รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่าละเลยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในเรื่องการปราบปรามและป้องกันการทุนจริต โดยพบข้อความเพียงประโยคเดียวที่ว่า “การป้องกันและขจัดการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วม” ซึ่งถือเป็น “หน้าที่พื้นฐานที่ต้องทำงานร่วมกับประชาชน”
ตัวชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชัน ที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน คือ ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ที่จัดทำโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ซึ่งใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ทำให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและจะมีการประกาศทุกปี เพื่อให้รัฐบาลแต่ละประเทศนำไปปรับปรุงเพื่อใช้ในการบริหารประเทศต่อไป
ดัชนี CPI ประจำปี 2565 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ 90 คะแนนของโลกคือ ประเทศเดนมาร์ก อันดับ 2 ได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ และประเทศนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก
นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า แม้ในปีที่ผ่านมา จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต จนคะแนนดีขึ้น โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต
“แต่ในปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา เช่น พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ความโปร่งใสในการบริหารเงินงบประมาณ การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริต ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
คอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า การทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ “การจัดซื้อจ้างในภาครัฐ” ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาทต่อปี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสูงขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี เป็น 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี จึงสันนิษฐานว่าความเสียหายจากการคอร์รัปชันในจุดนี้น่าจะเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาคอร์รัปชันในเมกะโปรเจ็คหรือโครงการขนาดใหญ่ และปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบายมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เพราะแต่ละครั้งที่เกิดการทุจริตขึ้น จะเกิดจากการลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่มีเป้าหมายจากประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ทำให้โครงการที่ลงทุนไปนั้นไม่คุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากเกิดจากการตัดสินใจที่บิดเบือน
การทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบที่สองคือ “การรับเงินใต้โต๊ะ” มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ทำธุรกิจหรือประชาชนเข้ามาติดต่อขอใบอนุญาตต่าง ๆ แม้ว่าไม่มีงานวิจัยใดบอกได้ว่าความเสียหายอยู่ที่เท่าไร แต่ปัญหานี้กลับส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่ต้องการใบอนุญาตหรือขออนุมัติคำร้องต่าง ๆ จากหน่วยงานราชการ
ดร.มานะ บอกว่า ข่าวดีคือความรุนแรงของปัญหานี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประชาชนมีกล้อง มีโทรศัพท์ ทำให้ประชาชนส่งเสียงร้องเรียนต่อ ๆ กันได้ว่าหน่วยงานราชการใดมีปัญหา ซึ่งทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งหวาดกลัวมากขึ้น
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ทำให้การบริการภาครัฐถูกปฏิรูป นำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้มากขึ้น สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ การนำเว็บไซต์และแอพลิเคชันเข้ามาให้บริการประชาชนผ่านระบบ E-Service
รูปแบบที่สามคือ “ส่วย” เป็นคอร์รัปชันในลักษณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตบทรัพย์ประชาชนหรือผู้ประกอบการตามท้องถนน เช่น ส่วยร้านค้า ส่วยจราจร ส่วยทางหลวง ส่วยเทศกิจ
แต่ ดร.มานะตั้งข้อสังเกตว่า ส่วยและสินบทต่างปรับรูปแบบจาก “กินแหลกไม่เลือก” เป็น “กินก้อนใหญ่” กล่าวคือ ข้าราชการหาช่องรับเงินจากภาคธุรกิจหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางกฎหมาย และลดการรีดไถจากประชาชนทั่วไปลง
“การกินก้อนใหญ่จากภาคธุรกิจเป็นเงินที่ทั้งผู้จ่ายและผู้รับต่างสมประโยชน์กันและกัน จึงค่อนข้างแน่ใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดไม่เสี่ยงถูกเปิดโปงภายหลัง เรื่องนี้มีงานวิจัยจากศาตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรที่ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ยืนยันจุดนี้”
อีกประเด็นหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองพูดถึงกันอย่างมาก คือ ใบอนุญาตที่มีมากเกินไป เอื้อให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจที่เสี่ยงต่อการรับสินบน และเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจผู้ประกอบการในหลายๆ ด้าน ดร.มานะเห็นด้วยว่าใบอนุญาตในไทยมีจำนวนมากจริง แต่ก็เห็นถึงความพยายามของหน่วยงานราชการที่ใช้ระบบ E-Service ให้บริการประชาชน ซึ่งบางเรื่องใช้เวลาเดินเรื่องไม่ถึงวัน
ถึงแม้ว่ามี พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ เป็นตัวตั้งต้น ตามมาด้วยพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีหลายวาระที่ต้องการปฏิรูประบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
ดร.มานะ บอกว่า ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบที่กระทรวงและกรมต่าง ๆ กำหนดไว้ ซึ่งทำให้เห็นว่าหลายหน่วยงานไม่ได้ใส่ใจปรับตัวหรือปฏิรูประบบการทำงานของตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน หรือทำให้เกิดการความโปร่งใสในขั้นตอนการอนุมัติมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
รูปแบบที่สี่ของการทุจริต คือ “การซื้อขายตำแหน่ง” เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายโดยใช้ระบบคุณธรรมยังไม่ถูกนำมาใช้ในไทย ถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 แต่ปัญหาได้คนทำงานไม่มีความสามารถมาทำงานเพราะใช้เงินวิ่งเต้น กลายเป็นประเด็นเล็กน้อยไปเลย เมื่อเทียบกับประเด็นที่ว่าปัญหานี้กำลังทำลายระบบคุณธรรรมในระบบราชการลงอย่างสิ้นเชิง
“กลายเป็นว่าพวกเขาจะเรียนรู้ถึงวิธีการวิ่งเต้น การเอาใจเจ้านาย การใช้ประโยชน์จากระบบเส้นสาย และใช้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน”
การซื้อขายตำแหน่งนำไปสู่การทุจริตรูปแบบที่ห้า คือ “การคอร์รัปชันเพื่อสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ควบคุมยาก และไม่สามารถวัดความเสียหายเป็นจำนวนเงินได้ เนื่องจากยากมากต่อการตรวจสอบ
แต่ปัญหาคอร์รัปชันไม่เพียงแต่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการบริหารงานภาครัฐเท่านั้น ดร.มานะ มองว่ายังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคธุรกิจไทย และกระทบต่อขีความสามารถในการแข่งขัน
“จึงไม่น่าแปลกไจที่การลงทุนจากต่างประเทศไหลไปยังประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันน้อยกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม”
พรรคการเมืองชูนโยบายแก้ไข สะท้อนว่ามองเห็นปัญหา
ไทยพีบีเอส ทำการสำรวจนโยบายของพรรคการเมือง พบว่า ในช่วงการหาเสียง มีพรรคการเมืองอยู่ 4 พรรคที่มีนโยบายเกี่ยวกับรัฐดิจิทัล ฉับไว ทันสมัย ได้แก่ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เปลี่ยนจากรัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน สร้าง One Stop Service สำหรับการให้บริการภาครัฐ การขออนุญาต อนุมัติต่างๆ จะต้องง่าย สะดวก อยู่ในแพลตฟอร์มเดียว ลดดุลพินิจเจ้าหน้าที่ เพื่อลดโอกาสการคอร์รัปชัน เพราะกำหนดระยะเวลาการอนุมัติแน่นอน ตัดปัญหาการเตะถ่วง และปิดช่องการเรียกเก็บค่าอนุมัติ ซึ่งทางเพื่อไทยได้บรรจุนโยบายนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล
ด้านพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้ยกเลิกใบอนุญาตร้อยละ 50 ของใบอนุญาตที่มีอยู่ในปัจจุบัน รู้ผลใบอนุญาตภายใน 15 วัน และสามารถใช้บริการของภาครัฐได้ทุกบริการผ่านมือถือ โดยมีขั้นตอนการติดตามเรื่องชัดเจน
พรรคชาติพัฒนากล้าขายนโยบาย All Service Center หรือ ราชการ 1 คำขอ จบที่เดียว วิธีการทำงานของระบบนี้คือกระจายคำขอต่างๆ ไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเรื่องด้วยแทรคกิ้งนัมเบอร์ (Tracking number) ซึ่งรวดเร็ว สามารถป้องกันการทุจริต ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจ ขณะที่พรรคใหม่เสนอนโยบายนำเทคโนโลยีมาทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐ
สำหรับนโยบายเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันในระบบราชการ พบว่ามีอย่างน้อย 4 พรรค ที่เสนอนโยบายดังกล่าว ได้แก่ พรรคก้าวไกลและพรรคไทยสร้างไทยที่เสนอให้ให้ใช้ AI ต้านโกง ขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้าที่เสนอสร้างแพลตฟอร์มตรวจสอบนโยบายภาครัฐ
ก้าวไกลยังเสนอให้ส่งตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูง เพื่อดักทางการทุจริต ที่มาขององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ต้องมาจากยึดโยงกับประชาชน เพื่อเพิ่มดุลการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ พร้อมกับกำหนดให้เปิดเผยงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน เพื่อความโปร่งใส
นโยบายนี้สอดคล้องกับพรรคชาติพัฒนากล้าที่เสนอนโยบายเรื่องงบโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องการสร้างรัฐบาลดิจิทัล ด้วยความเชื่อว่าเป็นระบบที่สร้างความโปร่งใส ง่ายต่อการตรวจสอบ
จากนโยบายของพรรคการเมืองจะเห็นได้ว่าหลายพรรคมองตรงกันว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แต่จะสามารถแปรเป็นนโยบายรัฐบาลและนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่นั้น นับเป็นเรื่องท้าทายอันยิ่งใหญ่ของสังคมไทย