โครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล (Collaboration for Good Governance) ภายใต้งานร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิเพื่อคนไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากการจัดเวที Governance for Sustainable Development Forum ในงาน Good Society Summit 2021 เพื่อกำหนดทิศทางธรรมาภิบาลร่วมกัน
โดยมีผลลัพธ์คือแผนปฏิบัติการกว่า 20 เรื่อง และเกิดความร่วมมือในการพัฒนาธรรมาภิบาล 6 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคการเงินและการธนาคาร ภาคตลาดทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและ Open Data การยกระดับธรรมาภิบาลระบบรัฐสภา ธรรมาภิบาลป่าไม้ และธรรมาภิบาลสื่อบุคคล เป็นต้น โดยมีทีม HAND Social Enterprise ทำหน้าที่เป็น “Catalyst” เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนภาคีเครือข่ายให้นำความร่วมมือไปสู่การปฏิบัติและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการสร้างกลไกธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ที่มีเป้าหมายพัฒนาระบบนิเวศที่เป็นพลังทางสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ในอนาคต
การดำเนินงานโครงการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายที่ต้องการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โดยในปี 2567 ทางโครงการได้พัฒนาแผนงานเพื่อขยายความร่วมมือไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ และเน้นการสร้างความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ในการยกระดับธรรมาภิบาลและสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำหลักธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนโครงการดังนี้
- การสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
- การสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมโดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ
- การสร้างพลังประชาชนในการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่าง ๆ และทำการสื่อสารเกี่ยวกับช่องทางที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุ โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และภาคส่วนที่มีความสามารถในการขยายผลสู้สังคมในวงกว้าง
- การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม และช่วยประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายกับกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund)
หลักธรรมาภิบาลประยุกต์ใช้กับการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างไร
จากโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำเสนอการสร้างเสริมธรรมาภิบาลเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคม ด้วยกลไกการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน (Open) การมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (Join) และการปลูกฝังเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learn) ข้อเสนอกลไกนี้นำไปสู่การศึกษาและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคส่วนต่าง ๆ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานโครงการร้อยพลัง ฯ ที่นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนงาน
ประการแรก การสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) เพื่อความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ด้วยการผลักดันการเปิดเผย 25 ชุดข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงาน DGA สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่ง
ประเทศไทย (TIJ) กรมบัญชีกลาง สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) สำนักงาน ป.ป.ช. และศูนย์ KRAC เป็นต้น การเปิดเผยข้อมูลอย่างมีมาตรฐานนี้จะช่วยให้การทำงานของสื่อในการสืบสวนสอบสวนทำได้ง่ายขึ้น การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน และการสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันย่อมทำให้เกิดความโปร่งใสในสังคม
ประการที่สอง การสร้างพลังประชาชนในการเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่าง ๆ และทำการสื่อสารเกี่ยวกับช่องทางที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุ โดยสนับสนุนการทำงานของเพจต้องแฉ (Must share) พื้นที่ปลอดภัยในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกระบวนการ Crowdsourcing ซึ่งประชาชนร่วมกันส่งข้อสงสัยและข้อมูลให้เครือข่ายภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ สำนักข่าวต่าง ๆ ร่วมกันเผยแพร่สู่สาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานเพื่อผลักดันให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ประชาชนแจ้งเหตุ
ประการที่สาม การสนับสนุนด้านการสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้และมีส่วนร่วม ด้วยการนำองค์ความรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันมาจัดทำสื่อเพื่อนำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ และเผยแพร่ผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่าง ทีม HAND Social Enterprise ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และทีมร้อยพลังสื่อ มูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกันรวบรวมข้อมูลคดีทุจริตของนักการเมืองไทยในช่วงปี 2555-2565 จัดทำสื่อ Infographic สรุปข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนเพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มียอดการแชร์กว่า 101 ครั้ง นอกจากนี้มีการประสานความร่วมมือกับกลุ่มสื่อมวลชนร่วมกันเผยแพร่ประเด็นเพื่อสร้างการรับรู้สู่สังคมในวงกว้าง มีสำนักข่าวร่วมกันนำเสนอประเด็นมากกว่า 15 สำนักข่าว
และประการสุดท้าย การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม โดยการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ธรรมาภิบาลภาคการเงินการธนาคาร ธรรมาภิบาลภาคตลาดทุน ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลป่าไม้ ธรรมาภิบาลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและ Open data ธรรมาภิบาลรัฐสภา ธรรมาภิบาลสื่อบุคคล และธรรมาภิบาลสื่อมวลชน เป็นต้น ให้ภาคีเครือข่ายมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกำหนดเป้าหมาย และกำหนดตัวชี้วัดของแต่ละโครงการ/กิจกรรมด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันของแต่ละภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงองค์กรภาคีเครือข่ายกับแหล่งทุนอย่างกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) ที่ให้การสนับสนุนทุนในการดำเนินงานโครงการด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน
จากแนวทางการดำเนินโครงการที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า รูปแบบการทำงานเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีการนำหลักธรรมาภิบาลไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาแต่ละภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเทียบกับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยมีอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม และมีความซับซ้อนของปัญหา วิธีการแก้ไขย่อมต้องมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การส่งเสริมความร่วมมือและการนำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ในแต่ละภาคส่วนเช่นนี้จะเกิดเป็นระบบนิเวศและขยายเป็นพลังทางสังคมที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้
นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบันผ่านหลักธรรมาภิบาล
นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันในงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566” ซึ่งจัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การมีกฎหมายที่เข้มแข็งและการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม มีประสิทธิภาพและโปร่งใส จะส่งเสริมและสร้างรากฐานของสังคมที่เคารพในกฎหมายร่วมกันขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทยได้ นอกจากนี้รัฐบาลจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้
แม้ว่ารัฐบาลจะมีการประกาศนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างแน่ชัด แต่จนถึงปัจจุบันนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันกลับไม่มีการพูดถึง ไม่มีข้อมูลความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายให้ประชาชนได้รับรู้และติดตามการทำงาน ทำให้องค์กรที่ขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน และประชาชนที่มีความสนใจด้านการตรวจสอบภาครัฐไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ การนำหลักนิติธรรมที่มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เช่น การใช้กฎหมายเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การใช้กฎหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการสามารถร้องเรียนได้ เป็นต้น ผู้เขียนเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่อาจจะไม่ได้ครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันทั้งหมด เนื่องจากปัญหาการคอร์รัปชันในสังคมไทยมีมาอย่างยาวนาน มีความซับซ้อนและมีประเด็นที่หลากหลาย อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่า ภาครัฐควรส่งเสริมนำหลักธรรมาภิบาลด้านอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เช่น นำหลักการมีส่วนร่วมมาใช้ให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยสร้างความร่วมมือทำงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่าย (เครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชัน) และบังคับใช้กฎหมายเพื่อเปิดทางหรืออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรหรือหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รับชันเป็นจำนวนมาก แต่ละองค์กรมีแนวทางการทำงานในแต่ละประเด็นที่แตกต่างกันตามความถนัด หากมีการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันยิ่งเป็นผลดีต่อการสร้างระบบนิเวทเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
สุดท้ายนี้โครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล (Collaboration for Good Governance) อาจจะเป็นหนึ่งตัวอย่างของการทำงานแบบเครือข่ายที่ส่งเสริมและสร้างความร่วมมือด้านธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชันในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยยังมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการขับเคลื่อนนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล จะมีการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพราะปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่การร่วมกันขับเคลื่อนจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบและทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเห็นผลได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง:
- ต่อภัสร์ ยมนาค, ระบบนิเวศการต้านโกง, [สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567]
- Workpointtoday, https://workpointtoday.com/pol-srettha-7/, [สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567]
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), https://www.facebook.com/photo.php?fbid
=612399457594538&set=pb.100064734666539.-2207520000.&type=3 , (สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567)