ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางธุรกิจการเงิน (Financial Hub) หรือ พ.ร.บ.ไฟแนนซ์เชียลฮับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ประกอบด้วยกฎหมายจำนวน 96 มาตรา
พ.ร.บ.ไฟแนนซ์เชียลฮับ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Authority: OSA) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน โดยธุรกิจเป้าหมายมี 8 ประเภท ได้แก่
- ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
- ธุรกิจบริการการชำระเงิน (Payment)
- ธุรกิจหลักทรัพย์
- ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
- ธุรกิจประกันภัย
- ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ
- ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ คกก. ประกาศกำหนด
ธุรกิจดังกล่าวจะดำเนินงานในรูปแบบ Out – Out หรือให้บริการธุรกรรมการเงินกับลูกค้าต่างชาตินอกประเทศเท่านั้น แต่ตั้งบริษัทอยู่ในไทย และในพื้นที่ที่กำหนด พร้อมทั้งจ้างแรงงานไทยตามสัดส่วนที่กำหนด และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการ OSA เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การให้วีซ่า และการดูแลด้านต่าง ๆ ที่ทำให้ประเทศไทยน่าดึงดูด
คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คณะกรรมการ OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาต การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจการเงินของไทยถูกกับกำกับดูแลโดย 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งแยกกันกำกับดูแล แต่ในอนาคตธุรกิจการเงินต่าง ๆ จะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้การขออนุญาตประกอบธุรกิจการเงิน การกำกับดูแล อาจยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องรวบอำนาจการกำกับดูแลไว้ด้วยกัน
ประกอบกับโลกการเงินมีการเคลื่อนตัวของธุรกิจการเงินสูง ซึ่งธุรกิจต่างชาติ ทั้ง ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็มุ่งเข้าหาประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูง มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ และมีโครงสร้างพื้นฐานการเงินที่ดี
ประเทศไทยมีความพร้อมทุกอย่าง แต่ยังขาดในเรื่องความง่ายในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ กระทรวงการคลังจึงเห็นควรต้องมีการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่างครบวงจร จึงออก พ.ร.บ.ไฟแนนเชียลฮับ
หลังจากที่ ครม.อนุมัติแล้ว ร่างพ.ร.บ.ไฟแนนเชียลฮับ จะถูกส่งให้สํานักงานกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแบบ Fast Track เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล คาดใช้เวลาไม่เกิน 50 วัน จากนั้นจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการพูดคุยกับประเทศฮ่องกง เพื่อเชื่อมศูนย์กลางการเงิน 2 แห่งเข้าด้วยกัน แต่ไม่ทับซ้อน โดยของฮ่องกงจะเชื่อมกับทวีปเอเชีย และไทยเชื่อมกับกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) นอกจากนี้ไทยยังมีแผนที่จะเชื่อมกับศูนย์กลางการเงินอื่น ๆ อีก เช่น ลักเซมเบิก เป็นต้น
ไทยอยู่ตรงไหนของศูนย์กลางการเงินทั่วโลก
ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Center หรือ Financial Hub) คือ ศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเงิน โดยคุณสมบัติสำคัญคือ มีสถาบันการเงินหลากหลายประเภทและมีจำนวนมาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ สูงซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของปริมาณธุรกรรมข้ามพรมแดน มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รวมถึงมีกฎหม ายและเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดช่วยให้ศูนย์กลางทางการเงินมีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมและมีความหลากหลาย
บทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อ้างอิงผลประเมิน Global Financial Centres Index 36 (GFCI) พบว่าศูนย์กลางทางการเงินของกรุงเทพฯ ในเดือน ก.ย. 2567 ถูดจัดอันดับอยู่ที่ 95 ของโลก ลดลงจากอันดับ 93 ในเดือน มี.ค. 2567
หากเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคหรือโลก เช่น นิวยอร์ก อันดับ 1, ลอนดอน อันดับ 2, ฮ่องกง อันดับ 3, สิงคโปร์ อันดับ 4 หรือดูไบ อันดับ 16 พบว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มาก เนื่องจากเมืองศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ เหล่านั้น ได้รับการออกแบบกฎกติกา เกณฑ์ด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนอย่างมาก
เมืองเหล่านั้น ยังมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาทิ สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทางการเงิน (Wealth Management) ขณะที่ ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่จีนและประเทศอื่นในโลก ทำให้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ เช่น วาณิชธนกิจ (Investment Bank) และ สินเชื่อและบริการเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เป็นต้น
ไทยในมุมมองต่างชาติ
สายตาของต่างชาติ ไทยถูกมองว่ามีจุดแข็งหลายด้าน โดยในมิติของการค้าภายในอาเซียน เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในการรับชำระค่าสินค้าส่งออก และจ่ายเป็นค่าสินค้านำเข้า กับคู่ค้าในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะการค้ากับกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมาร์
นอกจากนี้ พัฒนาการของตลาดการเงินไทยที่มีความเป็นสากล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโลจิสติกส์ที่ดี อีกทั้งยังมีค่าครองชีพที่อยู่ในระดับที่ยังไม่สูงนัก มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและเปิดกว้าง ดังจะเห็นได้จากภาพที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลก
จุดแข็งข้างต้นทั้งด้านโครงสร้างดิจิทัล โลจิสติกส์ ความเป็นเมืองน่าอยู่ และมาตรฐานของสถาบันการเงินไทย ถือเป็นปัจจัยตั้งต้นสำหรับไทยที่ต้องการขยายบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคต
หากต้องการขยายบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการตอบรับจากต่างชาติมากขึ้นกว่านี้ ยังต้องอาศัยการเร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย การสนับสนุนให้มีต่างชาติทักษะสูงเข้ามามากขึ้น การลดภาษีและการผ่อนคลายเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ควบคู่กับการพัฒนาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยประกอบด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการออกกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน พ.ศ….
อ่านบทความอื่น