หลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาคอร์รัปชันได้กลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกร่วมกันลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้านการต่อต้านการทุจริตในระดับนานาชาติฉบับแรก อีกทั้ง กฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้หลายประเทศทั่วโลกร่วมกันยกระดับการป้องกันและปราบปรามทุจริต รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้มีการรวมตัวของหน่วยงานต่อต้านทุจริตในอาเซียน (ASEAN Parties Against Corruption: ASEAN-PAC) เพื่อขับเคลื่อนในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าองค์การระหว่างประเทศจากทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการจัดประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่จากสถิติและผลคะแนนจากดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของหลายประเทศในอาเซียนที่ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ (ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ที่ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก) แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ของคนในภูมิภาคอาเซียนว่าปัญหาคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไขไม่ได้ จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ความร่วมมือและการประชุมในการแก้ไขคอร์รัปชันขององค์การเหล่านี้สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่าง ASEAN-PAC
ผู้เขียนจะขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันระหว่างหน่วยงานต่อต้านทุจริตในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เข้าใจถึงความพยายามและความท้าทายในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค
ที่มาและความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียน
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2004 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศอาเซียน 5 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ร่วมกันลงนามสนธิสัญญาเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อต้านทุจริตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ชื่อ “The Southeast Asia Parties Against Corruption: SEA-PAC” จนกระทั่งใน ค.ศ. 2017 ได้มีการลงนามเพิ่มจนครอบคลุม 10 ประเทศอาเซียน และในค.ศ. 2019 ความร่วมมือดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ASEAN Parties Against Corruption: ASEAN-PAC” สำหรับประเทศไทย องค์กรที่เข้าร่วมคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ASEAN – PAC ก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันระหว่างองค์กรต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในอาเซียน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างหรือยกระดับความสามารถ (increase capacity) และสร้างความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง (institutional building) ในการต่อต้านคอร์รัปชันและปราบปรามทุจริต เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ASEAN – PAC จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนแหล่งความรู้ ความเชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างองค์กรประเทศสมาชิก อีกทั้ง สนับสนุนให้เกิดการประชุม เวทีสนทนา การประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ผ่านการประชุมประจำปีของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียน
การประชุมประจำปีของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียน
ASEAN – PAC ได้มีการจัดประชุมประจำปีของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียนขึ้นครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือและความพยายามในการต่อต้านการทุจริต และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพประเทศให้เป็นไปตามการเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 แห่งองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals)” ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการประชุมดังกล่าวประเทศสมาชิกได้มาแบ่งปันความก้าวหน้าและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
อีกทั้ง ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้แก่ สปป. ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมา ได้การลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ (Memorandum Of Understanding) โดยฉบับแรก เป็นการลงนามระหว่างองค์กร State Inspection Authority (SIA) ของ สปป. ลาว และคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งอินโดนีเซีย (KPK) และอีกฉบับเป็นการลงนามระหว่างองค์กร SIA และหน่วยงานต่อต้านการทุจริตเมียนมา (Anti-Corruption Commission of Myanmar : ACC) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งส่งเสริมการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกได้มีการหารือการปรับปรุง ASEAN-PAC E-Booklet และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ประเทศเจ้าภาพจะจัดขึ้น
เหตุใดความร่วมมือเหล่านี้ถึงไม่เกิดผลบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมในระดับนโยบาย
แม้ว่า ASEAN – PAC ได้ถูกบรรจุเพิ่มเข้าไปอยู่ในกฎบัตรอาเซียน และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเสาหลักอาเซียนในส่วนของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC) แต่ความร่วมมือดังกล่าวไม่สามารถผลักดันให้เกิดนโยบายหรือกฎหมายเหนือชาติ (supranational law) ที่สามารถบังคับใช้กับประเทศสมาชิกได้ เนื่องจาก อาเซียนมีข้อจำกัดในลักษณะรูปแบบของเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล (international governmental organization: IGO) ไม่ได้มีการบูรณาการและพัฒนาข้อตกลงไปสู่การเป็นองค์การเหนือชาติ (supranational organization) และประเทศสมาชิกยังคงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล (intergovernmental relations) ดังนั้น รัฐยังคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของตนเองและเป็นผู้ถือสิทธิขาดในตัดสินใจที่การดำเนินนโยบายของตนเอง
จากข้อจำกัดของการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น ทำให้การเกิดขึ้นหรือมีอยู่ของ ASEAN – PAC อาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภูมิภาคในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ยังคงไม่สามารถขยับขยายให้กลายเป็นนโยบายหรือกฎหมายเหนือชาติในการต่อต้านคอร์รัปชัน อีกทั้ง ภายใต้กฎบัตรหรือเอกสารก่อตั้งองค์การที่ไม่ได้เขียนประเด็นทางสังคมที่ชัดเจน แต่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนถึงเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก ทำให้การบรรจุ ASEAN – PAC เข้าใน ค.ศ. 2017 ก็อาจเป็นเพียงแค่การเพิ่มความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อให้ตอบรับต่อกระแสโลกในช่วงเวลานั้นเท่านั้นก็เป็นได้
ในฐานะพลเมืองอาเซียนจะขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างไร
เนื่องจากการรวมตัวของรัฐเพื่อเป็นองค์การระหว่างประเทศหรือสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติยังไม่สามารถ ขับเคลื่อนหรือออกนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ พลเมืองในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ผ่านการสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) อย่างเข็มแข็ง เมื่อ CSO รวมตัวกันจนกลายเป็นเครือข่ายสามารถขับเคลื่อนผ่านการเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศหันมาสนใจประเด็นปัญหาเหล่านี้มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นการออนโยบายในที่สุด โดยเฉพาะยิ่งการแก้ปัญหาด้านคอร์รัปชัน
ท้ายที่สุด การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่การส่งเสียงให้หน่วยงานภาครัฐในแต่ละประเทศรับรู้และเกิดแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ในปัจจุบันภาคประชาสังคมระหว่างประเทศได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งและมั่นคงมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (Southeast Asian Anti-Corruption Network หรือ SEA – ACN for CSOs) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาล และร่วมมือการขับเคลื่อนประเด็นด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เมื่อผลลัพธ์ของเครือข่ายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ความหวังของประชาชนในการต่อต้าน คอร์รัปชันอาจจะถูกจุดประกายมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นการผลักดันให้เกิดการออกนโยบายที่ปรับใช้ร่วมกันในการแก้ไขและต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคอาเซียนก็เป็นได้
อ้างอิง
- 19th ASEAN Parties Against Corruption Principals’ Meeting, [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]
- ACC Chairman-led delegation attends 19th Principals Meeting of ASEAN Parties Against Corruption, [สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2567]
- Background of ASEAN – PAC , [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]
- Berthold Rittberger, Dirk Leuffen , and Frank Schimmelfennig, Intergovernmentalism, [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]
- CIVIL SOCIETY ORGANIZATIONS (CSOS), [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]
- Iain McLean and Alistair McMillan, OVERVIEW intergovernmentalism, [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]
- การประชุมประจำปีของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 19, [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]
- จิตติภัทร พูนขำ, สหภาพยุโรปแบบไหน? มุมมอง 4 แบบ, [สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2567]