การเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ การละเลยต่อความปลอดภัย สภาพรถโดยสาร รวมถึงการดัดแปลงรถที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก
รถโดยสารสาธารณะเป็นหนึ่งในรูปแบบของระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานสำคัญในการเดินทางของประชาชนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นการให้บริการจากผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ปี 2565 พบว่า ปริมาณการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้นจำนวน 9,892.40 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้น 16.08% จากปี 2564 โดยเป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจำนวน 968.26 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้น 37.30%
เมื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยของการให้บริการด้วยรถโดยสารสาธารณะ จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารของกรมการขนส่งทางบก พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2564 ซึ่งการลดลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ การรณรงค์เลือกเดินทางกับรถโดยสารที่ปลอดภัย รวมถึงผลกระทบจากมาตรการควบคุมการเดินทางในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา
จนกระทั่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กลับพบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 46.5% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณพ.ศ. 2565 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรวมกันเพิ่มขึ้นกว่า 105.2% โดยประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนสูงที่สุด ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง 73.0% รองลงมา คือ รถโดยสารไม่ประจำทาง 25.0% และรถโดยสารส่วนบุคคล 2.0%
อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยพบประเด็นน่ากังวลที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะไทย อาทิ การมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งส่งผลกระทบในการดำเนินกิจการขนส่งและความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้บริโภค
ข้อมูลจากสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบกปี 2566 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านผู้ขับขี่ ปัจจัยด้านยานพาหนะ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของปัจจัยด้านผู้ขับขี่มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 81.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 และปี 2564 อยู่ที่ 76.0% และ 77.5% ตามลำดับ
พฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยงอันตรายของพนักงานขับรถ อาทิ การขับขี่รถด้วยความประมาท การขับตามหลังระยะกระชั้นชิด การขับด้วยความเร็วสูง การขับรถในขณะที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ
นอกจากนี้ สภาพการทำงานที่ไม่ดีบนรถโดยสาร ยังเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและสมรรถนะในการขับขี่ โดยผลการศึกษาของกรมอนามัย พบว่า ผู้ปฏิบัติงานบนรถโดยสารประสบปัญหาทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด รำคาญ ขณะปฏิบัติงานในระดับเล็กน้อยถึงมากรวมกัน 37.4% เนื่องจากต้องปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จำกัดติดต่อกันเป็นเวลานานตามสภาพการจราจร ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 43.5% นอนหลับพักผ่อนเพียงแค่ 5 – 6 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวอีกทั้ง กว่า 12.1% ยังระบุว่า เคยประสบอุบัติเหตุจราจรขณะปฏิบัติงานจำนวน 1–5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี
การละเลยต่อความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมของสภาพรถโดยสารถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของเครื่องยนต์หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการตรวจสภาพรถยนต์เป็นประจำทุกปีให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจำแนกตามลักษณะรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ในปี 2566 พบว่า จำนวนรถโดยสารทุกประเภทประสบอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 โดยเฉพาะรถโดยสาร 1 และ 2 ชั้น อยู่ที่ 36.1% และ 27.4% ตามลำดับ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัญหาปัจจุบันของรถโดยสารสาธารณะไทย สามารถแบ่งออกเป็น2 ประเด็น ได้แก่
1) รถสาธารณะส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนานและมีสภาพทรุดโทรม ยกตัวอย่างจากข้อมูลสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในปี 2567 ที่ระบุว่ากว่า 52.6% ของจำนวนรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ยังเป็นรถธรรมดา (สีครีม – แดง) ที่มีอายุการใช้งานนานถึง 33 ปี มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเหมาซ่อมบำรุงรักษาอยู่ที่ 1,501.7 บาท/คัน/วัน รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานอื่น ๆ อาทิค่าเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายบุคลากร และภาระจ่ายดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพรถ เนื่องจากประสบสภาวะขาดทุน
นอกจากนี้ นโยบายการพัฒนาคุณภาพรถโดยสารในปัจจุบันยังเน้นไปที่การปฏิรูปเส้นทางการเดินรถมากกว่าความปลอดภัยของตัวรถโดยสาร และยังพบการให้บริการของรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทำให้ผู้โดยสารเสี่ยงต่อการไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หากประสบอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถทำประกันภัยประเภทรถสาธารณะได้
2) การดัดแปลงสาระสำคัญของรถที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังเช่นกรณีการติดตั้งก๊าซธรรมชาติ (CNG) ที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม โดยจากผลการตรวจสภาพรถ ของกรมการขนส่งทางบก ในปี 2567 พบจำนวนรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางติดตั้งก๊าซ CNG สะสมทั้งหมด 13,426 คันทั่วประเทศ โดยมีเพียง 9.9% ที่ได้รับการตรวจสภาพซึ่งในจำนวนนี้เกินครึ่งไม่ผ่านมาตรฐาน อาทิ จำนวนถังก๊าซเกินไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ถังก๊าซหมดอายุ ระบบก๊าซชำรุด ซึ่งเสี่ยงต่อ
การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง โดยเฉพาะกรณีเหตุเพลิงไหม้หรือระเบิดซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับความรัดกุมของระบบการตรวจสอบสภาพรถโดยสาร และช่องโหว่ทางกฎหมายของพ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตราที่ 14
จากประเด็นข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สภาพปัญหารถโดยสารสาธารณะไทยเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ว่าไทยเริ่มมีการพัฒนาระบบรถโดยสารอย่างการจัดหารถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (EV) ของเอกชนเปลี่ยนแทนรถธรรมดาประจำทาง ขสมก. บางส่วน หรือการติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งรถบนแอปพลิเคชัน ViaBus เป็นต้น
ขณะที่ต่างประเทศมีการบริหารจัดการระบบรถสาธารณะที่มีประสิทธิภาพรอบด้าน มีการตรวจสอบมาตรฐานและการก ากับอย่างเข้มงวด ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการกำหนดมาตรฐานตรวจสอบพนักงานก่อนขับรถทุกครั้ง อาทิ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ และมีการฝึกอบรมการขับขี่เชิงรุกแก่พนักงานสม่ำเสมอ เช่น การใช้เครื่อง Simulator จำลองสถานการณ์การขับขี่และการช่วยเหลือผู้โดยสารเมื่อเกิดเหตุ รวมทั้งการจัดให้มีการตรวจด้านสภาพจิตใจด้วยโปรแกรมการฝึกอบรมทัศนคติการขับขี่ (Unten Tekisei Koshu) และโปรแกรมฝึกอบรมพฤติกรรมการขับขี่(Anzen Unten Kyoiku)
สำหรับพนักงานที่ละเมิดกฎจราจรหรือเคยเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และจัดให้มีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนะนำแนวทางจัดการกับความเครียด ความโกรธ ซึ่งเป็นปัจจัยด้านอารมณ์ที่อาจส่งผลต่อการขับขี่ประเทศสิงคโปร์จากนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะเพื่อลดปัญหาการจราจรหนาแน่นภาครัฐจึงได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงสภาพรถโดยสารประจำทางที่อายุการใช้งานนานเกินกว่า 20 ปี และมีสภาพเสื่อมโทรม อาทิ รถพื้นไม้เก่า รถธรรมดาแบบร้อน รวมถึงให้การสนับสนุนองค์การการขนส่ง ที่ประสบปัญหาขาดทุนอาทิ การอุดหนุนราคาค่าโดยสาร ต้นทุนพลังงาน และค่าจ้างพนักงาน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกฎหมายมาตรฐานการขนส่งสาธารณะและบทลงโทษเข้มงวดหากไม่ปฏิบัติตามประเภท
กลุ่มภูมิภาคยุโรป ในปี 2562 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป (UNECE) ได้กำหนดมาตรการบังคับว่าด้วยความปลอดภัยทางคมนาคมด้วยรถโดยสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนในรถโดยสารขนาดใหญ่ (รถบัส) ด้วยเหตุผลสำคัญคือ รถ NGV หรือ LPG ติดไฟได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระทบต่อตัวถังก๊าซ
จากกรณีศึกษาของต่างประเทศที่มีการบริหารจัดการระบบรถโดยสารสาธารณะได้อย่างประสิทธิภาพข้างต้นถือเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ สำหรับประเทศไทยในการนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหารถโดยสาร ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
1. การพัฒนาคุณภาพของพนักงานขับรถ โดยการจัดให้มีการฝึกอบรมและการประเมินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจประจำปี เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจมาจากปัญหาสุขภาพของพนักงานขับรถ นอกจากนี้ ยังอาจต้องมีการร่วมมือระหว่างองค์กรหรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อทำการศึกษาวิจัยและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยอิงจากข้อมูลจริง เช่น การศึกษาพฤติกรรมการขับขี่และความพึงพอใจของผู้โดยสารเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยในระบบรถโดยสาร ซึ่งมีส่วนช่วยในการกำหนดแนวทางพัฒนาการฝึกอบรมและการกำกับดูแลการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น
2. การสนับสนุนจากภาครัฐในการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร ภาครัฐควรพิจารณาถึงการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อสนับสนุนกิจการขนส่งที่ต้องการเปลี่ยนรถโดยสารใหม่หรือการติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมขนส่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อีกทั้ง การส่งเสริมพัฒนาระบบตรวจสอบมาตรฐานสภาพรถ การรับรองมาตรฐานสภาพรถให้มีความทันสมัย เช่น การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพรถแบบ Real Time ที่สามารถแจ้งเตือนปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวรถโดยสารให้กับผู้ขับขี่และผู้ประกอบการได้ทันที ซึ่งทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
3. ความเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสาร และการทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายและการรัดกุมของระบบการตรวจสอบสภาพรถโดยสาร เนื่องจากอาจมีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย อาทิ การดัดแปลงสภาพรถและเครื่องยนต์โดยใช้อาศัยคำว่า “ดุลยพินิจ” ของนายทะเบียน รวมทั้งการตรวจเช็กความครบถ้วนของอุปกรณ์ความปลอดภัยตามระเบียบ อาทิ เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และประตูทางออกฉุกเฉิน ให้พร้อมใช้งาน
ทั้งนี้อาจต้องมีการทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพรถโดยสาร อาทิ ความถี่ในการตรวจสภาพเกณฑ์ดุลยพินิจที่ชัดเจนครอบคลุม มาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังอาจส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพของรถโดยสารพร้อมรายงานปัญหา ซึ่งจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อไป
ที่มา: เมื่อต้องฝากชีวิตไว้บนรถสาธารณะ ? สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)