การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 ต.ค. 67 มีมติเห็นชอบในหลักการหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
สมช.เสนอให้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร เพื่อใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 ม.ค. 64 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 ธ.ค. 59 ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รอการพิจารณากำหนดสถานะในปัจจุบัน จำนวน 483,626 คน ให้ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร) หรือสัญชาติไทยอย่างรวดเร็ว
สมช.ได้เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสถานะของบุคคลในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ก่อนเสนอครม. ดังนี้
กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน
- บุคคลที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2542 (เลขประจำตัวประเภท 6) และที่สำรวจเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลระหว่างปี พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 89)
- บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายในปี พ.ศ. 2542 เด็กและบุคคลที่กำลังเรียนหรือจบการศึกษาแล้ว คนไร้รากเหง้า และคนที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 00)
กลุ่มย่อย
- กลุ่มที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน (ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม)
- กลุ่มเด็กและบุคคลที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและกำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษาหรือจบการศึกษาแล้วแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- กลุ่มบุคคลไร้รากเหง้า
- กลุ่มบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ
คุณสมบัติ
- มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติและมีเลขประจำตัว 13 หลัก
- มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ติดต่อกันต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
- ให้ผู้ยื่นคำขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเองเพื่อเร่งรัดคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว หากมีคุณสมบัติ ดังนี้ (*ปรับ ให้ผู้ขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเองแทนการสอบสวนผู้ขอและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือและแทนการส่งไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและตรวจสอบพฤติการณ์ด้านความมั่นคงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
- มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทยและเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุ
- มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่เคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา ถึงที่สุดของศาลให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หากเคยได้รับโทษดังกล่าว ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำร้อง เว้นแต่โทษในคดียาเสพติดฐานเป็นผู้ค้าหรือผู้ผลิต ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้นสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี บริบูรณ์
- ไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง/ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ กับประเทศต้นทาง
- ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
การอนุญาต
- ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน เป็นผู้พิจารณาอนุญาตและออกหนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
- ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาจังหวัดอื่นนอกเขต กทม. นายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุญาตและออกหนังสือ รับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ราชอาณาจักร
- อธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจดำเนินการทั่วราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ได้เพิ่มเงื่อนไขว่าหากภายหลังปรากฏว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือมีลักษณะไม่เป็นไปสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาจถูกถอนการอนุญาตให้มีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 17แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522ประเภทไร้สัญชาตินอกกำหนดจำนวนคนต่างด้าวโดยกระบวนการถอน การอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมการปกครองกำหนด
(หมายเหตุ: การเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวสามารถบังคับใช้กับกลุ่มที่เคยได้รับอนุญาตให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับใบสำคัญ ถิ่นที่อยู่ และกลุ่มเป้าหมายที่รอการกำหนดสถานะบุคคล ในครั้งนี้ ทั้งนี้ กรมการปกครองแจ้งว่า เคยมีกรณีการเพิกถอนใบสำคัญถิ่นที่อยู่มาแล้วโดยเป็นการดำเนินการตามประกาศ มท. (ตามข้อ 5.7 ในเอกสารแนบท้าย 3)
บุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในราชอาณาจักร
- บิดาหรือมารดาเป็นบุคคลที่ได้รับการสำรวจจะต้องได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ มีเลข จัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2542 และที่สำรวจเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลระหว่างปีพ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2554 จะต้องได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ มีเลขประจำตัว 13 หลักตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและต้องเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี นับถึงวันที่บุตรยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย
- ต้องมีหลักฐานการเกิดในราชอาณาจักรไทยและมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ
- ให้ผู้ยื่นคำขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเอง เพื่อเร่งรัดคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว หากมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
- ต้องพูดและเข้าใจภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ขอ ยกเว้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี คนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยินทางการสื่อสารจิตใจ และทางพฤติกรรม
- มีความจงรักภักดีและเลื่อมใสการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่เคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หากเคยได้รับโทษดังกล่าว ต้องพ้นโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำร้อง เว้นแต่โทษในคดียาเสพติดฐานเป็นผู้ค้าหรือผู้ผลิตต้องพ้นโทษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้นสำหรับเด็กที่มีอายุ ไม่เกิน 18 ปี
- ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในเขต กทม. ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียนเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
- ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาจังหวัดอื่นนอกเขต กทม. นายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
- อธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจดำเนินการทั่วราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ได้มีการปรับเพิ่มเงื่อนไข คือ หากภายหลังปรากฏว่าผู้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยคุณสมบัติไม่เป็นไปตามลักษณะหรือหลักเกณฑ์ข้างต้น อาจถูกเพิกถอนคำสั่งทางปกครองในการให้สัญชาติไทยดังกล่าว (สามารถถอนสัญชาติไทยของบุคคลดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 9/2567)
สมช. ระบุว่าหากมีการปรับแก้หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรแล้ว จะมีการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาใหม่เพื่อให้เร่งรัดกระบวนการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำตารางเปรียบเทียบ ขั้นตอนการดำเนินงาน/ระยะเวลาในการกำหนดสถานะของกลุ่มเป้าหมายในการขอมีสถานะ เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน (การมอบใบสำคัญถิ่นที่อยู่) รวมถึงการขอสัญชาติไทยสำหรับบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การดำเนินการขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อย (ออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่)
- ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายในเป็นผู้พิจารณาอนุญาต กรณีผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในเขต กทม.
- นายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุญาต กรณีผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาจังหวัดอื่นนอกเขต กทม. ดำเนินการ 3 วัน
- เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร 14) และทำบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ดำเนินการ 1 วัน
การดำเนินการขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย
ขั้นตอนการดำเนินงานใหม่ (หากปรับหลักเกณฑ์ฯ) โดยให้ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานโดยผู้ขอยืนยันและรองรับคุณสมบัติของตนเอง และอำเภอหรือสำนักบริหารการทะเบียน (แล้วแต่กรณี) ตรวจสอบคุณสมบัติเอกสารหลักฐาน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน
สำหรับผู้พิจารณาในกรณีผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในเขต กทม. ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน และสำหรับผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาจังหวัดอื่นนอกเขต กทม. ให้นายอำเภอ เป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 วัน
จากนั้น ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) และทำบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน
รวมระยะเวลาการดำเนินการ 5 วัน จากเดิมต้องใช้เวลาดำเนินการ 180 วัน
รัฐบาลย้ำไม่ใช่ให้สัญชาติ “คนสีเทา”
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าเป็นการให้สัญชาติต่อผู้ที่ยื่นขอไว้ และอยู่ในระบบของทางราชการมากว่า 30 ปี ไม่ใช่ให้สัญชาติแก่คนสีเทาๆ หรือพวกอาชญากรข้ามชาติ ทั้งนี้ ที่สมช. เสนอ ครม. นั้นเป็นการลดขั้นตอนและเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 – 2566 มีประมาณ 8.25 แสนคน ซึ่งใช้เวลาไปแล้วถึง 31 ปี หลายรัฐบาลอนุมัติไปได้แค่ 3.24 แสนคน
คนจำนวนมากรอจนเสียชีวิตไปแล้วก็มาก เนื่องจากรอขั้นตอนทางราชการของหน่วยงานความมั่นคงทางปกครองมานานกว่า 30 ปี โดยปัจจุบันยังมีตกค้างอยู่อีกราว 4.83 แสนคน ซึ่งทาง สมช. เห็นว่าหากยังใช้ขั้นตอนเดิมในยุคก่อนที่ต้องตรวจสอบและจัดทำประวัติแบบแอนะล็อกไม่รวดเร็วและทันสมัยเท่าปัจจุบัน ต้องใช้เวลาถึง 44ปี แต่ปัจจุบันมีระบบจัดเก็บข้อมูลประวัติลายนิ้วมือทางคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งระบบไบโอเมตริกซ์ก็จะรวดเร็วจากการลดขั้นตอนได้มาก
สมช. ยืนยันว่า คนจำนวน 4.83 แสนคนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มแรก 3.40 แสนคน ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและจัดเก็บฐานข้อมูลต่างๆ ไว้หมดแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้จะได้รับใบถิ่นที่อยู่ถาวรและต้องใช้เวลาขั้นต่ำอีก 5 ปี เพื่อขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และเมื่อได้รับสัญชาติไทยแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งไปลงคะแนนเลือกตั้งได้ในทุกระดับ โดยต้องแปลงสัญชาติมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีสิทธิ เท่ากับว่าต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 10 ปี
ส่วนกลุ่มที่ 2 ประมาณ 1.43 แสนคน เป็นบุตรที่เกิดจากบุคคลกลุ่มแรกที่เกิดในประเทศไทย ที่มีเอกสารการเกิดจากสถานที่เกิดต่างๆ ในประเทศไทย
“ในอดีต เรามีคนโพ้นทะเลอพยพมาในสยาม หรือในประเทศไทย เรามี “ผู้อพยพ” ยุคเวียดนามใต้ ในยุคไซ่ง่อนแตก เรามีไทยรามัญ และอีกหลากหลายประเทศเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็เข้มงวดในการให้สัญชาติ โดยประเทศไทยได้ให้สัญชาติไทยไปแล้วนับล้านคน”