ความเป็นทางการกับความไม่เป็นทางการ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นความเป็นทางการ และใช้ความเป็นทางการเป็นกลไกการพัฒนาประเทศอย่างเดียว ทำให้ติดขัดจนขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้
ในความจริง ความไม่เป็นทางการมีมาก่อนความเป็นทางการ ใหญ่กว่า เป็นเหตุเป็นผลมากกว่า เป็นอิสระและคล่องตัวมากกว่า โดยประเทศไทยมีผู้นำที่ไม่เป็นทางการหรือผู้นำตามธรรมชาติจำนวนมหาศาลเป็นล้านๆคน แต่ไม่ได้รับการเห็นคุณค่าและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
“ผู้นำตามธรรมชาติ” หรือ “ผู้นำไม่เป็นทางการ” เป็นคุณสมบัติที่ปรากฏขึ้นเองจากการทำงานและการอยู่ร่วมกัน โดยไม่ผ่านการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง
ผู้นำโดยการแต่งตั้งมักมีปัญหามาก เนื่องจากผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งมักไม่เข้าใจว่าใครเป็นผู้นำที่แท้จริง ทำให้แต่งตั้งผิดคน หรือมีคนอยากได้ตำแหน่งโดยไม่เหมาะที่จะทำเรื่องนั้นๆ เมื่อแต่งตั้งไปก็ผิดฝาผิดคน จึงทำงานไม่ได้ผล กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้สำเร็จ
ส่วนผู้นำโดยการเลือกตั้ง ซึ่งดูเสมือนดีและได้รับความนิยมทั่วไป ก็มีปัญหาใหญ่ เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งกับผู้ออกเสียงเลือกตั้งไม่เคยทำงานร่วมกัน ทำให้ไม่รู้ว่าใครดีไม่ดีแค่ไหน ก็เลือกโดยสุ่มๆไป หรือเลือกโดยได้รับอิทธิพลทางการเงินหรือการโฆษณาชักชวน จึงไม่แน่ว่าการได้ผู้นำโดยการเลือกตั้งจะเกิดผลดีเสมอไป
ปัญหาใหญ่ในการเลือกตั้งคือการใช้เงินเป็นใหญ่ มีการซื้อขายคะแนนเสียงอยู่ทั่วไป ผู้มีเงินมากจึงได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำ และมีอำนาจต่อรองในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือผู้นำระดับอื่นๆ ทำให้การเลือกตั้งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีกลับไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น
อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบเสรีประชาธิปไตย ขณะนี้มีความเหลื่อมล้ำสุดๆ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 99 ต่อ 1 คือการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคน 1% แต่คนอีก 99% ไม่ได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ ความเหลื่อมล้ำสุดๆแบบนี้ทำให้เกิดห่วงลูกโซ่แห่งปัญหาตามมาอีกมากมายจนแก้ไขไม่ไหว
คำถามก็คือ ประเทศอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่เรียกว่า วันแมนวันโหวต (One Man One Vote) ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่โหวตให้ตัวเองได้รับประโยชน์ โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันรางวัลโนเบลกล่าวว่า อเมริกาไม่ใช่วันแมนวันโหวต น่าจะเรียก วันดอลลาร์วันโหวต (One Dollar One Vote) มากกว่า คืออิทธิพลทางการเงินเข้ามามีผลต่อการเลือกตั้ง
ความติดขัดของความเป็นทางการ
คุณบรรยง พงษ์พานิช ได้ทำการนับว่าประเทศไทยใช้กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศ รวมกันประมาณ 130,000 ฉบับ ในระบบราชการหรือระบบที่เป็นทางการ กฎระเบียบทางการเหล่านี้บังคับใช้ไปทั่วแผ่นดินไทย ทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศถูกควบคุมด้วยอำนาจ ข้าราชการไม่มีโอกาสได้ใช้ความคิด เหตุผล หรือความริเริ่มใหม่ๆ ประเทศจึงติดขัดเสมือนถูกมัดตราสังข์ ทำให้กระดิกกระเดี้ยไม่ได้
คุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อตอนเป็นนายกรัฐมนตรีและได้ชื่อว่าเป็นคนเก่ง ครั้งหนึ่งยังตะโกนว่า “น่าเบื่อฉิบหาย ทำไอ้โน่นก็ไม่ได้ ทำไอ้นี่ก็ไม่ได้ ติดขัดไปหมด”
การที่ประเทศจะหลุดจากความติดขัดได้ สังคมไทยต้องทำความเข้าใจในความสำคัญของความไม่เป็นทางการ และส่งเสริมให้ผู้นำที่ไม่เป็นทางการในวงการต่างๆเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ
เบญจลักษณ์ของผู้นำตามธรรมชาติ
เมื่อมีการทำงานร่วมกัน คุณสมบัติบางอย่างที่มีในบางคนจะปรากฏขึ้นมาให้ผู้ที่ทำงานร่วมกันรับรู้ คุณสมบัติของความเป็นผู้นำตามธรรมชาติคือ
1. เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวม
ถ้าคนเห็นแก่ส่วนตัวก็จะปรากฏแก่คนทั่วไป และไม่มีใครยอมรับว่าเป็นผู้นำ
2. เป็นคนสุจริต
คนไม่สุจริต ชาวบ้านก็รู้ทันเพราะทำงานใกล้ชิดกัน เขาก็ไม่เคารพนับถือคนนั้นว่าเป็นผู้นำ
3. เป็นคนฉลาด รอบรู้ หรือที่คำโบราณเรียกว่า เป็นพหูสูต
มีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากกว่าคนอื่น คนที่เห็นแก่ส่วนรวมและสุจริต แต่ถ้าเป็นคนโง่เขลา ก็ไม่มีใครนับว่าเป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นผู้นำตามธรรมชาติต้องเป็นคนที่ฉลาดรอบรู้ในกิจการต่างๆ
4. เป็นคนสื่อสารเก่ง
ดังมีคำกล่าวว่า Great Leader is Great Communicator ถ้ามีความดีทุกอย่าง แต่สื่อสารไม่เป็น พูดจาไม่รู้เรื่องหรือไม่พูด ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้นำ เช่นที่ภาคอีสาน เคยมีหลวงตาคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ มีชาวบ้านชี้ว่าหลวงตาองค์นี้เป็นพระอรหันต์ แต่ไม่พูดจากับใคร ไม่สั่งสอนใคร เขาเรียกว่าเป็นอรหันต์แห้ง ตรงข้ามกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบรรลุธรรม มีความสง่า กล้าหาญ และพูดจามีเสน่ห์ จึงทรงเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่
5. เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปโดยอัตโนมัติ
ผู้นำตามธรรมชาติที่มีคุณสมบัติ 4 ข้อข้างต้นเป็นที่ปรากฏแก่คนทั่วไป จะได้รับการยอมรับโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปหาเสียงใดๆ
ลองพิจารณาดูให้ดีถึงคุณสมบัติของผู้นำตามธรรมชาติ 5 ข้อ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น เบญจลักษณ์ของผู้นำตามธรรมชาติหรือผู้นำที่ไม่เป็นทางการ ว่ามีคุณค่าสูงส่งเพียงใด เหนือผู้นำโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง
การก่อตัวขึ้นเองของผู้นำตามธรรมชาติ (Self-organized) ต้นทางของความสำเร็จ
ผู้นำตามธรรมชาติหรือผู้นำที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้มีจำนวนมากในสังคม เช่น ในแต่ละหมู่บ้านจะมี 40-50 คน คนเหล่านี้เป็นผู้นำอาชีพต่างๆบ้าง เป็นผู้นำกลุ่มต่างๆบ้าง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี เป็นครูบ้าง เป็นพระบ้าง เป็นศิลปินบ้าง และเป็นปราชญ์ชาวบ้านบ้าง
การรวมตัวกันโดยก่อตัวขึ้นเอง (Self-organized) เป็นวิธีการสำคัญที่จะเกิดองค์กรที่มีคุณภาพสูง ต่างจากการแต่งตั้งหรือโดยการเลือกตั้ง ถ้าผู้นำตามธรรมชาติมารวมตัวกันเองโดยไม่ได้รับการแต่งตั้ง เราเรียกว่าการก่อตัวขึ้นเอง จะเป็นการสร้างองค์กรที่มีคุณภาพ แต่ถ้ามีการมารวมตัวกันด้วยเหตุอื่น เช่น เพราะมีเงินมากจึงดึงดูดคนที่อยากได้เงินเข้ามารวมตัวกัน หรือมีการแต่งตั้งคนที่อยากได้รับตำแหน่งโดยไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม องค์กร จะเป็นอัมพาต ไม่สามารถสร้างผลงานหรือผลสำเร็จได้
การก่อตัวขึ้นเองโดยไม่มีเหยื่อล่อจะทำให้เกิดองค์กรที่มีคุณภาพสูง ที่เรียกว่า “สภาผู้นำชุมชน” หมายถึงการก่อตัวขึ้นเองของผู้นำตามธรรมชาติ เป็นองค์กรบริหารจัดการชุมชนโดยไม่มีอำนาจมาแต่งตั้ง จึงเป็นองค์กรบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูงสุด
แต่คนทั่วไปมักไม่รู้ความจริงในข้อนี้ เพราะคนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เนื่องจากระบบการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงเป็นตัวตั้ง การที่คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในการพัฒนาประเทศ การไม่รู้ความจริงจะทำให้ถูกต้องไม่ได้
“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง” คำนี้เป็นจารึกในเสาอโศกที่ปักไว้ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์
การไม่รู้ความจริง รบร้อยครั้งก็แพ้ทั้งร้อยครั้ง สังคมไทยดูจะยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้ความจริงของแผ่นดินไทย
ถ้ารู้ความจริงของแผ่นดิน ก็จะรู้จักผู้นำตามธรรมชาติหรือผู้นำที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมไทย ชุมชนทั้งประเทศมี 80,000 ชุมชน มีผู้นำตามธรรมชาติชุมชนละ 50 คน รวมกันแล้วเรามีผู้นำตามธรรมชาติอยู่ประมาณ 4 ล้านคน
ผู้นำตามธรรมชาติมีอยู่ทั่วไปในทุกวงการ แต่เนื่องจากประเทศไทยคิดว่า ความเป็นทางการเท่านั้นที่มีความถูกต้อง จึงไม่เข้าใจและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากผู้นำที่ไม่เป็นทางการจำนวนมหาศาลที่ซ่อนเร้นอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมไทย สิ่งนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้การพัฒนาประเทศไทยไม่ได้ผล ทั้งๆที่มีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามาก
คนไทยไม่ควรลำบากยากแค้นแสนสาหัสดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าทรัพยากรเพื่อการพัฒนาได้ถูกนำมาใช้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นความเข้าใจและเห็นคุณค่าของความไม่เป็นทางการ และนำความไม่เป็นทางการมาใช้ประโยชน์ จะเพิ่มจำนวนคนที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศอีกมากมายนับสิบล้านคน
ข้อเสนอแนะต่อสังคมไทย
ข้อ 1 ควรมีการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของความไม่เป็นทางการ และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
ข้อ 2 ผู้นำที่ไม่เป็นทางการในวงการต่างๆ ควรรวมตัวร่วมคิดร่วมทำโดยไม่ต้องรอให้ใครมาแต่งตั้ง แล้วลงมือทำเรื่องดีๆที่ตนเองและกลุ่มสนใจ ตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นมาจนถึงระดับนโยบาย
ข้อ 3 ระบบราชการควรเห็นคุณค่ากับการทำงานร่วมกับผู้นำที่ไม่เป็นทางการ
การปฏิรูประบบราชการที่พยายามทำกันมามากแต่ไม่สำเร็จ วิธีที่ง่ายกว่าคือ ไม่ต้องไปปฏิรูประบบราชการ แต่ระบบราชการหันมาร่วมมือกับผู้นำที่ไม่เป็นทางการที่ก่อตัวขึ้นเอง ความร่วมมือระหว่างความเป็นทางการกับความไม่เป็นทางการจะเปิดพลังมหาศาลแห่งความสำเร็จให้ประเทศไทย
ข้อ 4 การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของผู้นำที่ไม่เป็นทางการมีความสำคัญสูงสุดที่จะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนา
แต่ผู้นำเหล่านี้ไม่ค่อยเข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมไทยที่ดำรงอยู่มาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่มีการปฏิวัติรัฐประหารกันอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งระบบพระมหากษัตริย์ห้ามข้าราชการมาคุยกันเองหรือจับกลุ่มใดๆ เพราะกลัวจะก่อกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งก็เป็นความจริงที่มีตัวอย่างมากมายในสมัยนั้น
เช่นสมัยหนึ่ง สมุหกลาโหมจัดงานศพมารดาที่วัดแห่งหนึ่ง มีคนไปร่วมงานกันมาก พระเจ้าแผ่นดินเลยสงสัยว่าจะก่อกบฏ สมุหกลาโหมพูดว่า เมื่อสงสัยแล้วก็เอาจริงเสียเลย จึงยกเข้ามายึดอำนาจและตั้งตัวเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าประสาททอง
ตัวอย่างอื่นๆยังมีอีกมาก แม้พระสงฆ์ก็ยังสึกมายึดอำนาจ เช่น พระพิมลธรรม ฉะนั้นทางการจึงไม่ไว้ใจที่ข้าราชการหรือราษฎรจะมารวมตัวร่วมคิดร่วมทำใดๆ อยากให้แยกเป็นส่วนๆจะได้ไม่มีพลังมายึดอำนาจ นี่อาจจะสร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นมา ทำให้รวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันได้ยาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กลุ่มสามพราน และการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ความสำเร็จจากการร่วมมือของพลังที่ไม่เป็นทางการ
มีตัวอย่างความสำเร็จของคนกลุ่มหนึ่ง คือมีแพทย์ชนบทจำนวนหนึ่ง โดยข้อเสนอแนะของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ว่าควรมีการพบปะกันเป็นประจำเพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกัน แต่มีผู้แนะนำว่า ไม่ควรประชุมเพื่อปรับความเข้าใจ เพราะบางทียิ่งปรับยิ่งไม่เข้าใจกันมากขึ้น แต่ควรมาพบปะกันเพื่อเสนอสิ่งใหม่ที่ดีๆ และไม่มีการ ติชมว่าใครพูดไม่ดี ทุกคนมีอิสระที่จะพูด และไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะว่าเชยหรือไม่ได้เรื่อง
การมาพบปะกันเป็นประจำเช่นนี้ทำในชื่อ “กลุ่มสามพราน” ทำให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่เรียกว่า “การปฏิรูประบบสุขภาพ” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้มีการสร้างองค์กรขึ้นมาหลายองค์กรโดยกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)
มีนักวิจัยอเมริกันคนหนึ่งชื่อ โจเซฟ แฮร์ริส (Joseph Harris) จากมหาวิทยาลัยบอสตัน มาวิจัยเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย และแปลกใจที่พบว่า การปฏิรูปทำโดยข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง เพราะตามปกติข้าราชการที่เรียกว่า Bureaucrat จะไม่สามารถปฏิรูประบบได้ เพราะติดอยู่ในระบบทางการที่เรียกว่า Bureaucracy อย่างหนาแน่น โจเซฟ แฮร์ริส ถามด้วยความแปลกใจว่า ทำไมเขายอมให้พวกยูออกกฎหมายตั้งองค์กร เพราะแต่ละองค์กรที่เกิดขึ้น เกิดโดยกฎหมายทั้งสิ้น
นี่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างไม่เป็นทางการ
ความต่อเนื่องทางปัญญา (Continuity of Wisdom) หัวใจสำคัญของความสำเร็จ
กลุ่มสามพรานประชุมกันทุกเดือนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี น่าจะเป็นการประชุมกลุ่มที่ต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
ความต่อเนื่องยาวนานทำให้เกิดความต่อเนื่องทางปัญญา หรือ Continuity of Wisdom ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของงาน ความต่อเนื่องทางปัญญาเกิดจากความสามารถในการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างไม่เป็นทางการ เพราะไม่ขึ้นกับตำแหน่ง การแต่งตั้งใดๆ หรือการเกษียณอายุ
แต่ในระบบการเมืองและระบบราชการมักไม่มีความต่อเนื่องทางปัญญา เพราะมีการเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยๆ ในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน อาจมีใครทำอะไรดีๆขึ้นมาวูบหนึ่ง แต่เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือการเกษียณอายุ เรื่องดีๆนั้นก็ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
การขาดการต่อเนื่องทางปัญญาเสมือนการชำแหละอะไรออกเป็นส่วนๆ ทำนองชำแหละโค ชำแหละสุกร ทำให้สิ้นชีวิต
ความมีชีวิตเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยง ความมีชีวิตทำให้เติบโตและเรียนรู้ได้ แต่ความไม่มีชีวิตเติบโตและเรียนรู้ไม่ได้ มีแต่เน่าเปื่อยผุพังไป
ปีนี้ขบวนการแพทย์ชนบทที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 50 ปี ได้รับรางวัลแมกไซไซอันทรงเกียรติ
ขบวนการแพทย์ชนบททำงานต่อเนื่องยาวนาน จนเรียกกันเล่นๆ ว่า A Long March for the Poor — From Community to Policy การเดินทัพทางไกลเพื่อคนจน จากชุมชนถึงนโยบาย
การได้รับรางวัลแมกไซไซของขบวนการแพทย์ชนบทไทยในปีนี้ ควรมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ในสังคมไทยว่า การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของผู้นำที่ไม่เป็นทางการเป็นปัจจัยของความสำเร็จอย่างไร ความต่อเนื่องทางปัญญา (Continuity of Wisdom) เกิดขึ้นได้อย่างไร
จึงขอเสนอต่อคนไทยให้รับทราบโดยทั่วกันว่า ความไม่เป็นทางการสำคัญกว่าความเป็นทางการ ทำให้เกิดความต่อเนื่องยาวนานของประสบการณ์และปัญญา
ตั้งแต่นี้ต่อไป คนไทยควรหันมาให้คุณค่ากับความไม่เป็นทางการ และคุณค่าของการก่อตัวขึ้นเอง (Self-organized) ของผู้นำที่ไม่เป็นทางการในวงการต่างๆให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ก็จะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทย จากการเป็นสังคมอำนาจนิยมมาเป็นสังคมอุดมปัญญา
เมื่อเราออกจากการเป็นประเทศอำนาจนิยมมาเป็นสังคมอุดมปัญญา ก็จะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทุกๆด้าน
ที่มา: ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ พลังมหาศาลที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทย