและดำเนินนโยบายการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนและสินค้าจากประเทศอื่นๆ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบหนักกว่าจีน โดย GDP สหรัฐฯ และจีนจะลดลงจากกรณีฐาน –0.99% และ -0.62% ตามลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีการพึ่งพาจีนในระดับสูง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, สิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า, รวมถึงยานยนต์
นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำจากภาระต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของนโยบายการเงิน หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอาจกระทบเส้นทางการปรับดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าที่อาจปรับลดน้อยหรือช้ากว่าตลาดคาด หรืออาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก
ญี่ปุ่น
ความไม่แน่นอนทางการเมืองของญี่ปุ่นและตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคาด อาจส่งผลให้ BOJ ขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าคาด ยอดค้าปลีกโต 0.5% YoY ในเดือนกันยายน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขณะที่ ในเดือนตุลาคม Tokyo CPI เพิ่มขึ้น 1.8% YoY ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ในการประชุมวันที่ 30-31 ตุลาคม พร้อมส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกอย่างรอบคอบ รวมถึงจับตาความเสี่ยงที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป
แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานและการชะลอตัวของเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางการบริโภคภาคเอกชน แต่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจนและอ่อนแอ อาทิ (i) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนสิงหาคมยังคงหดตัว 1.9% YoY (ii) PMI ภาคการผลิตเดือนตุลาคมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ภาคบริการกลับมาหดตัวแรงสุดในรอบ 4 เดือน แตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 และ (iii) ส่งออกเดือนกันยายนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ -1.7% YoY
นอกจากนี้ การที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ สูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม (เหลือ 215 ที่นั่ง จากทั้งหมด 465 ที่นั่ง) ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในทางการเมืองและการบริหารประเทศ
ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นประกอบกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า BOJ อาจใช้แนวทาง wait-and-see stance โดยมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50% ภายในการประชุมเดือนมกราคม 2568
จีน
เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณบวกมากขึ้น หลังรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้น ขณะที่ความเสี่ยงจากสงครามการค้ายังเป็นแรงกดดันสำคัญ ทางการรายงาน PMI ภาคการผลิตพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ 50.1 ในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นจาก 49.8 ในเดือนกันยายน
ด้านดัชนีคำสั่งซื้อใหม่สูงขึ้นเล็กน้อยจาก 49.9 เป็น 50 ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วน PMI นอกภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 50 เป็น 50.2 สอดคล้องกับการสำรวจของภาคเอกชนหรือ Caixin ที่รายงาน PMI ภาคการผลิตพลิกกลับมาขยายตัวที่ 50.3 ในเดือนตุลาคม หลังแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 49.3 ในเดือนกันยายน
ตัวเลข PMI ล่าสุดสะท้อนแรงหนุนบางส่วนจากเทศกาลวันชาติจีนในช่วงต้นเดือนตุลาคม และมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการทางการคลังมูลค่า 10 ล้านล้านหยวนเพื่อบรรเทาหนี้สินรัฐบาลท้องถิ่นและใช้สำหรับเข้าซื้ออุปทานบ้านส่วนเกินในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคอีก 1 ล้านล้านหยวน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจขยายมาตรการเพิ่มเพื่อรับมือกับสงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า หากสหรัฐฯ ใช้นโยบายของ Trump โดยขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการในอัตรา 60% อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของจีนลดลงจากกรณีฐาน 5.8% และ 0.25% สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่นในอัตรา 20% รวมถึงจีนตอบโต้สหรัฐฯ กลับด้วยการเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของจีนลดลงจากกรณีฐานถึง 7.2% และ 0.6% ตามลำดับ
เศรษฐกิจไทย
ภาคท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐช่วยหนุนการเติบโตในไตรมาสสุดท้าย ขณะที่นโยบายการค้าของสหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายนแผ่วลงจากเดือนก่อนตามการลดลงของภาคส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 4 มีแนวโน้มโตมากกว่า 3% ธปท. รายงานเศรษฐกิจเดือนกันยายนชะลอตัวลงตามการส่งออกสินค้าที่ลดลงหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน (-2.1% MoM sa) ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนลดลง (-0.6%) โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงมากตามยอดจำหน่ายยานยนต์ ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนลดลงเล็กน้อย
ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง (-1.4% ) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว (+0.1%) อย่างไรก็ดี รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับดีขึ้น (+4.4%) ตามการใช้จ่ายต่อทริปที่เพิ่มขึ้นแม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง (-3.2%) รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง
แม้เศรษฐกิจเดือนกันยายนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2567 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าอาจขยายตัวราว 0.6%QoQ sa หรือ 2.3% YoY (ตัวเลขจริงจะประกาศวันที่ 18 พฤศจิกายน)
สำหรับแนวโน้มในช่วงไตรมาสุดท้ายคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางปรับดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
- ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นและอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี
- พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ช่วยหนุนให้การใช้จ่ายภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และอาจช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องปรับดีขึ้น
- การส่งออกที่ยังได้อานิสงส์จากความต้องการสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหาร
- การบริโภคภาคเอกชนที่มีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางรายละ 10,000 บาท วงเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท และมาตรการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวภาคเหนือ (17 จังหวัด) หลังประสบอุทกภัย ด้วยโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” โดยให้ส่วนลด 50% แก่การใช้จ่ายซื้อสินค้า/บริการ/ที่พัก รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว (1 คน/1 สิทธิ์) วงเงินรวม 4 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอุทกภัยซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่หลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาอาจลดทอนผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาพรวม GDP ไตรมาส 4 จะเติบโตได้มากกว่า 3%
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
จับตาสงครามการค้ารอบใหม่ หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ