ในช่วงต้นปีของทุกปี เป็นช่วงที่ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี แต่หากใครมีรายได้มากพอ ก็มักจะเริ่มมาพิจารณา หรือมาคำนวณรายได้ที่ต้องเสียภาษี โดยมาพิจารณาค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่าง เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องเสียตามอัตราภาษีที่กรมสรรพากรกำหนดจาก “เงินได้สุทธิ”
การคำนวณเงินได้สุทธิ อาจคำนวนได้แบบง่าย ๆ ดังนี้ เงินได้สุทธิ = (รายได้รวมต่อปี – ค่าใช้จ่าย) – ค่าลดหย่อน
เงินได้สุทธิ ถือเป็นจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณภาษี โดยสามารถนำค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นำมาหักออกจากรายได้ ซึ่งหากใครยิ่งหักได้มาก ก็จะช่วยประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปี หรือ ในกรณีที่มีการหักภาษีไปแล้วระหว่างปี ผู้เสียภาษีก็จะได้รับการคืนภาษี
ก่อนยื่นภาษี ผู้มีเงินได้ประจำ หรือ เรียกกันว่ามนุษย์เงินเดือน ควรตรวจสอบข้อมูลเงินได้ของตัวเองก่อนว่ามีรายได้จากเงินเดือนทางเดียว ซึ่ง ต้องยื่น ภ.ง.ด.91 หรือ มีรายได้ทางอื่นด้วย ต้องยื่น ภ.ง.ด.90 โดยดูว่ามีเงินได้เข้าเกณฑ์ต้องยื่นภาษีหรือไม่
สำหรับเกณฑ์รายได้ หากผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และเกิน 220,000 บาท (กรณีสมรส) มีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ถึง 120,000 หรือ 220,000 บาทต่อปี ก็ไม่ต้องยื่นภาษี
หากพบว่าตัวเองมีเงินได้ต้องยื่นภาษี ตามกฎหมายสามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อน โดยกฎหมายให้นำเงินได้สุทธิคำนวณจากเงินได้ที่หักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ซึ่งหมายความว่าจะหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ไม่ต้องเสียภาษีได้ 160,000 บาท
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หลังจากนั้น ก็นำไปหักจากรายได้ทั้งหมด ซึ่งที่เหลือจะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในกรณีที่ไม่มีการหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ เลย โดยจะมีอัตราภาษี ดังนี้
ตามอัตราภาษีที่ต้องเสียหากไม่มีการหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ จะมีการแบ่งขั้นของเงินได้ตามตารางข้างต้น แต่ตามกฎหมายกำหนดให้เงินได้ในส่วนของ 0-150,000 บาท จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่่วนตัวในส่วนแรก 160,000 บาท ทำให้ผู้มีเงินได้รวมเป็น 310,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี (แต่ต้องยื่นภาษี) หรือเฉลี่ยผู้มีเงินเดือน 25,833.33 บาท (ไม่นับรวมโบนัสหรือรายได้อื่น) ไม่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น หากผู้มีเงินได้มากกว่า 310,000 บาท และต้องการประหยัดหรือไม่อยากเสียภาษี ทางกรมสรรพากรก็มีมาตรการลดหย่อนอื่น ๆ อีกหลายรายการตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ทั้งเพื่อครอบครัว การเกษียณอายุ หารลงทุน เพื่อสังคม หรือสวัสดิการอื่น ๆ
สำหรับการลดหย่อนในแต่ละปีมีความแตกต่างกัน โดยในช่วงหลัง รัฐบาลมักจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีระยะสั้น เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้เสียภาษีจับจ่ายใช้สอย
สำหรับปีภาษี 2567 ซึ่งกำหนดต้องยื่นภายใน 31 มี.ค. 68 มีรายการที่สามารถลดหย่อนภาษี ดังนี้
รายการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา
การลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ในปี 2567 มีทั้งสิ้น 21 รายการ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
ส่วนตัวและครอบครัว
1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
2. คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
การออม การลงทุนและประกันชีวิต
7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท
9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้
10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการออม SSF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
12. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน ต้องไม่เกิน 200,000 บาท
14. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
15. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
16. เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
17. Easy E-Recipt มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยปี 2567 ให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 50,000 บาทต่อคน เมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยนำใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบเสร็จจากร้านค้าที่ซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567 เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการรับสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2568
18. เที่ยวเมืองรอง มาตรการลดหย่อนภาษีปี 2567 เที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด สามารถนำค่าที่พักที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)
29. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) หักได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนเป็นวงเงินแยกต่างหาก โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ซึ่งเกณฑ์การถือครองหน่วยลงทุน ต้องถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อในปี 2567-69
อ่านเพิ่มเติม:
เช็กกองทุนลดหย่อนภาษีปี 67 รายได้ปีละล้านไม่เสียภาษี
การบริจาค
20. เงินบริจาคให้แก่พรรคการเมือง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
21. เงินบริจาค
– เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และโรงพยาบาลรัฐ ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์(e-Donation) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
– เงินบริจาคอื่น หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
ที่มา: กรมสรรพากร