คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) โดยให้ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน TESG จาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน และให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69
ทั้งนี้กำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
ทั้งนี้ วงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมถึงเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวง ตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตรา ร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
2. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกประมาณ 13,000 – 14,000 ล้านบาทต่อปี (มาตรการเดิมคาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัด ๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท) และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
- เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล
- ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มเสถียรภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน
- ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้น
กองทุน TESG คืออะไร
สำหรับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (TESG) เป็นกองทุนที่จะนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) สำหรับการลงทุนในตราสารทุนจะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ (Bond) จะลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bond) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) โดยจะลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทไทยเท่านั้น
ทำไม ESG Bond ถึงน่าลงทุน?
บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ ถึงผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนสารหนี้ ESG Bond ในไทย ดังนี้
1. ESG Bond ในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยการออก ESG Bond ทั่วโลกที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในอาเซียน ไทยมีการออก ESG Bond มากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยเมื่อเทียบกับยุโรป สัดส่วนของ ESG Bond ในไทยจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
2. ประวัติการสร้างผลตอบแทนที่ดีของ ESG Bond
- ในตลาดโลก ดัชนีตราสารหนี้ในกลุ่ม ESG มีประวัติการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดตราสารหนี้ทั่วไป เช่น ดัชนี Bloomberg’s Global Aggregate Green, Social and Sustainability ซึ่งเป็นตัวแทนของตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 9.94% ในปี 2566 และ ดัชนี Bloomberg’s Global Aggregate Total Return Index ซึ่งเป็นดัชนีตัวแทนของตลาดตราสารหนี้โดยรวม สามารถสร้างผลตอบแทนได้เพียง 5.72% ในปี 2566
- มีประวัติสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงตลาดขาขึ้น และปกป้องความเสี่ยงช่วงตลาดขาลง
3. ปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในตราสารหนี้ของไทย
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และคาดว่าสิ้นสุดวัฎจักรขาขึ้นในรอบนี้แล้ว (ที่มา: บลจ.กรุงศรี และ ธปท. ณ 12 มิ.ย. 67)
- ตลาดเริ่มลดความความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในปีนี้ (ที่มา: Bloomberg, HSBC ณ มิ.ย. 67)
ข้อกำจัดและความเสี่ยงด้านการลงทุน
เนื่องจากกรอบการลงทุนของกองทุนเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย หรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยแต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) หรือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability – linked bond) จึงทำให้ขอบเขตของการลงทุนถูกจำกัด
ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน
- ความเสี่ยงจากการเน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย หรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยแต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) หรือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability – linked Bond) ทำให้กองทุนเสียโอกาสในการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปที่อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
- ความเสี่ยงจากการพึ่งพาข้อมูลด้าน ESG จากแหล่งข้อมูลภายนอก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และคัดเลือกตราสารอาจมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์มีความถูกต้องมากขึ้น
- ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารที่อาจไม่เป็นไปตามกรอบการลงทุนด้านความยั่งยืนที่กองทุนกำหนด เช่น การลงทุนในตราสารที่ผู้ออกตราสารไม่มีอำนาจควบคุม หรือกรณีคู่ค้าของผู้ออกตราสาร (ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และหรือผู้ให้บริการ) อาจมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกรอบการลงทุนด้านความยั่งยืนที่นอกเหนือไปจากการรับรู้ของบริษัทจัดการ
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง อาจเกิดจากการที่กองทุนไม่สามารถซื้อหรือขายตราสารได้ในราคาหรือระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขด้านความยั่งยืนที่กองทุนกำหนด
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล, บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี