ปี 2023 สถานการณ์สุขภาพจิตไทยยังวิกฤต
สุขภาพจิตเป็นปัญหาใหญ่ของยุคสมัยที่ได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควร ปัญหาดังกล่าวถูกพูดถึงระยะสั้นจากการซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โรคระบาดในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7.97 ต่อแสนประชากรในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย 6.3 ของกรมสุขภาพจิตติดต่อกันเป็นปีที่ 5 และ สูงที่สุดในรอบ 22 ปี ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว อย่างไรก็ดี แนวโน้มนี้เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังคงไม่มีทิศทางดีขึ้นแม้สถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายลง
ความเสี่ยงซึมเศร้าเพิ่มกลับขึ้นมาใกล้เคียงช่วงโรคระบาด
ในภาพรวมตัวเลขอัตราผู้ที่มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า หมดไฟ และเสี่ยงฆ่าตัวตายค่อนข้างคงที่ แต่หากแยกพิจารณารายช่วงอายุจะพบว่าคนไทยแต่ละช่วงวัยเผชิญวิกฤตไม่เท่ากัน กลุ่มอายุ 50-59 และ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่เข้ามาทำแบบประเมินสุขภาพจิตออนไลน์มากที่สุด รวมกันคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้ามาใช้บริการทั้งหมด แต่ปรากฏว่ากลุ่มนี้มีอัตราเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ มาก เสี่ยงซึมเศร้าอยู่ที่ราว 1-2% เท่านั้นทำให้ตัวเลขในภาพรวมค่อนข้างต่ำ ในขณะที่วัยเรียนและวัยทำงานตอนต้นมีความเสี่ยงซึมเศร้าสูงกว่ามาก
อัตราผู้มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ารายช่วงอายุ (2020-2023)
ข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ของกรมสุขภาพจิตเผยให้เห็นว่า สุขภาพจิตคนไทยดีขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ในช่วงต้นปี 2566 ก่อนจะไต่ระดับกลับขึ้นมาในช่วงครึ่งปีหลัง ช่วงเดือนพ.ค. – พ.ย. 2566 กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีเสี่ยงซึมเศร้าสูงถึง 34.1% กลับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงโรคระบาด
นอกจากนี้จะเห็นว่ามีอัตราพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่สังคมตระหนักถึงปัญหา เช่น ในเดือนต.ค. ที่มีวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งมีผู้เข้ามาทำแบบประเมินจำนวนมาก การที่อัตราเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วยสะท้อนว่า ในห้วงเวลาปกติยังมีผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามสภาวะทางจิตใจของตนเองและไม่ได้เข้ามาประเมิน ดังนั้น แม้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่เรามีในเวลานี้ แต่จะต้องไม่ลืมว่าอาจยังมีคนที่ตกหล่นไปจากภาพสถานการณ์นี้ การบริการสุขภาพจิตในพื้นที่จึงยังมีความสำคัญอยู่มาก
ระบบดูแลสุขภาพจิตเป็นคอขวด บุคลากรกระจายไม่ทั่วถึง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ลงต่อเนื่อง คนไทยกลับยังเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพจิตได้ยาก เนื่องจากระบบในปัจจุบันกำหนดให้ผู้ป่วยทั้งหมดต้องได้รับการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์หรือแพทย์ก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในขณะที่ไทยมีจิตแพทย์อยู่เพียง 845 คน หรือ 1.28 คนต่อแสนประชากรและยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากในแต่ละพื้นที่ จิตแพทย์กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ในกรุงเทพฯ มีประจำอยู่ถึง 275 คน หรือมีจิตแพทย์หนึ่งคนสำหรับประชากรราวสองหมื่นคน ขณะที่เขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งประกอบด้วยเจ็ดจังหวัดอีสานตอนบน มีจิตแพทย์อยู่เพียง 27 คน คิดเป็นสัดส่วนหนึ่งคนต่อประชากรราวสองแสน แตกต่างกันถึง 10 เท่า
ยิ่งไปกว่านั้น เด็กและวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงที่สุดยังเข้าถึงบริการได้ยากยิ่งกว่า เพราะจำเป็นต้องใช้จิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งมีอยู่เพียง 295 คน และกระจุกอยู่ในกรุงเทพไปแล้วราว 1 ใน 3 ขณะที่ใน 17 จังหวัดยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอยู่เลยแม้แต่คนเดียว
การดูแลสุขภาพจิตในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ดูแลออกนอกโรงพยาบาล และเสนอทางเลือกที่หลากหลายแก่กลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น แนวคิดสำคัญคือการดูแลไปทีละขั้น เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้คนดูแลจิตใจตนเองได้ การมีนักบำบัดขั้นต้นและนักจิตวิทยาที่เข้าถึงได้ง่ายและใกล้บ้านเพื่อช่วยดูแลอาการเจ็บป่วยทางใจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ให้การไปพบจิตแพทย์เป็นทางเลือกสุดท้ายและสงวนไว้ให้กับคนที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น การมีทีมสหวิชาชีพที่เข้มแข็งและเพียงพอจึงเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างตาข่ายรองรับจิตใจของ ‘ผู้คน’ ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็น ‘คนไข้’ จนล้นระบบของโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการทำงานของสหวิชาชีพ อาทิ นักจิตวิทยาที่มีอยู่เพียง 1,128 คน เภสัชกรด้านสุขภาพจิตที่มีอยู่ 634 คน และพยาบาลจิตเวช กำลังหลักของบริการสุขภาพจิตที่มีอยู่ 4,308 คน กลับยังไม่ถูกพูดถึงนักในระดับของการขับเคลื่อนนโยบาย
‘มินิธัญญารักษ์’ จะแก้ปัญหาได้แค่ไหน?
ปัจจุบัน สำหรับหน่วยงานในระดับอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 จาก 776 แห่ง (80.7%) ส่วนในระดับจังหวัดก็มีหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปแล้ว 58 จาก 76 จังหวัด (76.3%) รัฐบาลประกาศเป้าหมาย ‘quick win’ ที่จะขยายบริการเหล่านี้ให้ครอบคลุมทุกอำเภอและจังหวัดภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมาก แต่ยังคงมีข้อที่ต้องติดตามในระยะยาวและจับตาว่าเป็นการแก้ไขที่ ‘ตรงจุด’ มากเพียงใด
การเร่งรัดให้มีการตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดและหอผู้ป่วยจิตเวชจึงยังสุ่มเสี่ยงว่าจะพร้อมและคุณภาพพอให้บริการได้จริงไม่ แบบสำรวจผู้บริหารโรงพยาบาลทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2023 พบว่าแม้โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีความพร้อมในการให้บริการจิตเวชทั่วไป แต่พร้อมให้บริการกลุ่มเฉพาะ เช่น เด็กและผู้ป่วยยาเสพติดเพียง 25% และพร้อมดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินเพียง 11% เท่านั้น
สิ่งที่ต้องจับตาอีกข้อหนึ่งคือ แนวนโยบายที่มุ่งเน้นรับมือผู้ป่วย ‘ยาเสพติด’ หรือที่เรียกว่า ‘มินิธัญญารักษ์’ จะส่งผลอย่างไรต่อการให้บริการในภาพรวม พิจารณาจากตัวเลขเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีจะเห็นว่ายาเสพติดและสุราเป็นสาเหตุสำคัญของโรคทางจิตเวชตามที่กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มโรควิตกกังวลและซึมเศร้าก็มีจำนวนเคสใกล้เคียงกัน (ผู้ป่วยหนึ่งคนอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมากกว่าหนึ่งกลุ่มโรค) การทุ่มทรัพยากรไปยังกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงก่อนเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี แต่จะต้องไม่ละเลยวิกฤตด้านอื่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน รวมถึงอาจต้องมีการประเมินด้วยว่าระบบดูแลในปัจจุบันที่รวมเอาโรคทางจิตเวชทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันจะส่งผลเสียต่อกลุ่มอื่น เช่น ทำให้กลุ่มอื่นเข้าถึงบริการได้ยากขึ้นหรือไม่? ทำให้เกิดการตีตราผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นหรือไม่?
เชื่อมต่อการดูแลที่หลากหลายแต่เป็นเอกภาพ
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นวาระที่ถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นจากทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชนและภาคประชาสังคมที่ต่างพยายามนำเสนอทางออกและริเริ่มการดูแลจิตใจในระดับต่างๆ ข้อเสนอจากเวทีเสวนาสาธารณะ และการประชุมของสมัชชาสุขภาพ ต่างมองเห็นภาพของระบบการดูแลที่ครอบคลุมไปจนถึงพื้นที่ชีวิตประจำวัน เริ่มต้นตั้งแต่ในระดับชุมชน ส่วนภาครัฐเองก็ตอบสนองด้วยการพยายามนำเครื่องมือบำบัดที่มีชุมชนเป็นฐานเข้ามาใช้กับผู้ป่วยยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานโยบายสุขภาพจิตยังคงขาด ‘ข้อกลาง’ ที่จะเชื่อมต่อการดูแลจากฐานขึ้นไปจนถึงการพบจิตแพทย์อย่างเป็นระบบ เช่น การทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาการปรึกษา นักบำบัดและผู้ให้ทางเลือกการดูแลจิตที่อยู่พ้นขอบเขตของระบบสาธารณสุขตั้งแต่ก่อนจะเป็น ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องทำงานบูรณาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป
แหล่งอ้างอิง
- http://healthkpi.moph.go.th/kpi2/kpi/index/?id=1924&kpi_year=2565
- https://data.go.th/dataset/specialist
- https://101pub.org/child-and-adolescent-mental-health-care-inaccessibility/
- https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5870?locale-attribute=th
- https://www.thecoverage.info/news/content/5651
- https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5870?locale-attribute=th
- https://theactive.net/data/mental-health-ecosystem/
- https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2742625
- https://www.thecoverage.info/news/content/5859